ธนาคารกสิกรไทย เปิดเวที “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” คาดปีนี้โต 3.8% ปัจจัยลบยังคงเป็น ‘สงครามการค้า’ เศรษฐกิจจีนชะลอกระทบภาคเศรษฐกิจไทย เชื่อไทยมีจุดแข็งภาคเอกชน ท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของสินค้าเกษตร แนะเอกชนจัดการความเสี่ยงค่าเงิน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งประเด็น Brexit และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ส่งผลให้ทั้งสองประเทศตั้งกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ดังนั้น ปัจจัยหลักคือ ‘เศรษฐกิจจีน’ ที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าจีนชะลอตัวลงจาก ‘มาตรการกีดกันการค้า’ ของประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.วิรไทมองว่า ในภาพรวมระดับโลกมี 2 ประเด็นที่ต้องจับตาภายในปีนี้ ได้แก่ (1) มาตรการกีดกันการค้า ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้โดยตรง (2) Brexit แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ประเด็น Brexit จะส่งผลต่อตลาดการเงินโลก ทำให้ค่าเงินผันผวน ราคาหุ้น เงินตราทุนโลกผันผวนยิ่งขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจในประเทศไทย มีปัจจัยลบที่สำคัญคือเรื่อง ‘ค่าเงินบาทที่แข็งตัว’ ส่งผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัวลง ธุรกิจที่มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจึงได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

ดร.วิรไทแนะนำว่า การจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับการรับมือเศรษฐกิจภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 4% และคาดว่าจะเติบโต 3.8% ปี 2562 สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

แต่ประเด็นสำคัญคือแม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีหรือมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยประเด็นนี้ ดร.วิรไทมองว่า ประชากรกลุ่มใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรในชนบทต้องเผชิญกับ ‘ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ’ ดังนั้นกำลังซื้อจึงหดตัวจากรายได้ที่ลดลงสินค้าเกษตรที่ตกลง

อีกทั้ง ‘หนี้ครัวเรือน’ ของไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงสิบปีจากหลายปัจจัย เกิดเป็นหนี้ครัวเรือนสะสมมาต่อเนื่อง แม้ว่ารายได้ของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มเป็นรายได้ส่วนเกิน ดังนั้น คนจึงต้องนำรายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายซึ่งก็คือหนี้ครัวเรือน

สำหรับปัจจัยบวกของภาพรวมเศรษฐกิจไทย ดร.วิรไทให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งคือการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งยังมีภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแรงและเติบโตต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ตลอดจนปัจจัยการเมืองภายในประเทศอย่างการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศไทย

ดร.วิรไทกล่าวถึงภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับประโยชน์หลังการเลือกตั้งโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ภาคเกษตรกรรม กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ เนื่องจากมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเกษตร และโอกาสที่ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น (2) กลุ่มที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และสุดท้าย (3) กลุ่มการท่องเที่ยว

ดร.วิรไทกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบจาก Trade War เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกจากไทยโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่ามีผลกระทบต่อกำไรของสินค้าในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นกลุ่มโรงพยาบาล (Healthcare) จะได้ประโยชน์จากสภาพสังคมสูงวัย ทำให้รายได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง


Marketeer FYI

ปัจจัยเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยบวก

– อัตราดอกเบี้ยที่เริ่มชะลอตัว

– ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ปัจจัยลบ

– ข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ

– เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว

– เศรษฐกิจจีนชะลอตัว
– Brexit

 

ปี 62 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยอะไรบ้าง?

ปัจจัยบวก

– ภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง

– ราคาสินค้าเกษตรเริ่มผ่านจุดต่ำสุด

– การเลือกตั้ง

ปัจจัยลบ

– เงินบาทแข็งค่า

– การส่งออกชะลอตัว



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online