“ถ้าภารกิจของกรมขนส่งทางบกคือดูแลการจัดระบบ ระเบียบการขนส่งทางบกในทุกมิติ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเองก็มีหน้าที่ดูแลการจัดระบบ ระเบียบการขนส่งทางอากาศในทุกมิติเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลการจดทะเบียน ออกใบขับขี่ ดูแลเส้นทาง ซ่อมแซมบำรุง ตลอดจนดูแลความปลอดภัยในเชิงอากาศรวมอยู่ที่นี่หมด”

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อธิบายถึงหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ ซีเอเอที (The Civil Aviation Authority of Thailand) แบบง่ายๆ สั้นๆ ให้ Marketeer ฟัง

หากเอ่ยชื่อ สำนักงานการบินพลเรือน ความเข้าใจแรกหลายคนนึกถึงสถาบันสอนเกี่ยวกับอาชีพทางด้านการบิน…ซึ่งก็ถูก แต่ถูกเพียงเสี้ยวเดียว เพราะแท้จริงแล้วสำนักงานการบินพลเรือนนั้น มีหน้าที่โดยรวมคือ กำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และพัฒนากิจการการบินพลเรือนของไทย รวมถึงหน่วยงานด้านการบิน อาทิ สถาบันการบินพลเรือน (CATC) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (Aerothai) กรมท่าอากาศยาน (DOA) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำกัด (AOT) ตลอดจนสายการบิน และสถาบันหรือโรงเรียนที่มีหลักสูตรการสอนด้านการบิน รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน อุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศภายใต้มาตรฐานด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกทางการบินในระดับสากล

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

“เดิมที ซีเอเอที มีชื่อว่า กรมการบินพลเรือน สังกัดกระทรวงคมนาคม แต่ในปี 2558 ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่ เป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน: Standard toward Sustainability” มุ่งขับเคลื่อนการบินพลเรือนของไทย และองค์กร สู่ความยั่งยืนครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

อุตสาหกรรมการบินไทยในปี 2562 เติบโตแบบชะลอตัว

นอกจากนี้ ผอ.จุฬา ยังฉายภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ใหฟังอีกว่า สถิติการขนส่งผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน 2562) มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 83.19 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ 38.91 ล้านคน ลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 44.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.3% โดยในช่วงครึ่งปีแรกคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้านการเดินทางออกจากประเทศไทย 3 จุดหมายปลายทางแรกคือ จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ

ขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certification : AOC) หรือส่งผู้โดยสารหรือสินค้าเพียงอย่างเดียว เพิ่มขึ้น 2 ราย จากเดิม 23 ราย ส่วนจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operator License : AOL) หรือการบินถ่ายรูป, การบินพาชมทิวทัศน์, บินลากป้ายโฆษณา, บินรับจ้างโดดร่ม และอื่นๆ เพิ่มขึ้น 3 ราย จากเดิม 40 ราย

ด้านจำนวนอากาศยานในปี 2562 อยู่ที่ 691 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 51 ลำ และจำนวนท่าอากาศยานในปัจจุบันอยู่ที่ 38 แห่ง โดย 28 แห่งงดูแลโดยกรมท่าอากาศยาน, 6 แห่งของบริษัทท่าอากาศยานไทย, 3 แห่งของบริษัทการบินกรุงเทพ และอีก 1 แห่งดูแลโดยท่าอากาศยานของทัพเรือ

สำหรับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วน จำนวนผู้ประกอบการซ่อมบำรุงอากาศยานภูมิภาคอาเซียนที่ได้การรับรองจากซีเอเอที ปี 2561 ทั้งหมด 103 ราย ที่ไทยเองมี 31 แห่ง ตรงนี้ผอ.จุฬากล่าวว่า คือโอกาสในการจ้างงาน คนที่จะซ่อมบำรุงเครื่องบินได้ต้องเรียนจากสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นและได้รับใบอนุญาติและใบรับรอง ในอนาคตจำนวนเครื่องบินยังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งงานซ่อมบำรุงต้องเป็นงานด้านวิชาชีพที่มีความยั่งยืนอีกอาชัพหนึ่ง

“ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องทุกปี แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 อาจมีการขยายตัวที่ลดลงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น หรือค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น”

ซีเอเอที รุกทุกมิติ

เพื่อยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนให้มีความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน ซีเอเอที จึงได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 2562-2565 เพื่อให้ทิศทางและการปฏิบัติงานขององค์กรสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนการกำกับดูแลให้การบินพลเรือนของไทยเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพในระดับสากล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้านคือ

  • พัฒนาระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมรับการตรวจประเมิน และยกระดับมาตรฐานให้สองคล้องกับ ICAO
  • นำกลไกการกำกับดูแลไปบังคับใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการออกใบอนุญาต การตรวจติดตามมาตรฐาน การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
  • ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการไทย
  • เสริมสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการเป็นองค์กรที่มีธรรมภิบาล บริหารทรัพยากรบุคคลให้ตรงตามความต้องการขององค์กร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน ให้มีความเป็นสากล
  • เป็นศูนย์กลางข้อมูล และองค์ความรู้ด้านการบินเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม

“เราดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ โดยภายในองค์กรคือการสร้าง Core Value เริ่มตั้งแต่ การพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง, ความหนักแน่นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง, ความรับผิดชอบต่อหน้าที่, การทำงานร่วมกันเป็นทีม, ความเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจ”

ในส่วนงานภายนอกองค์กร ซีเอเอที ให้ความสำคัญกับงานด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ตั้งแต่

การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งจะเห็นกันในปีนี้คือ การกำหนดข้อกฎหมายการใช้ Drone ในธุรกิจต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับการเติบโตที่มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ประกอบกับมีราคาถูกลง จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบินพลเรือน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 นี้ ซีเอเอทีวางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาต ผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐาน เป็นไปตามข้อกำหนดของ ICAO นอกจากนี้จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของซีเอเอที เพื่อให้ การออกใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเหมือนใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการบินโดรนของไทย

และการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) ที่จะไปจอดในจุดต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการช่วยชีวิตให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุ่งมั่นของซีเอเอทีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นในปี 2563 จะมีการปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยซีเอเอทีได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย

โดย HEMS มีจุดเด่น คือ สามารถเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงหรือเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ใกล้ขึ้น รับส่งผู้บาดเจ็บ หรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ สายการบิน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และอำนาจของCAAT ในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับใหม่

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ องค์ความรู้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจรับรองมาตรฐานผู้ประกอบการการซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน การส่งเสริมกิจการการซ่อมบำรุง และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เอย่างการอนุญาตให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 49 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการบินของไทยมากขึ้น

“ด้วยกลยุทธ์และการดำเนินงานตามที่กล่าวมา ซีเอเอที มั่นใจว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม” ผอ.จุฬา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online