Volkswagen จากขาดทุน สู่กำไร ด้วยฝีมือของ Ferdinand Piëch บุรุษจาก Porsche ผู้กู้วิกฤต Volkswagen

ต่อให้มีต้นทุนชีวิตดีแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องไขว่คว้าหาความสำเร็จด้วยตัวเอง Ferdinand Piëch คงทราบถึงความจริงข้อนี้ดี เพราะความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าล้วนเกิดจากสมองและสองมือของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในผลงานสำคัญที่ฝากไว้ให้อุตสาหกรรมยานยนต์ประจักษ์ คือ การทั้ง ‘เคาะสนิม’ และ ‘ยกเครื่อง’ Volkswagen Group ให้พ้นวิกฤต และขยายจนเป็นแบรนด์ยานยนต์ยักษ์ใหญ่ระหว่างนั่งเก้าอี้ CEO และตามด้วยประธานกรรมการบริษัท จนแทบลืมไปเลยว่า ผู้บริหารมากประสบการณ์ที่เพิ่งเสียชีวิตรายนี้ คือหนึ่งในทายาทตระกูล Porsche

Ferdinand Piëch เกิดเมื่อ 17 เมษายน 1937 มีฐานะเป็นหลานของ Ferdinand Porsche ตำนานวิศวกรยานยนต์ผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบVolkswagen Type 1 หรือที่ชาวไทยเรียกว่า “โฟล์คเต่า” ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์รถชื่อเดียวกับชื่อตระกูล

Porsche Volkswagen Ferdinand Porche

ด้วยความที่ทั้งพ่อ (Anton Piëch) เป็นผู้บริหารของVolkswagen ยุคแรกๆ และตาก็เป็นคนดังในแวดวงยานยนต์ ประกอบกับธุรกิจของตระกูลนี่เอง Ferdinand Piëch จึงใฝ่ฝันจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในวงการนี้ให้ได้

ทว่าการที่มีปัญหาด้านการอ่านในวัยเด็กจนครูในบ้านเกิดสอนไม่ไหวเป็นอุปสรรคแรก จึงต้องถูกส่งให้ไปอยู่โรงเรียนประจำในสวิตเซอร์แลนด์

หลังจบปริญญาตรีสาขาวิศวยานยนต์ Ferdinand Piëch ก็ได้ทำงานที่ Porsche และมีความสำเร็จใหญ่ครั้งแรก คือการพัฒนา Porsche 917 รถแข่งเครื่องแรงขึ้นชื่อเรื่องความทรหด ที่คว้าแชมป์ 24 Hours of Le Mans ปี 1971

Porche 917Porche 917

แต่การทุ่มเงินพัฒนารถรุ่นนี้มากเกินไปจนบริษัทเกือบประสบปัญหาสภาพคล่อง และความขัดแย้งกับคนในตระกูล หลานชายหัวแข็งของผู้ก่อตั้งจึงถูกบีบให้ออกจาก Porsche ซึ่งทำให้เจ้าตัวผิดหวังและโกรธแค้นอย่างมาก เพราะมองไกลถึงตำแหน่ง CEO

สถานการณ์ในชีวิตของ Ferdinand Piëch กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ไม่ต่างจากรถยนต์ที่แก้ไขปัญหาเครื่องน็อกได้ หลังเครื่องยนต์ที่คิดค้นขึ้นระหว่างเปิดบริษัทที่ปรึกษาถูก Mercedes-Benz ซื้อไป

Piech Volkswagen

ต่อด้วยการถูก Audi ทาบให้ไปร่วมงาน ซึ่งเขาก็ตอบรับ และยกระดับจนค่ายรถสัญชาติเยอรมันเจ้าของสัญลักษณ์ 4 ห่วงขึ้นมาเป็นกลุ่มรถหรู สู้กับ Mercedes-Benz และ BMW คู่แข่งร่วมชาติได้อย่างสูสี

ผลงานที่ Audi ผลักดันให้ Ferdinand Piëch ได้ก้าวหน้าอีกขั้น พร้อมกับเผชิญความท้าทายครั้งใหม่ โดยในปี 1993 ฝ่ายบริหารของ Volkswagen Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Audi เลือกเขาให้มานั่งเก้าอี้ CEO ของVolkswagen แบรนด์สำคัญสุดในเครือที่กำลังขาดทุนหนัก

VW Car

ปรากฏว่าเป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะนอกจากเปลี่ยนแบรนด์รถขาดทุนหนักถึง 1,000 ล้านยูโร (ราว 34,000 ล้านบาท) ต้นยุค 90 สู่ค่ายรถที่ทำกำไรถึง 2,600 ล้านยูโร (ราว 88,400 ล้านบาท) ในปี 2002 แล้ว

Volkswagen Group ในยุคของ Ferdinand Piëch ซึ่งสิ้นสุดลงหลังเจ้าตัวลงจากเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารในปี 2015 ยังขยายเป็นอาณาจักรยานยนต์ใหญ่สุดในโลกด้วยจำนวนแบรนด์ในเครือมากถึง 12 แบรนด์

Lamborghini Volkswagen

ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์รถตลาด Mass ชื่อเดียวกับบริษัทแม่ รถเครื่องแรงอย่าง Porsche ไปจนถึง Super Car อย่าง Lamborghini และ Big Bike อย่าง Ducati

Ducati Volkswagen

อดีตผู้บริหารคนสำคัญชาวออสเตรียของVolkswagen Group จากโลกนี้ไปด้วยวัย 82 ปี หลังเป็นลมหมดสติในภัตตาคารแห่งหนึ่งในเยอรมนีระหว่างกินมื้อค่ำกับ Ursula ภรรยา เมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

Ferdinand Piech Ursula Volkswagen Ursula (ซ้าย) ภรรยาของ Ferdinand Piëch 

แน่นอนว่า จากความสำเร็จทั้งหมดเขาจะได้รับการยกย่องในแวดวงยานยนต์ระดับเดียวกับ Henry Ford ผู้ก่อตั้งค่ายรถ Ford และ Kiichiro Toyoda ผู้ก่อตั้งแบรนด์รถ Toyota/bbc, theguardian, autoblog, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน