แบงกิ้ง เอเยนต์ ทางออกของธุรกิจธนาคารที่ต่างอยากให้ 7-Eleven ทำหน้าที่นี้ (บทวิเคราะห์)

เซเว่นอีเลฟเว่น จากที่เคยขายขนมจีบ ซาลาเปา ก็กลายเป็นตัวแทนธนาคารในทันใด และยังเป็นตัวแทนที่เนื้อหอม เพราะธนาคารต่างแต่งตั้งให้เซเว่นอีเลฟเว่น ในส่วนของเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ ตัวแทนธนาคารในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารกับลูกค้า

จนในปัจจุบันมีธนาคารถึง 6 ธนาคารที่ต่างจับมือกับเซเว่นอีเลฟเว่น ให้เป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ ทำธุรกรรมฝากและถอนกันยกใหญ่

และอะไรคือเหตุผลที่ธนาคารต่างก็ไปเซเว่นฯ

1. ธนาคารมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา

ที่ผ่านมาข้อจำกัดของธนาคารคือการมีเวลาเปิด-และปิดทำการ ที่แน่ชัด และเป็นเวลาเปิดให้บริการในช่วงกลางวันเท่านั้น

ทำให้ธนาคารไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารในช่วงกลางคืน หรือหลังธนาคารปิดได้

แม้ในวันนี้ประเทศไทยจะมีการชำระค่าค่าสินค้า บริการ โอนเงินให้กันผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมากขึ้นและได้เข้ามาอุดช่องว่างด้านเวลาเปิด-ปิด ของธนาคารได้ก็ตาม

แต่อย่าลืมว่าสังคมไทยยังไม่ใช่สังคม Cashless Society อย่างแท้จริง เพราะส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการให้กัน

ทำให้เวลาหลังธนาคารปิดมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารได้ โดยเฉพาะธุรกรรมเงินฝาก

ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มีการขายสินค้าในตอนกลางคืนตามร้านค้า แหล่งชุมชน และตลาดนัดต่างๆ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่เปิดร้านขายตั้งแต่กลางวันและปิดร้านดึกๆ ที่ไปฝากเงินตามธนาคารหลังปิดร้านไม่ทัน และจำเป็นต้องพกเงินสดที่ขายได้เก็บไว้เพื่อไปฝากในวันต่อไป และอาจจะทำให้เกิดการสูญหายได้ในกรณีต่างๆ

2. สาขาธนาคารไม่ทั่วถึง

ปัจจุบันธนาคารในประเทศไทยมีสาขารวมกันทั้งหมด 6,879 สาขา อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2562

ซึ่งในเขตตัวเมือง และกรุงเทพฯ การมาสาขาธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มเพื่อทำธุรกรรมอาจจะไม่ใช่เรื่องลำบากนัก แต่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะอำเภอและตำบลต่างๆ ที่ห่างไกล การไปธนาคารแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเวลาเดินทางที่สูง และทำให้คนต่างจังหวัดบางกลุ่มเลือกที่จะเก็บเงินสดไว้กับตัวแทนการฝากธนาคาร

และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเสียลูกค้าเงินฝากในกลุ่มนี้ไป

การแต่งตั้งให้เซเว่นอีเลฟเว่นที่มีทั้งหมดถึง 11,000 สาขา ซึ่งถือว่ามีสาขาที่มากกว่าสาขาของธนาคารทุกธนาคารรวมกันทั้งหมดเกือบ 2 เท่า และสาขาของเซเว่นฯ ยังกระจายไปทุกหนทุกแห่งในพื้นที่ห่างไกล

การที่ธนาคารแต่งตั้งเซเว่นฯ เป็น แบงกิ้ง เอเยนต์ ทำให้ธนาคารเหมือนมีสาขาเพิ่มขึ้นมาอีก 11,000 สาขาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงในการขยายและจ้างพนักงานให้บริการเอง

และเซเว่นอีเลฟเว่น ยังมีแผนเปิดสาขาเพิ่มขึ้นปีละ 700 สาขาต่อปี โดยคาดการณ์ในปี 2564 เซเว่นฯ จะมีสาขามากถึง 13,000 สาขาด้วยกัน

แม้ในวันนี้การร่วมมือกับเซเว่นฯ อาจจะทำธุรกรรมได้เพียงฝาก-ถอนเท่านั้นก็ตาม แต่เชื่อว่าในอนาคตธนาคารและแบงกิ้ง เอเยนต์จะมีการต่อยอดความร่วมมือนี้ไปยังธุรกรรมอื่นๆ อย่างแน่นอน

อย่างเช่นธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีแผนในการต่อยอดความร่วมมือกับแบงกิ้ง เอเยนต์ อย่างเซเว่นอีเลฟเว่นไปยังบริการประกันภัย สินเชื่อ หรือแม้แต่การโอนเงินไปยังปลายทางโดยที่ปลายทางไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร และการโอนเงินไปยังต่างประเทศ เป็นต้น

3. ยอดธุรกรรมผ่านเซเว่นฯ เติบโตสูง

เมื่อดูตัวเลขจากธนาคารกสิกรไทยพบว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยมียอดทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้ง เอเยนต์ 5 ราย ได้แก่ ปั๊มน้ำมันบางจาก ร้านกาแฟอเมซอน ไปรษณีย์ไทย แฟมิลี่มาร์ท และเซเว่นอีเลฟเว่น รวมกัน 1.2 ล้านรายการ และมีจำนวนเงินฝากมากถึง 5,500 ล้านบาท

ซึ่งธุรกรรมผ่านแบงกิ้ง เอเยนต์ ทั้งหมด 80% มาจากเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นหลัก

ทั้งนี้ แม้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการบริการ และบางธนาคารมีแคมเปญลดราคาค่าธรรมเนียม และอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างประสบการณ์และความคุ้นเคยในการใช้งานแบงกิ้ง เอเยนต์

แต่เชื่อว่า โอกาสที่แบงกิ้ง เอเยนต์นี้ยังสามารถไปต่อได้ไกลอีกมาก เพื่อมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเลือกธนาคารของตัวเองเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรมต่างๆ

เพราะคำว่าธุรกรรมของลูกค้านั่นหมายถึงดาต้าเบสชั้นดีในการที่ธนาคารจะนำไปต่อยอดสู่บริการอื่นๆ ที่จะไปสู่รายได้ใหม่ๆ ให้กับธนาคารมากขึ้น

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online