ธุรกิจจัดประกวดนางงาม วิเคราะห์เบื้องลึก เบื้องหลัง ช่องทางหารายได้ที่มีมากกว่าสปอนเซอร์
การจัดประกวดนางงามอยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ในนามของเวทีนางสาวสยาม ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นนางสาวไทยอย่างที่เราคุ้นหูกัน
จนในเวลาต่อมาก็มีเวทีประกวดนางงามเกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Miss Thailand World, Miss Thailand Universe ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Miss Universe Thailand
หรือกับเวทีที่มีอายุน้อยสุดอย่าง Miss Grand ที่แม้จะมาทีหลังแต่ก็ดังได้ด้วยการแนะนำตัวเองของเหล่าสาวงาม
‘นางสาวไทย’ เก่าแก่ แต่เงียบหายไปเพราะไม่มีเวทีระดับโลกมารองรับ
ด้วยความเป็นเวทีที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2477 การประกวดนางสาวไทยในอดีตจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองเป็นหลัก
หากบ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต การประกวดในช่วงปีนั้นต้องยุติลง แต่หากที่บ้านเมืองกลับมาฟื้นฟูสภาพ เวทีนางสาวไทยจึงเป็นอีกหนึ่งการเฉลิมฉลองที่สะท้อนความสงบสุขของประเทศ
จุดเปลี่ยนสำคัญของเวทีนางสาวไทยคือการที่ ชาติเชื้อ กรรณสูต นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ ที่พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7
และเป็นพี่ชายของ คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนการจัดประกวดนางสาวไทยครั้งใหญ่ โดยนั่นเป็นครั้งแรกที่นางสาวไทยจะได้มีโอกาสไปประกวดเวทีระดับโลกอย่าง Miss Universe
กระทั่งเกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของชื่อนางสาวไทย โดยชื่อของนางสาวไทยเป็นของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ แต่สิทธิ์การส่งนางงามไปประกวดในเวที Miss Universe เป็นของช่อง 7
นับจากนั้นเราจึงได้เห็นคุณแดงออกมาทำ Miss Universe Thailand (ในอดีตใช้ชื่อว่า Miss Thailand Universe) เอง และการไม่ได้ไปต่อในเวทีจักรวาลนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชื่อของเวทีนางสาวไทยเงียบเหงากว่าที่ผ่านมา
TPN คว้าสิทธิ์จัด Miss Universe Thailand 5 ปีติด
ปัจจุบันสิทธิ์การจัดประกวด Miss Universe Thailand เป็นของ บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ซึ่งเป็นรายเดียวกับที่จัด Miss Universe ที่ไทยเป็นเจ้าภาพไปเมื่อปีก่อน
ซึ่งดีลในครั้งนี้ TPN ได้รับสิทธิ์นานถึง 5 ปีรวด ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2566 โดย ปิยาภรณ์ แสนโกศิก หรือปุ้ย ซึ่งเป็นอักษร P ในชื่อของบริษัทได้บอกกับ Marketeer ว่าการจัดประกวด Miss Universe Thailand ในครั้งนี้ใช้งบลงทุนราว 30 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ครอบคลุมตั้งแต่การแถลงข่าว การเปิดตัว ไปจนถึงวันตัดสินที่สวมมงกุฎ
โดยขณะที่ไทยจัดประกวด ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศอื่นจัดประกวดด้วยเช่นกัน เพื่อที่แต่ละประเทศจะได้มีเวลาประมาณ 4-5 เดือนในการเตรียมนางงามของตัวเองไปสู่เวทีระดับโลก
และ PPTV คือช่องที่ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการประกวดในครั้งนี้
หลังชวด Miss Universe ทาง TW Pageants ก็เป็นผู้จัดประกวดนางสาวไทยและ Miss World แทน
ก่อนหน้านี้ TW Pageants คือผู้มีสิทธิ์ในการจัดประกวด Miss Universe Thailand แต่ด้วยปัญหาภายในต่างๆ จนทำให้เกิดดราม่าอย่างที่เห็นตามข่าว
ณ ปัจจุบัน TW Pageants จึงได้ขยับมาเป็นผู้จัดการประกวดนางสาวไทย โดยได้รับสิทธิ์นาน 5 ปี
อีกทั้งยังเป็นผู้จัด Miss World 2019 ในไทยอีกด้วย ส่วน Miss Thailand World ก็ยังคงมี BEC TERO เป็นผู้จัดต่อไป
ธุรกิจจัดประกวดนางงาม
ความงามที่นำพามาซึ่งรายได้
นอกจากความสุขที่ทำให้ผู้คนได้ดูสิ่งสวยงาม และการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ อีกสิ่งที่ทำให้การประกวดนางงามอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปีได้ ก็เพราะช่องทางของรายได้ที่มีมากกว่าแค่ค่าสปอนเซอร์ที่ทางผู้จัดจะได้รับนั่นเอง
เพราะไม่ใช่แค่ค่าสปอนเซอร์ ค่าโฆษณา หรือค่าบัตรเข้าชมการประกวดเท่านั้น แต่ทางผู้จัดก็จะได้รับสิทธิ์เป็นต้นสังกัดให้กับเหล่านางงาม เปรียบเหมือนกับค่ายเพลงและศิลปิน ที่ทางต้นสังกัดจะได้รับส่วนต่างเวลานางงามไปออกงาน ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือถ่ายโฆษณาอีกด้วย
และหากนางงามได้คว้ามงกุฎระดับโลกมาครอบครอง ก็จะส่งผลต่อชื่อเสียงที่ดังมากขึ้น และก็เป็นธรรมดาที่ค่าตัวจะแพงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
ค่านิยมของนางงามไทยที่เปลี่ยนไปจากอดีต
ไม่ใช่แค่ความสวยของผู้หญิง แต่เวทีนางงามยังได้สะท้อนค่านิยมของผู้หญิงไทยที่เปลี่ยนไป จากในอดีตที่ต้องเป็นผู้หญิงหวาน เรียบร้อย จนกลายมาเป็นคำพูดที่ติดหูว่า ‘นางงามต้องรักเด็ก’
ต่างจากนางงามในปัจจุบัน ที่ความสวยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการผ่านเข้ารอบ แต่ยังต้องมีความเก่ง ความฉลาด และไหวพริบปฏิภาณอย่างรอบด้านอีกด้วย
ขอบคุณภาพ: Miss Universe Thailand/Miss World-Thailand
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



