แม้จะดูเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยหวือหวา แต่ด้วยความที่ขายสินค้าจำเป็นต้องใช้ ธุรกิจอย่าง ‘ร้านแก๊ส’ จึงอยู่ได้ด้วยตัวเองเรื่อยมา ใช้ประสบการณ์และความคุ้นเคยในพื้นที่จนอยู่คู่กับชุมชนมาได้เป็นสิบๆ ปี และดูเหมือนว่ามันคงเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินได้แบบนี้เรื่อยไป

กระทั่งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้เกิดสตาร์ทอัพรายใหม่รายหนึ่งที่มีชื่อว่า FinGas กับการเป็นแพลตฟอร์มสั่งแก๊สออนไลน์ ที่ทำให้ผู้คนสั่งแก๊สได้ง่ายๆ ด้วยปลายนิ้วมือ

ฟังดูแล้วนี่เป็นเรื่องที่ดูทันสมัย

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจมากมาย ว่าความทันสมัยที่ต้องกดเข้าไปในแอป-ระบุออเดอร์ที่ต้องการ-หรือถ้าคนขับหาบ้านที่จะมาส่งไม่เจอก็ต้องโทรคุยอยู่ดี จะสามารถไปแทนที่ความคุ้นชินของผู้คนที่เพียงแค่โทรสั่งหรือเดินไปปากซอย

รวมไปถึงความคุ้นชินของร้านแก๊สที่ชำนาญในพื้นที่ ที่แม้ตรอกซอกซอยจะลึกเพียงใดก็จะรู้ดีว่าบ้านใครอยู่หลังไหน หรือลูกค้าใช้แก๊สแบบไหนอยู่เป็นประจำ ได้หรือเปล่า

เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามในใจไม่ต่างกัน

จนเมื่อได้พูดคุยกับ 4 Founder ของ FinGas จึงทำให้เราได้พบกับข้อมูลแบบอินไซต์และปัญหาในธุรกิจร้านแก๊สอีกมากมาย เป็นปัญหาที่คนนอกวงการจะไม่ค่อยรู้สักเท่าไร

ส่วนปัญหาที่ว่าจะมีอะไรบ้าง แล้ว FinGas จะเข้าไปช่วยแก้ไขได้ยังไง

ด้านล่างนี้มีคำตอบ

จุดเริ่มต้นที่มาจาก Pain Point ของทายาทร้านแก๊ส

จากการที่ ง้อ-วัจนาภรณ์ ทีฆพุฒิ หนึ่งใน Co-Founder ซึ่งที่บ้านของเธอทำโรงบรรจุแก๊สและร้านแก๊สมากว่า 30 ปี ได้ไปบ่นให้เพื่อนๆ อีก 3 คนอย่าง เบียร์-เตวิช บริบูรณ์ชัยศิริ, ส้ม-ภรณี วัฒนโชติ และ มุก-ณัฐรินทร์ คลอวุฒิอนันต์ ที่ภายหลังกลายมาเป็นอีก 3 Founder ของ FinGas เกี่ยวกับปัญหาที่ต้องพบเจอในธุรกิจที่บ้านมากมาย

ทั้งในเรื่องของการจัดการที่ยุ่งยากวุ่นวาย ข้อมูลหลายๆ อย่างยังคงถูกบันทึกด้วยการเขียนลงกระดาษ และความไม่เป็นระบบระเบียบ บริหารจัดการกันแบบบ้านๆ นี้ก็ทำให้คนรุ่นหลังเข้ามาสานต่อธุรกิจได้ยาก ง้อจึงตัดสินใจใช้วิชา Software Developer ที่มีอยู่ในตัวมาทำให้ระบบการจัดการของร้านดีขึ้น ทำเป็นระบบ POS ขึ้นมาเพื่อทำให้ Operation ของร้านง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน

และเมื่อได้พูดคุยปรึกษาปัญหากัน อีก 3 Founder ก็ได้พบกับอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือในไทยมีร้านค้าแก๊สกว่า 30,000 ซึ่งนี่เป็นจำนวนที่มากกว่า 7-11 ซะอีก

ทั้ง 4 จึงมองเห็นว่าตัวเลขกว่า 30,000 ร้านค้านี้คือโอกาสทางธุรกิจ เพราะคงไม่ได้มีร้านแก๊สของง้อคนเดียวแน่ๆ ที่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้

และนี่ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด FinGas ในเวลาต่อมา

Pain Point จากใจทายาทร้านแก๊ส

หากมองจากมุมคนภายนอก ดูเหมือนว่าการทำร้านแก๊สนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนวุ่นวายมากสักเท่าไร เพราะนี่คือสินค้าที่มีคนซื้อซ้ำอยู่เป็นประจำ ไม่ต้องคอยทำ Marketing ให้วุ่นวาย มีอาเฮียหรืออาเจ๊เจ้าของร้านคอยรับออเดอร์ที่ลูกค้าโทรเข้ามาสั่ง จดบันทึกลงสมุด แล้วให้ลูกน้องในร้านขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งตามบ้านก็ปิดจ็อบได้

แต่อินไซต์จริงๆ จากใจทายาทร้านแก๊สบอกว่ามันไม่ได้มีแค่นั้น

เพราะหากได้ลองลงไปทำ ก็จะพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ปัญหาที่พูดไปในข้างต้น คือข้อมูลในธุรกิจยังถูกบันทึกลงในกระดาษ-การบริหารหน้าร้านยังขึ้นอยู่กับคนคนเดียว-หรือคนส่งแก๊สที่มีจำนวนไม่เพียงพอ

