ธุรกิจ FMCG ทำไมการเติบโตจึงลดลง ? วิเคราะห์สถานการณ์ ธุรกิจ FMCG ที่การขับเคลื่อนหลักอาจอยู่ที่ผู้บริโภคเมืองรอง

เมืองรองจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ คุณว่าไหม

ในปัจจุบัน คนเมืองรองมีสัดส่วนประชากรมากถึง 40% ของประชากรทั้งประเทศ และมีการเติบโตด้านประชากรศาสตร์ และการบริโภคสินค้า FMCG  (Fast Moving Consumer Goods: สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป) อย่างน่าสนใจ

และหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองรอง ที่จะบอกเราอย่างชัดเจนว่า การเติบของการบริโภคสินค้า FMCG ไม่ได้มาจากกรุงเทพฯ เป็นหลัก

 

ก่อนที่เข้าถึงเมืองรอง สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย ได้ฉายภาพให้เราฟังว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของ FMCG ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคือ ธุรกิจ FMCG เติบโตลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จากเดิมในปี 2552-2557 ธุรกิจ FMCG มีการเติบโตในอัตราเฉลี่ยที่มากถึง 7.1% และมาเติบโตลดลงเหลือเฉลี่ยเพียง 1.4% ในปี 2557-2561

ส่วนปีนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาเติบได้มากถึง 4-6% ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบให้เกิดการบริโภคที่ลดลง

 

 

การบริโภคที่ลดลงนี้ ย่อมเป็นความท้าทายของนักการตลาดไม่น้อย แต่การลดลงของการบริโภคก็ยังมีโอกาสในการตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะตลาดในเมืองรอง ที่มาพร้อมการเติบโตเข้าสู่ความเป็น Urbanization และการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GPP Per Capita: Gross Provincial Products  Per Capita) มากถึง 4.5% สูงกว่า GDP ของประเทศไทย

 

 

นอกจากนี้ การบริโภค FMCG ในเมืองรองยังมีการเติบโตกว่าการบริโภค FMCG ในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน โดยเมืองรองมีการเติบโตมากถึง 4.2% ส่วนกรุงเทพฯ เติบโตเพียง 2.4% เท่านั้น

 

 

สมวลีได้เล่าว่านอกจากการเติบโตของ FMCG ในเมืองรองที่มีความน่าสนใจแล้ว สัดส่วนของผู้บริโภคหลักที่สำคัญของสินค้า FMCG ที่มีอายุระหว่าง 12-39 ปี ในเมืองรองก็มีสัดส่วนมากถึง 38% ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตด้วยเช่นกัน

 

และเมื่อมองไปที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการซื้อขายออนไลน์ และการสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลที่ช่วยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบ Select Target ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนรุ่นใหม่ในเมืองรองก็มี Internet Penetration เกือบเทียบเท่า Internet Penetration ของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ศักยภาพของ ธุรกิจ FMCG ยังไม่ได้มาจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยในจังหวัดเท่านั้น แต่ยังมาจากการเติบโตของรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวไทยและเทศอีกด้วย

เพราะสมวลีได้บอกกับเราว่าในวันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราผู้โดยสารผ่านเข้าออกมากที่สุดในโลก

โดยเฉพาะสนามบินที่อยู่ในภูมิภาค ที่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10% ในทุกๆ สนามบิน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่มีส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจ FMCG เติบโตได้เป็นอย่างดี

นอกจากเหตุผลในอดีตที่กล่าวมาแล้ว สมวลีได้ฉายภาพให้เห็นศักยภาพเมืองรองที่จะสร้างรายได้และการเติบโตให้กับธุรกิจ FMCG ในอนาคต ยังมาจากโครงการ Maga Project ของภาครัฐที่ผุดโครงการออกมาขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2573 ได้มีโครงการของภาครัฐมากถึง 44 โครงการ ที่มีส่วนสำคัญในการจ้างงานภูมิภาค

โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่มีผลอย่างสำคัญต่อต้นทุนการขนส่งของสินค้าในหลากหลายพื้นที่จากการเดินรถที่มุ่งจากกรุงเทพฯ สู่หนองคาย เชียงราย และสงขลา

รวมถึงโครงการปรับปรุงสนามบินเพื่อรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของการเดินทางทางอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย

และโครงการ EEC (Eastern Economic Corridor: เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) จะแบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ ตามโซน เช่น ท่องเที่ยว โรงงาน, โรงพยาบาล โรงเรียน และคอมมูนิตี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตามโซนพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และช่วยให้เกิดการเติบโตด้านการบริโภคได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ นีลเส็นยังชี้ให้เห็นว่าโครงการ Special Economic Zone ที่พัฒนาจังหวัดอย่างเร่งด่วนในจังหวัดอย่าง เชียงราย, ตาก, มุกดาหาร, หนองคาย, นครพนม, สระแก้ว, ตราด และกาญจนบุรี จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนในจังหวัดได้อย่างน่าสนใจ

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ละภาคมีความแตกต่างกันชัดเจน การเติบโตด้านยอดขายในยุค 2019 นักการตลาดจะต้องมองที่รายละเอียดมากขึ้นในการเข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละจังหวัด ผ่านการสำรวจแบบลงลึก และ Tailormade การทำตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพราะในวันนี้ศักยภาพของเมืองรองและการ Mass Marketing อาจจะไม่ได้ผลด้าน ROI ชัดเจนเท่าไรนัก

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online