Fake News ภัยร้ายใกล้ตัว เผยวิธีสังเกตข่าวปลอม เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์
Fake Newsไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ทำให้ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง
ข้อมูลจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท พบว่าในช่วงปี 2558-2560 Fake Newsที่พบบ่อยจะมาในเรื่องของสิ่งต่างๆ ใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ อาหาร ยารักษาโรค ที่มาทั้งคำแนะนำและคำเตือนในการบริโภคอาหารและยา รวมถึงแนวทางต่างๆ ในการรักษาโรคที่รักษาไม่หาย หรือหายยาก อย่างเช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น
การที่ Fake Newsมาในรูปแบบนี้เนื่องจากการมองเห็นความกลัวของผู้บริโภคในเรื่องสุขภาพ ที่ยังมีช่องว่างทางข้อมูล ที่ทำให้คนคิดว่าการทำตามคำแนะนำหรือคำเตือนจะทำให้ชีวิตและสุขภาพดีขึ้น จนเกิดการแชร์ต่อ และตามมาด้วยประโยชน์ทางการค้าในรูปแบบต่างๆ กลับไปยังผู้สร้าง Fake Newsเรื่องนั้นๆ ขึ้นมา
และหลังจากปลดล็อกทางการเมือง Fake Newsก็จะเปลี่ยนมาในรูปแบบคอนเทนต์ทางการเมืองมากขึ้น
รวมถึงการสร้าง Fake Newsที่มากับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น ภัยพิบัติ และอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจในช่วงเวลานั้น
แม้วันนี้กลุ่มสูงวัยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแชร์ข่าวปลอมมากที่สุด แต่เป็นเรื่องที่น่ากังวลคือคนรุ่นใหม่ แม้จะรู้ว่าข่าวที่อ่านอยู่เป็นข่าวที่มีความเป็น Fake News สูง แต่ก็แชร์ข่าวนั้นต่อไปบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อจุดมุ่งหมายแชร์เพื่อความสนุกสนาน หรือหลอกคนอื่นๆ ต่อไป
ซึ่งผลที่ตามมาของการแชร์ข่าวFake News นี้ อาจจะมีผลกระทบกลับมายังผู้แชร์โดยไม่รู้ตัว
แล้ววันนี้เราสามารถรู้เท่าทัน Fake News ได้อย่างไร ลองสังเกตตาม 9 ข้อนี้ดู
1. สังเกตหัวข้อข่าว
ข่าวปลอมมักมีการพาดหัวที่สะดุดตา เน้นใช้ตัวหนาและเครื่องหมายตกใจ! (อัศเจรีย์) เพื่อเรียกร้องความสนใจ หากข้อความพาดหัวมีความหวือหวาจนเกินไป ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ ข่าวนั้นอาจจะเป็นข่าวปลอม
2. สังเกต URL
ลิงก์ของข่าวที่แชร์มาอาจจะมี URL คล้ายกับ URL ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ โดยมีเว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากที่เปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
3. สังเกตแหล่งที่มา
ตรวจดูให้แน่ใจว่า Content ที่กำลังอ่านเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้องหรือไม่ หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ควรตรวจสอบเพื่อความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง
4. สังเกตสิ่งที่ผิดปกติ
เว็บไซต์ข่าวปลอมหลายแห่งมักสะกดคำผิด หรือมีการวางเลย์เอาต์ที่ไม่เป็นมืออาชีพ หรือผิดไปจากเลย์เอาต์ของสำนักข่าวจริง
5. สังเกตรูปภาพ
เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว เพื่อความมั่นใจ ลองนำภาพไปตรวจสอบที่มาของภาพดังกล่าวผ่านการค้นหารูปแบบต่างๆ
6. สังเกตวันที่
เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง
7. สังเกต ตรวจสอบหลักฐาน
ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
8. สังเกต ดูรายงานข่าวจากที่อื่นๆ
ตรวจสอบข่าวจากรายงานข่าวของที่มาอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
9. สังเกตข่าวนั้นเป็นมุกตลกหรือไม่
บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
และบางเรื่องก็จงใจสร้างขึ้นมาเป็นข่าวปลอม เพื่อสนุกสนานเท่านั้น
ทั้งนี้ จากข้อสังเกตทั้งหมดอาจจะบอกไม่ได้ 100% ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ทางที่ดีคือไม่แชร์ในสิ่งที่ไม่มั่นใจ
ที่มา: งาน เฟซบุ๊กเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอก
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