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ร้านแก๊สไม่สามารถขยายสาขาได้ และเมื่อขยายสาขาไม่ได้รายได้ของร้านแก๊สก็ยังจะคงทรงๆ อยู่เท่าเดิม ที่ขายให้กับคนในพื้นที่เดิมๆ เท่านั้น

ส่วนในมุมของลูกค้า เวลาร้านแก๊สที่สั่งอยู่เป็นประจำหยุด ลูกค้าก็เดือดร้อน ยิ่งกับลูกค้าที่เป็นร้านอาหารยิ่งเข้ายุ่งไปใหญ่ เพราะเมื่อไม่มีแก๊สใช้ นั่นหมายถึงการเสียโอกาสในการขายด้วยเช่นกัน

ใช้เทคโนโลยีแก้ไข Pain Point ที่มีในธุรกิจแบบดั้งเดิม

FinGas คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่อยู่ในรูปแบบของเว็บแอป

ซึ่งสาเหตุที่ทั้ง 4 ตัดสินใจไม่ทำตัวแอปพลิเคชันขึ้นมา เป็นเพราะพวกเขามองว่าการจะทำให้คนดาวน์โหลดแอปสักแอปมาไว้ในเครื่องนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำเป็นเว็บแอปที่สามารถเชื่อมต่อกับไลน์ได้ขึ้นมาแทน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าหากจะให้คุณแม่ที่บ้านสั่งแก๊สด้วยการเข้าแอปก็คงจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไม่น้อย

ลูกหลานต้องคอยมาสอนวิธีการใช้งานอยู่บ่อยๆ จนในที่สุดการกลับไปสั่งด้วยการโทรอาจจะง่ายกว่า

แต่หากสามารถสั่งผ่านไลน์ได้ เหมือนกับเวลาเข้าไลน์คุยกับเพื่อน ส่งสติกเกอร์สวัสดีวันจันทร์แบบที่แม่ๆ ชอบทำกันอยู่แล้ว ก็คงจะเป็นอะไรที่คล่องมือ ช่วยตัดทอนความยุ่งยากในการต้องโทรบอกสเปกของถังแก๊สที่ต้องการ หรือบ้านหลังไหน อยู่ซอยไหน

เพราะประวัติการสั่งแก๊สแบบที่ใช้เป็นประจำ และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ถูกบันทึกไว้ในระบบเรียบร้อยแล้ว

ระบบที่เข้ามาแก้ปัญหา เวลาร้านแก๊สหน้าปากซอยปิด

การทำงานของ FinGas จะไม่ใช่การที่บ้านใดบ้านหนึ่งผูกติดกับร้านแก๊สใดร้านหนึ่งเหมือนอย่างที่ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะเมื่อมีลูกค้ากดสั่งแก๊ส ออเดอร์ก็จะถูกส่งตรงมาจากระบบส่วนกลาง เพื่อกระจายให้ร้านแก๊สต่างๆ ได้เห็น

เมื่อร้านไหนมีแก๊สที่ลูกค้าต้องการในระยะที่ใกล้ที่สุด ร้านนั้นก็จะได้รับออเดอร์ไป

ส่วนลูกค้าก็จะไม่ต้องพบเจอกับปัญหาเวลาจะใช้แก๊สแต่ร้านหน้าปากซอยปิด หรือไม่มีแก๊สแบบที่ต้องการอีกต่อไปเช่นกัน

สร้างการเติบโตด้วยกลยุทธ์ไปตามโครงการอสังหาฯ    

นอกจากการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านแก๊ส อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ FinGas คือการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับโครงการอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ต่างๆ ด้วยการเข้าไปเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ของแอปลูกบ้าน

ถือเป็น win-win situation เพราะปกติโครงการอสังหาฯ ทั้งหลายก็ต้องคอยหาบริการต่างๆ มาเติมเต็มความต้องการของลูกบ้านอยู่แล้ว

ส่วนตัว FinGas ก็จะได้เติบโตไปตามโครงการอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน

ซึ่งตอนนี้ก็สามารถใช้ได้จริงแล้วในแอปลูกบ้านของแสนสิริ       

ความท้าทายที่ต้องต่อสู่กับ Perception ของอาเฮีย-อาเจ๊ ที่เป็นเจ้าของร้านแก๊ส

เริ่มต้นให้ใช้งานจริงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

มีร้านแก๊สเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 300 ร้าน

ทั้งยังเป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก Dtac Accelerate และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ

แต่ FinGas ก็ยังคงเป็นสตาร์ทอัพที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย

เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้ FinGas ประสบความสำเร็จได้ คือการที่ต้องมีร้านแก๊สจำนวนมากเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม

และที่บอกว่ามันเป็นความท้าทาย นั่นเพราะอาเฮีย-อาเจ๊ที่เป็นเจ้าของร้านแก๊สส่วนใหญ่ยังคงไม่เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และคิดว่า ‘ก็ฉันอยู่แบบนี้มาได้เป็นสิบๆ ปี แล้วทำไมจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้’

สิ่งที่พวกเขาต้องทำจึงเป็นการ Educate ตลาดให้เหล่าร้านแก๊สมีความเข้าใจว่านี่คือแพลตฟอร์มที่จะมาช่วยให้พวกเขาทำงานได้ง่ายขึ้น มียอดขายเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้มีร้านแก๊สเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว มันก็เปรียบเหมือนกับสตาร์ทอัพเลเวลยูนิคอร์นทั้งหลาย ที่กว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนประสบความสำเร็จได้ ก็ล้วนแต่ต้องผ่านด่านการต่อสู้กับ Perception ของผู้คนให้เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่มาแล้วทั้งนั้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online