แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เปิดผลการประเมินประจำปี 62 ตามเกณฑ์ Fair Finance International 12 หมวด เผยคะแนนสูงสุด 5 ธนาคาร ได้แก่ กสิกรไทย (17.5%) ไทยพาณิชย์  (14.7) กรุงไทย (14.2%) กรุงศรีอยุธยา (13.5%) และธนาคารทิสโก้ (11.7%) แต่ค่าเฉลี่ยทั้งหมด 9 ธนาคารได้คะแนนเพียง 12.62% ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 46.86% จุดอ่อนคือสิ่งแวดล้อม

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เปิดเผยว่า Fair Finance Thailand (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561) ได้ทำการศึกษาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่อประเมินว่า ‘ธนาคารไทย’ ทำอะไรในประเด็นใด และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ซึ่ง Fair Finance เป็นตัวชี้วัดสำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคม ปัจจุบันดำเนินงานอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 10

สฤณีกล่าวอีกว่า Fair Finance Thailand ทำงานในฐานะคนนอก ซึ่งไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคารในแต่ละแห่ง

ดังนั้น ข้อมูลใช้ในการประเมินจึงเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลัก ได้แก่ เอกสารสถาบันการเงินเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 อาทิ รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน แบบฟอร์ม 56-1 (รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์) ข้อมูลหรือเอกสารบนเว็บไซต์ แถลงการณ์ต่อสาธารณะ จดหมายข่าว ฯลฯ

โดยธนาคารที่อยู่ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน มีจุดประสงค์หลักเพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคารต่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ และผู้บริโภค และผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (Sustainable Banking)

ทั้ง 9 แห่ง ได้คะแนนรวม ดังนี้ ธนาคารกสิกรไทย 17.5% ธนาคารไทยพาณิชย์ 14.7% ธนาคารกรุงไทย 14.2% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 13.5% ธนาคารทิสโก้ 11.7% ธนาคารกรุงเทพ 11.52% ธนาคารเกียรตินาคิน 10.83% ธนาคารธนชาต 10.1% และธนาคารทหารไทย 9.54%

ทั้งนี้ การคิดคะแนนจะยึดตามมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องใน 12 หัวข้อ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การทุจริตคอร์รัปชั่น (3) ความเท่าเทียมทางเพศ (4) สิทธิมนุษยชน (5) สิทธิแรงงาน (6) ธรรมชาติ (7) ภาษี (8) อาวุธ (9) การคุ้มครองผู้บริโภค (10) การขยายบริการทางการเงิน (11) การตอบแทน และ (12) ความโปร่งใสและความรับผิด

ตัวอย่างเช่น หากธนาคารให้สินเชื่อกับธุรกิจที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเท่าที่ควร คะแนนในส่วนนี้ก็อาจลดหลั่นลงมา

สฤณีกล่าวอีกว่า การให้คะแนนตามแนวทางของ Fair Finance จะนับจากนโยบายที่ประกาศสาธารณะเท่านั้น หากนโยบายใดที่ธนาคารอาจได้ทำจริงแต่ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะจะไม่ได้นำมาคำนวณคะแนน

สฤณีกล่าวอีกว่า มีเพียง 2 ธนาคารคือ กสิกรไทยและไทยพาณิชย์ ที่มี ‘นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ อีกทั้งยังไม่มีธนาคารใดที่อยู่ในการประเมินหัวข้อธรรมชาติ

ในด้าน ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ มีเพียงธนาคารกรุงเทพและเกียรตินาคินที่ได้คะแนนเนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจน ส่วนด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ มี 2 ธนาคารที่ได้คะแนน ได้แก่ กสิกรไทยและไทยพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำคะแนนของธนาคารไทยไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล พบว่า ค่าเฉลี่ยจาก 9 ธนาคารไทย ได้คะแนนเพียง 12.62% ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 46.86%

สฤณีชี้ให้เห็นว่า ธนาคารไทยมีจุดอ่อนเรื่องการออกนโยบายที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เห็นได้ว่าไม่มีธนาคารใดที่กำหนดนโยบายสินเชื่อเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแต่การได้คะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็สะท้อนว่าธนาคารไทยมีจุดที่สามารถพัฒนาให้ยั่งยืนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี สฤณีกล่าวอีกว่า สิ่งที่ธนาคารไทยทำได้ดีคือ การขยายบริการให้กับ SME เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเข้าถึงเงินกู้ สร้างธุรกิจของตัวเองได้ แต่ความท้าทายต่อไปคือเงินกู้ขนาดจิ๋ว (Micro Loan) ที่จะต้องส่งเสริมให้แม่ค้าตลาดนัด หรือรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้คุณภาพให้เข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ


Marketeer FYI

คะแนนธนาคารพาณิชย์ไทย

กสิกรไทย 17.5%

ไทยพาณิชย์ 14.7%

กรุงไทย 14.2%

กรุงศรีอยุธยา 13.5%

ทิสโก้ 11.7%

กรุงเทพ 11.52%

เกียรตินาคิน 10.83%

ธนชาต 10.1%

ทหารไทย 9.54%


หมวดที่ได้คะแนนได้สูงสุด vs ต่ำสุด

สูงสุด

  • การขยายบริการทางการเงิน 49.3%
  • การทุจริตคอร์รัปชั่น 41.7%
  • การคุ้มครองผู้บริโภค 34.2%

ต่ำสุด

  • ธรรมชาติ 0%
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1.2%
  • ความเท่าเทียมทางเพศ 1.5%

 


Marketeer FYI

Fair Finance Thailand (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เว็บไซต์ www.fairfinancethailand.org) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 สมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย ป่าสาละ จำกัด และองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่มีความสนใจร่วมกับในการติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (Sustainable Banking) ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรก

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online