กลุ่มบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ บาฟส์กรุ๊ป ฉลองครบรอบ 36 ปี เปิดแนวทางการดำเนินธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งสร้างความเติบโต โดยรักษาฐานธุรกิจหลักให้มั่นคงและเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน พร้อมแสวงหาความร่วมมือในด้านการลงทุนในโครงการใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

หม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ ผู้นำในด้านการให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจรของประเทศ เปิดเผยว่า บาฟส์เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย รวมถึงสร้างมูลค่าทางสังคมและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขนส่งน้ำมันโดยรถบรรทุก ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน บาฟส์มีการดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งมาตลอดระยะเวลา 36 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานที่รวดเร็ว ตรงต่อเวลา มีความปลอดภัยสูงสุด ได้มาตรฐานสากล และใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนได้รับความไว้วางใจจากบริษัทน้ำมันและสายการบินจากทั่วโลก

“ในฐานะผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานอย่างครบวงจร บาฟส์ให้บริการกับสายการบินกว่า 800 เที่ยวบินต่อวันในท่าอากาศยาน 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานสมุย ท่าอากาศยานตราดและท่าอากาศยานสุโขทัย และมีการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการพลังงานชั้นนำระดับภูมิภาคม.ร.ว. ศุภดิศ กล่าว

 

นายประกอบเกียรติ นินนาท กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2562 กลุ่มบริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 17,094 ล้านบาท มีรายได้ค่าบริการจำนวน 2,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จาก 2,807 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าบริการของธุรกิจให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยาน 82% และรายได้ค่าบริการของธุรกิจให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ 18% โดยมีปริมาณน้ำมันอากาศยาน 4,562 ล้านลิตร เติบโตขึ้น 2.4% และปริมาณน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ 3,413 ล้านลิตร ลดลง 1.1% กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 780 ล้านบาท ลดลง 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 โดยมีอัตรากำไรสุทธิที่ 27.5% เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ ต้องรับรู้ต้นทุนบริการในอดีต หรือค่าชดเชยลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จำนวน 80 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562

“บริษัทฯ ดําเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อส่งมอบคุณค่าและสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจอย่างสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การดำเนินการด้านการรับน้ำมันจากบริษัทน้ำมันที่เป็นกระบวนการต้นน้ำไปจนถึงการเติมน้ำมันให้แก่สายการบินซึ่งเป็นผู้รับบริการที่เป็นกระบวนการปลายน้ำด้วยกระบวนการที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและใส่ใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมส่งเสริมการบริหารจัดการความรู้และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กรให้พร้อมขับเคลื่อนกลยุทธ์เติบโตให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้” นายประกอบเกียรติ กล่าว

 

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มบริษัทฯ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้สามารถสานต่ออุดมการณ์ทางธุรกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน โดยการขยายธุรกิจหลักไปยังสนามบินที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 80/20 โดยเป็นรายได้จากธุรกิจหลัก 80% และธุรกิจอื่นๆ 20% แต่ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าขยายธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60/40

“สำหรับความคืบหน้าการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในส่วนของธุรกิจหลัก บาฟส์ จับมือกับพันธมิตรเข้าร่วมประมูลโครงการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ซึ่งบริษัทผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศผล นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนและการวิเคราะห์โอกาสและศักยภาพของตลาด พร้อมแสวงหาพันธมิตรที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะได้ผลสรุปในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจอื่น บริษัทมีแนวทางที่จะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขยายไลน์การผลิตรถเติมน้ำมันและรถสนับสนุนภาคพื้นดินภายในสนามบินที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรมเฉพาะและใช้เทคโนโลยีระบบวิศวกรรมที่ทันสมัย อีกทั้งหาช่องทางที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า” ม.ล. ณัฐสิทธิ์ กล่าว

 

ปัจจุบัน บาฟส์กรุ๊ป มีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 6 บริษัท ได้แก่

1. บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (Fuel Pipeline Transportation Limited: FPT) สัดส่วนการถือหุ้น 0% ดำเนินการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางระบบท่อส่งน้ำมันใต้พื้นดินจากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก (สายบางจาก-ดอนเมือง-บางปะอิน) และจากสถานีจัดเก็บน้ำมันบริเวณช่องนนทรี (สายมักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ปัจจุบัน
กำลังดำเนินโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ โดยวางท่อส่งน้ำมันใต้พื้นดินจากคลังน้ำมันบางปะอินไปยังคลังน้ำมันจังหวัดพิจิตรและคลังน้ำมันจังหวัดลำปาง

2. บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (Thai Aviation Refuelling Company Limited: TARCO) สัดส่วนการถือหุ้น 0% ดำเนินการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการวางท่อระบบ hydrant ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2

3. บริษัท บริการน้ำมันอากาศยาน จำกัด (Intoplane Services Company Limited: IPS) สัดส่วนการถือหุ้น 3% ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานสมุย ตราด และสุโขทัย

4. บริษัท บาฟส์ อินโนเวชั่น ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (BAFS Innovation Development Company Limited: BID) สัดส่วนการถือหุ้น 0% ดำเนินการประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย พัฒนา ปรับปรุง ออกแบบ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการให้สิทธิและให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

5. บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด (BAFS INTECH Company Limited) สัดส่วนการถือหุ้น 0% ดำเนินธุรกิจออกแบบ ผลิต ประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานและอุปกรณ์ให้บริการภาคพื้นอากาศยาน

6. บริษัท บีพีทีจี จำกัด (BPTG Company Limited) สัดส่วนการถือหุ้น 40.0% ดำเนินธุรกิจประกอบการสถานีบริการน้ำมันบริเวณด้านหน้าคลังน้ำมันพิจิตร คลังน้ำมันนครลำปาง และสถานีเพิ่มแรงดันที่กำแพงเพชร



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online