บัตรแรบบิทที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 13 ล้านใบ และคาดว่าในปี 2563 จะมีผู้ถือบัตรแรบบิทกว่า 15 ล้านใบ

ที่ต่อจากนี้บัตรแรบบิทไม่ได้ใช้ได้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือซื้อสินค้า อาหารจากร้านพันธมิตรอีกต่อไป

แต่บัตรแรบบิทยังสามารถแตะขึ้นรถสมาร์ทบัสได้อีกด้วย ซึ่งจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในทุกการเดินทางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยล่าสุดได้นำร่องใช้กับรถเมล์สมาร์ทบัสสาย 104 และ 150 

รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เปิดเผยว่า เมื่อ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ประกอบการให้บริการรถร่วมบริการ ขสมก. เปิดตัวระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทโดยใช้มาตรฐานเดียวกับ ”ระบบแรบบิท” ที่ใช้ในรถไฟฟ้าบีทีเอส มาทดลองใช้กับรถสมาร์ทบัสสาย 104 และ 150 ซึ่งถือว่าเป็นการนำระบบการชำระเงินตามมาตรฐานสากลมาใช้ในรถโดยสารประจำทางสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

สำหรับเฟสต่อไปนั้น รัชนีกล่าวว่า ในปลาย ธ.ค. นี้น่าจะได้เห็นมีการติดตั้งเพิ่มในรถสมาร์ทบัสอีกในสาย 51, 52, 147, 167 โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 จะสามารถติดตั้งระบบการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิทได้อย่างสมบูรณ์ในรถสมาร์ทบัสสายอื่นๆ รวมกว่า 2,000 คัน

“จากการขยายเครือข่ายการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทในระบบขนส่งสาธารณะนี้ คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้ใช้บัตรแรบบิทจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 แสนถึง 1 ล้านคนต่อวัน โดยบัตรแรบบิทจะเพิ่มจากส่วนที่มาจากการใช้งานรถสมาร์ทบัสราว 2-3 แสนใบ”

และจากจำนวนผู้ใช้บัตรแรทบิทที่เพิ่มขึ้นคาดว่าในปี 2563 นั้นจะมีผู้ถือบัตรแรบบิทกว่า 15 ล้านใบ จากที่ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรอยู่ 13 ล้านใบ

นอกเหนือจากนี้ ในปีหน้าจะเพิ่มความสะดวกสบายในการเติมเงิน โดยได้พัฒนาให้บัตรแรบบิทสามารถเติมเงินผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นของแรบบิท และผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่างๆ โดยได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยแล้ว

ทั้งนี้บัตรแรบบิทเริ่มให้บริการกับประชาชนตั้งแต่ปี 2555

โดยมีแนวคิดเริ่มต้นคือ ต้องการให้บัตรแรบบิทเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับคนไทยที่ใช้สำหรับชำระค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ หรือ ตั๋วร่วม (common ticket) และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสดและต้องการให้มีบัตรใบเดียวที่สามารถชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งได้ทุกประเภท

 

โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรและพัฒนาบัตรแรบบิทให้สามารถใช้ชำระค่าโดยสารที่ครอบคลุมการเดินทางที่หลากหลายของคนในยุคปัจจุบันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถบีอาร์ที เรือโดยสาร และรถโดยสารประจำทางทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองสำคัญต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และนนทบุรี

ในขณะเดียวกัน การขยายตัวไปยังร้านค้าต่างๆ ยังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความถูกต้องน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของระบบที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐานระดับโลก และเรายังมีการทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าพันธมิตร การโฆษณาสื่อสารไปยังผู้บริโภคทั่วไปและลูกค้าที่เป็นสมาชิกของแรบบิท

“ปัจจุบันมีการออกบัตรแรบบิทไปแล้วกว่า 13 ล้านใบ โดยเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านใบ จากการขยายการชำระค่าโดยสารเข้าไปในระบบขนส่งต่างๆ ที่มากขึ้น รวมถึงการมีร้านค้าพันธมิตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ร้านค้า และจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 12,000 จุด”

รัชนีกล่าวต่อว่า ตั้งเป้าที่จะขยายจุดบริการให้มีมากกว่า 20,000 จุดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลังจากที่ปัจจุบันสามารถใช้ได้ในศูนย์อาหารในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ศูนย์อาหารในเครือ ซีพีเอ็น ศูนย์อาหารในเอ็มบีเค สามย่านมิตรทาวน์ แมคโดนัลด์ทุกสาขา ร้านอาหารทุกแบรนด์ในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อ เช่น เทสโก้เอ็กซ์เพรส มินิบิ๊กซี แฟมมิลี่มาร์ท ลอว์สัน แม็กแวลู่ทันใจ วัตสัน รวมถึงโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ร้านชานมและกาแฟต่างๆ

“นอกจากร้านค้าพันธมิตรต่างๆ แล้ว องค์กร บริษัท รวมถึงสถาบันการศึกษายังมีการนำบัตรแรบบิทมาทำเป็นบัตรพนักงาน บัตรนักเรียนหรือบัตรนักศึกษา บัตรเข้า-ออกอาคาร หรือคีย์การ์ดเข้าออกคอนโดมิเนียมอีกด้วย เช่น โครงการคอนโดมิเนียม The Line by Sansiri ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ร.ร. นานาชาติร่วมฤดี บริษัทในเครือสหพัฒน์ และบริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด เป็นต้น

โดยบัตรเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างเช่นเดียวกับบัตรแรบบิททั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งต่างๆ ได้ รวมถึงได้รับส่วนลดต่างๆ ในร้านค้าพันธมิตรทั้งหมด จะเห็นได้ว่าบัตรแรบบิทสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างชัดเจนและลงตัว”



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online