ถือเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ของปีนี้ที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ สำหรับการสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระจักรพรรคิ อากิฮิโตะ ให้กับเจ้าชายนารุฮิโตะ พระโอรสองค์โต เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปีที่ญี่ปุ่นจะได้มีกษัตริย์องค์ใหม่ แบบที่ไม่ใช่หลังการสวรรคตของกษัตริย์องค์เก่า เพื่อเฉลิมฉลองวาระพิเศษดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศเพิ่มวันหยุดช่วง Golden Week เป็น 10 วัน
แม้ขึ้นชื่อเรื่องความจริงจังและขยันทำงาน แต่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่เลือกพักผ่อนและใช้เวลาวันหยุดยาวไปกับการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
หยุดยาวทั้งทีชาวญี่ปุ่น 1 ใน 5 ขอเก็บกระเป๋าไปเที่ยว
ตามปกติแล้วช่วงรอยต่อระหว่างเมษายนกับพฤษภาคมของทุกปีถือเป็น Golden Week ที่ชาวญี่ปุ่นได้หยุดยาวราว 5 วัน ในกรอบเวลาดังกล่าวมีทั้งวันฉลองขึ้นยุคโชวะ วันพระราชสมภพของอดีตจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ วันฉลองรัฐธรรมนูญ และวันเด็ก
แต่เนื่องจากปีนี้ประเทศมีจักรพรรดิองค์ใหม่ และมีพิธีสืบทอดบัลลังก์ จึงทำให้เบ็ดเสร็จแล้ว Golden Week จึงเพิ่มเป็น 10 วัน
JTB บริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึง 6 พฤษภาคม ชาวญี่ปุ่นราว 24.67 ล้านคน จะใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรในประเทศ โดยในจำนวนนี้ 662,000 คนเลือกไปต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 6.9% จาก Golden Week แบบปกติของปี 2018
JTB ประเมินว่าชาวญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวต่างประเทศจะใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 268,000 เยน (ราว 76,953 บาท) โดยมี ประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้ และไต้หวัน
รวมถึงกลุ่มประเทศใน ASEAN ไทย กับ สิงคโปร์ ขณะกลุ่มที่ฐานะดีอาจเลือกไปประเทศไกลกว่า เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย
เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ “บันไซ” ช่วง Golden Week ครั้งแรกของยุคเรวะ
ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองครั้งแรกของยุคเรวะ หลังรัชสมัยเฮเซที่ปิดฉากลง จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายและทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว โดยบริษัทวิจัย Dai-Ichi Life Research ในญี่ปุ่นประเมินว่า
จะมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวในประเทศราว 1.48 ล้านล้านเยน (ราว 425,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 30% จาก Golden Week แบบปกติของปีที่แล้ว
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ SMBC Nikko คาดว่า ในกรอบเวลาเดียวกันผู้บริโภคจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโตขึ้น 7.6%
ขณะที่สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ว่าสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเฉลิมฉลอง และการพักผ่อนต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม โรงแรมและภัตตาคาร จะมียอดขายและผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ญี่ปุ่นจะเป็นอย่างในในยุคเรวะ
สื่อญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าช่วงแรกของยุคเรวะ ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ 1 พฤษภาคมนี้ พร้อมการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนารุฮิโตะ เศรษฐกิจของประเทศอาจขยายตัว
(ซ่้าย) เจ้าชายนารุฮิโตะ (ขวา) สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ
ลักษณะเดียวกับช่วงต้นของยุคเฮเซ เมื่อต้นทศวรรษ 90 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของกรุงโตเกียวในปี 2020
ทว่าก็มีความท้าทายไม่น้อยที่รอญี่ปุ่นอยู่ ทั้งการทวงคืนตำแหน่งชาติชั้นนำด้านเทคโนโลยีจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้และจีน
รวมถึงการบริหารจัดการปัญหาด้านประชากร เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยอยู่มาก จนต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น/japantimes, reuters
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



