และแล้วก็ถึงช่วงเวลาสรุป performance ปี 2562 ของภาคธุรกิจ
ปี 2563 นี้ SCG ออกตัวไวกว่าใครเพื่อน เพราะยังไม่ทันหมดเดือนหนึ่ง ก็ออกมาแถลงผลดำเนินการประจำปีแล้ว
โดยปี 62 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขาย 437,980 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับปีก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 34,049 ล้านบาท ลดลง 24%
ทั้งนี้ หากรวมรายการดังกล่าวมูลค่า 2,035 ล้านบาท จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับปี 32,014 ล้านบาท ลดลงถึง 28% จากปีก่อน จากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์
ส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย อยู่ที่ 180,004 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เพราะเศรษฐกิจเต็มไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอนสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 62 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไม่ง่ายดาย
ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยความตึงเครียดตะวันออกกลาง (กระทบเรื่องน้ำมันและธุรกิจเคมิคอลล์) ประเด็นเรื่องฝุ่น ซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมของตลาดไทย ปัจจัยการเมืองเรื่องงบประมาณประจำปี ปัจจัยลบอย่างภัยแล้ง และล่าสุดไวรัสโคโรน่า
แต่ท่ามกลางปัจจัยลบ รุ่งโรจน์มองว่ายังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างคือ ข้อตกลงเฟสแรกจากสงครามการค้าที่ดึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจให้กลับมาดีขึ้น
“ผมรู้ว่ามีความไม่แน่นอนสูงมาก และความท้าทายก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวต่อสื่อมวลชน

ผลการดำเนินงานในปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 184,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เนื่องจากการขยายตัวของยอดขายจากธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่าย โดยมีกำไร 5,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3%
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้ 45,135 ล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายในตลาดนอกภูมิภาคอาเซียนลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้ 89,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 5,268 ล้านบาท ลดลง 13% เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าของสายธุรกิจเยื่อและกระดาษลดลง ต้นทุนทางการเงินและค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้ 23,096 ล้านบาท ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,196 ล้านบาท ลดลง 19% และลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้ 177,634 ล้านบาท ลดลง 20% เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 15,480 ล้านบาท ลดลง 46% จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้า และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้ 41,351 ล้านบาท ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน และลดลง 23% เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง และผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,801 ล้านบาท ลดลง 8% จากไตรมาสก่อน และลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง
SCG เปิดแผนรับมือตลาด
อย่างไรก็ตาม แนวทางกว้างๆ ที่ SCG วางไว้ในแต่ละธุรกิจ มีดังนี้
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง: จับอินไซต์ลูกค้าโดยวางธุรกิจให้เป็น Construction Solution ช่วยแก้ปัญหาให้ช่างและผู้รับเหมาทำงานได้รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการรุกธุรกิจค้าปลีกและเชื่อมโยงแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ scghome.com เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ยังยกระดับกระบวนการผลิตให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) โดยล่าสุดได้ร่วมกับเอไอเอส ในการนำเครือข่าย 5G มาทดลองใช้ขับเคลื่อนรถยก (Forklift) ระยะไกล ก่อนมีแผนต่อยอดไปใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านอื่น ๆ พร้อมพัฒนาศักยภาพให้พนักงานได้ต่อไป
ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง: โดยเจาะตลาดอาเซียนที่ยังมีโอกาสเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตและความต้องการสูง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง สินค้าอุปโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และรักษาความเป็นผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์
ด้านธุรกิจเคมิคอลส์: SCG จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าประเภทคงทน (Durable Products) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น เม็ดพลาสติก PE112 สำหรับผลิตท่อทนแรงดันสูง ซึ่งผลิตจากเทคโนโลยีที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตร และ HDPE เกรดพิเศษจาก SMXTM Technology ที่เอสซีจีคิดค้นขึ้น
รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก อาทิ Norner ประเทศนอร์เวย์ และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม I2P (ไอทูพี: Ideas to Products) ที่ จ.ระยอง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น ระบบการคาดการณ์ราคาสินค้าที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปรแกรมอัตโนมัติสำหรับการวางแผนกระบวนการผลิตของธุรกิจโอเลฟินส์เพื่อใช้ในการจัดอันดับแหล่งวัตถุดิบที่ดีที่สุด
ด้านการลงทุนและพัฒนา
ขณะที่ตลาดสำหรับการลงทุนนั้น บริษัทเดินหน้าส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียที่มีโอกาสและการเติบโตสูง นอกเหนือจากการมองหาตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ ที่สามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจได้เช่นกัน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคน องค์กร สถาบัน และภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 5,663 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



