รณรงค์ต่อเนื่องกันมานานสำหรับแคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทั้งในรูปแบบกิจกรรมตามชุมชนทั่วประเทศ และรูปแบบคลิปวิดีโอที่กระจายตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะคลิปที่กลายเป็นไวรัลเมื่อปี 2548 กับ Copy ที่ติดหูในประโยคที่ว่า “จน เครียด กินเหล้า”

ในวาระครบรอบ 15 ปี ของแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา Marketeer เลยรวบรวมคลิปเด็ดในดวงใจที่สามารถสร้างอิมแพ็คต่อคนดูได้มากที่สุด มาให้ได้ชมกัน

พ.ศ. 2546

หนังโฆษณารณรงค์แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาตัวแรก ที่เล่นกับอารมณ์คนดู ด้วยฉากเดียวคือน้ำตาของคนเป็นแม่

ตามมาติดๆ กับหนังโฆษณาชุด “โทรศัพท์จากพ่อ” ที่หลังจากดูจบแล้ว รู้สึกจุกในใจขึ้นมาทันที

พ.ศ. 2548

ในยุคนั้น ไม่มีใครไม่รู้จัก Copy นี้ “จน เครียด กินเหล้า” เป็นความสำเร็จที่ค่อนข้างชัดเจนของแคมเปญ งดเหล้าเข้าพรรษา และเป็นจุดทำให้คนไทยหันมาฉุกคิดถึงวงเวียนที่ว่านี้

พ.ศ. 2551

เป็นปีสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติของทุกๆ ปี จากการผลักดันของภาคีเครือข่ายเพื่อนำเสนอเรื่องการกำหนดวันงดดื่มสุราแห่งชาติเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐบาล

และ สสส. ได้สร้างแนวคิดใหม่ในการรณรงค์ ด้วยการเผยแพร่สปอตชุด “ลูกพี่” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาต่อต้านการชวนดื่ม

สปอตชุดที่สอง คือ “พ่อลูก” ซึ่งเป็นการให้กำลังใจผู้ที่งดดื่มเหล้าเข้าพรรษา ให้งดต่อจนตลอดเข้าพรรษา จนกระทั่งถือโอกาสเลิกดื่มเหล้าต่อไป

พ.ศ. 2553

ปีนี้ สสส.ได้วิเคราะห์สถานการณ์และเล็งเห็นว่า กลุ่มนักดื่มที่มีความตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษาจะเอาชนะตนเองและสามารถงดเหล้าเข้าพรรษาได้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งในการงดหรือลดการดื่มนั้นสามารถทำให้ชีวิตและครอบครัวของผู้ดื่มดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การมีเงินเก็บออม ความรุนแรงในครอบครัวลดลง สุขภาพที่ดี จึงใช้ผลของการดื่มเหล้าที่ว่า “ยิ่งดื่มยิ่งแย่..!” สื่อสารผ่านสปอตโฆษณาชุด “กินเหล้า = กินแรง”

พ.ศ. 2555

ปีพุทธชยันตี ที่ชาวพุทธหันมาถือศีล 5 มากขึ้น สสส. เลือกใช้เมสเสจตรงไปตรงมาอย่าง สปอตโฆษณาชุด “บาป” เพื่อสื่อสารว่า การดื่มเหล้าคือการผิดศีลข้อ 5 นั่นเอง

 ตามมาด้วยสปอตชุด “ดอกบัว” ที่สื่อให้เห็นว่า คนที่ข่มใจ อดทนอดกลั้นจากการดื่มเหล้าได้ เปรียบได้กับบัวพ้นน้ำ

พ.ศ. 2557

ปีนี้ สสส. หันมาให้ความสำคัญกับการงดเหล้าได้ครบพรรษา และมองเห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มคนที่ตั้งใจจะงดเหล้าคือคนรอบข้าง จึงเป็นการนำเสนอไอเดียที่ว่า กำลังใจจากคนรอบข้างช่วยให้งดเหล้าได้ครบพรรษา

สปอตโฆษณาชุด “ครอบครัวช่วยงดเหล้า”

สปอตโฆษณาชุด “กราบ”

สปอตโฆษณาชุด “แม่ช่วยงดเหล้า”

พ.ศ. 2558

สปอตโฆษณาชุด “พ่อใหม่” ยังคงใช้กำลังใจจากคนในครอบครัว เป็นแรงผลักดันช่วยให้คนงดเหล้าได้ครบพรรษา

พ.ศ. 2559

ปีแรกของการใช้ข้อความสื่อสาร “พักตับ” โดยชี้ให้ตระหนักถึงสุขภาพของผู้ดื่ม และอวัยวะ “ตับ” ที่รับภาระหนักในการกำจัดของเสียที่เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ พร้อมชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ตับเป็นอวัยวะพิเศษที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ หากงดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน

สปอตโฆษณาชุด “พักตับ รับอรุณ”

พ.ศ. 2560 ปัจจุบัน

ยังคงใช้ข้อความ “พักตับ” อยู่เช่นเดิม แต่ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการดื่มเหล้านั้นเหมือนกับการที่ตับของเราต่อสู้กับสารพิษจากแอลกอฮอล์ เข้าพรรษานี้ ถึงเวลาให้ตับได้ฟื้นฟู ด้วยสปอตชุด “พักตับ พักยก”

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ทุกข้อความทุกการสื่อสารของแคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ในทุกมิติ มีการปรับเปลี่ยนลักษณะข้อความไปตามเทรนด์ อย่างช่วงแรกๆ สปอตโฆษณาจะเล่นกับอารมณ์คนดูโดยตรง จากนั้นเลือกใช้อิทธิพลจากคนรอบข้างเป็นตัวช่วย และล่าสุดกับข้อความ “พักตับ” ที่เปลี่ยนตามเทรนด์ของคนไทยที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ดังนั้น กระบวนการทำงานของ สสส. จึงค่อนข้างคล้ายกับ Marketing สินค้าแบรนด์ต่างๆ เพียงแต่สินค้าที่ สสส. ขายนั้นไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นสุขภาพของคนไทยและสังคมไทยที่ดีขึ้นนั่นเอง

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online