NielsenIQ เผยผู้บริโภคไทยสถานะทางการเงินแย่ลงต่อเนื่อง เลือกตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เกือบ 90% พร้อมเปิดใจลองซื้อ ลองใช้สินค้าแบรนด์ใหม่ กลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ต้องตอบโจทย์คุณภาพ การลดราคาเชิงกลยุทธ์ ร้านโชห่วย ยังเป็นหลักมูลค่าการซื้อขายของร้านค้าปลีก

ตลาด FMCG ผู้บริโภคไทยต้องรัดเข็มขัด

ช่างเลือกขึ้น Brand loyalty ฮวบ

ผู้บริโภคไทยที่ยอมรับว่าสถานะทางการเงินแย่ลง ม.ค. 2023, 39%

ก.ค. 2023, 45%

ม.ค. 2024, 48%

ผู้บริโภคไทยที่สนใจและเปิดรับในการลองซื้อ / ใช้สินค้าแบรนด์ใหม่ ๆ ในกลุ่ม FMCG 2019 (ก่อนโควิด-19), 76%

2024, 89%

มูลค่าตลาด FMCG ในไทย ม.ค. – พ.ค. 2024

เติบโต 6%

สัดส่วนมูลค่าการซื้อขาย FMCG ในร้านค้าปลีก 470,000 ร้าน ทั่วไทย

ร้านโชห่วย 40%, ร้านสะดวกซื้อ 35%, ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต 25%

ที่มา: NielsenIQ สอบถามผู้บริโภคไทย 1,200 คน แบบตัวต่อตัว, มิ.ย. 2024

 

คุณชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) กล่าวว่า ‘NielsenIQ’ บริษัทวิจัยผู้บริโภค เผยแพร่รายงาน ‘Thai Shopper Trends 2024’ ฐานสำรวจผู้บริโภคไทยแบบตัวต่อตัว 1,200 คน มุ่งไปที่การสอบถาม ความกังวลของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในประเทศไทย ช่วงปีหลังของปี 2024

พบว่า ‘ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น’ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคไทยกังวลมากที่สุด ทั้งในด้านสาธารณูปโภคและค่าอาหาร โดยรายงานเผยว่าต้นทุนของอาหารได้พุ่งสูงขึ้นจาก 27% ในเดือน ก.ค. 2023 เป็น 30% ในเดือน ม.ค. 2024

การที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าสถานะทางการเงินแย่ลง และยังต้องรับมือกับความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและของฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งแรกที่ตั้งใจจะทำมากขึ้นในปี 2024 ตามมาด้วยการซื้อสินค้าในปริมาณที่ลดลง และการซื้อสินค้าตอนที่มีการลดราคา

ด้าน พฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการร้านค้าประเภทโชห่วย, ร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต ถึงแม้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องราคาและส่วนลดสินค้ามากขึ้น แต่ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกร้านค้าที่จะไปใช้บริการก็ยังคงมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ได้แก่

ร้านค้าที่มีการจัดเรียงสินค้าที่ดีและบรรยากาศที่น่าเดิน (96% ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญ), การให้บริการจากพนักงานภายในร้าน (92%), เลือกที่คุณภาพสินค้ามากกว่าราคา (90%), ซื้อสินค้าที่มีส่วนลดพิเศษก่อน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (86%), ไปร้านที่ให้ราคาต่ำที่สุดสำหรับสินค้าที่ตั้งใจจะซื้อ (79%)

การปรับตัวของภาคธุรกิจ หลังความจงรักภักดีต่อทั้งแบรนด์และร้านค้าของผู้บริโภคไทยนั้นลดลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2019 เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับแบรนด์เพื่อจัดทำโปรโมชั่น หรือการมีส่วนลดพิเศษภายในร้านนั้นก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านค้า และเลือกยี่ห้อสินค้านั้น ๆ

การนำสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ หรือยี่ห้อใหม่ ๆ เข้ามาขายในร้านค้าของเราก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดี เพราะเกือบ 90% ของผู้บริโภคไทยนั้นเปิดรับกับการลองซื้อและใช้สินค้าหรือแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เข้ามา โดยเฉพาะสินค้าเประเภทดูแลตัวเอง และอาหารหลัก, น้ำมัน, ซอส

โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) จะต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ เพราะมีเพียง 19% ของผู้ซื้อในปี 2023 ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะซื้อสินค้าเดิม ๆ และสัดส่วนยอดขาย 80% ของตลาด FMCG ในไทย มาร์เก็ตแชร์กระจายตัวรวมถึง 35 แบรนด์ สะท้อนถึงการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับผู้บริโภค

คุณชินตา กล่าวปิดท้ายก่อนชวนมาพบกันในงานสัมมนาครั้งใหญ่โดย นีลเส็นไอคิว โกลบอล วันที่ 25 มิ.ย. 2024 เวลา 13.00 น. “สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภค”

“การคำนึงถึงความสามารถในการซื้อ คุณภาพ และการลดราคาเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถสนับสนุนผู้ซื้อได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้ และสามารถรับประกันถึงการมีส่วนร่วมของผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง”



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online