แม้ธุรกิจตู้เวนดิ้ง แมชชีน (Vending Machine) ในไทยจะมีมาอย่างยาวนานแล้ว แต่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบาย ง่าย รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นหน้าใหม่ให้ความสนใจตบเท้าลงสนาม ท้าชิงส่วนแบ่งตลาดต่อเนื่อง แต่ชื่อหนึ่งที่รั้งตำแหน่งแชมป์มาตลอดสองทศวรรษ คือ ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี

ตลาดตู้เวนดิ้ง แมชชีน มูลค่าราว 2-3 พันล้านบาท มีผู้เล่นในตลาด 4-5 ราย แต่ชื่อที่ครองส่วนแบ่งตลาดมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ซันเวนดิ้ง มีจำนวนตู้ในตลาดรวม 16,000 ตู้ ขณะที่เบอร์รองมีจำนวน 10,000 ตู้

คุณพิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซันเวนดิ้งดำเนินธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีนในไทยมา 20 ปี ครองมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 65% แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขัน ทำให้สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ลดลงเหลือ 45% แต่บริษัทยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด แม้ไม่เติบโตหวือหวา แต่ไม่เคยสะดุด

การกระโดดมาทำตู้เวนดิ้ง แมชชีน สำหรับชงเครื่องดื่ม ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับซันเวนดิ้ง เนื่องจากเดิมบริษัทมีตู้ชงเครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอซึ่งทำตลาดมานานกว่า 20 ปีอยู่แล้ว แต่เป็นตู้ที่เน้นจับกลุ่มตลาดแมส สำหรับลูกค้าพนักงานในโรงงานที่ต้องการความรวดเร็วมากกว่า

“บริษัทอยู่ในเซกเมนต์แมสมาโดยตลอด แต่เมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ การเติบโตของกลุ่มตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติระดับพรีเมียมที่ขยับตัวต่อเนื่อง ซึ่งมองว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงลงเล่นในเซกเมนต์นี้ ประกอบกับตู้ชงเครื่องดื่มสร้าง margin ได้ครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งดีกว่าตู้ Convenience Vending Machine ที่อยู่ราว 30%”

 

ช้าแต่ชัวร์

แม้บริษัทอาจไม่ได้เติบโตหวือหวาดังเช่นคู่แข่งเจ้าอื่นในตลาด แต่รักษาการเติบโตไว้ได้อย่างเสถียร ไม่สะดุด ยังคงขยายจุดวางอย่างต่อเนื่อง แม้การขยายจะช้าเพราะให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าและทำเลที่ถูกต้องจนกว่าจะมั่นใจ ทำให้ทุกโลเคชันที่ไปประสบความสำเร็จเสมอ

สำหรับ “MILKIE WAY” จะขยับขึ้นมาในระดับพรีเมียม จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมแมส ที่ต้องการเครื่องดื่มสมัยใหม่อันเป็นที่นิยมของคนเจเนอเรชันปัจจุบัน ทั้งเมนูกาแฟ ปั่น โซดา ราคาจะอยู่ในช่วงระดับ 45-50 บาท

แต่เครื่อง MILKIE WAY ที่นำมาโชว์ภายในงานยังเป็นโมเดลทดลองที่ยังไม่สมบูรณ์ ความแม่นยำยังไม่เต็ม 100% อยู่ในขั้นตอนเก็บรวบรวม Data พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จากที่สังเกตในการสาธิต เครื่องใช้เวลา 3 นาทีกว่า ในการผลิตเครื่องดื่ม 1 แก้ว และเมื่อครบ 20 แก้ว เครื่องจะรันเป็นรอบใหม่เพื่อหยุดเติมน้ำแข็ง 10 นาที แต่เครื่องดื่มที่ได้กลุ่มเมนูปั่น สมูทตี้มีความละเอียดไม่ต่างจากเครื่องดื่มในคาเฟ่

กระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติธรรมดา ทำให้ต้นทุนสูงกว่า อยู่ที่ราว 300,000 บาทต่อเครื่อง แต่สำหรับตู้ชงธรรมดาอยู่ที่ราว 100,000 บาท

คาดว่า “MILKIE WAY” จะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2568



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online