Nano Finance คืออะไร และสามารถช่วยแก้ปัญหา หนี้นอกระบบ ได้จริงหรือ ? (วิเคราะห์)
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Nano Finance นับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 58 เป็นต้นไป เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ
ใบอนุญาต Nano Financeของธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการ Nona Finance สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย และคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36%
ดอกเบี้ย 36% จึงกลายเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจให้กับนักลงทุนที่ต้องการลงเล่นในตลาดนี้ รวมถึงอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Lazada, Shopee แอปสั่งอาหารออนดีมานด์อย่าง Grab และ GET ได้วางจุดหมายปลายทางของธุรกิจคือ Nano Financeเช่นกัน
คุณอาจจะสงสัยว่าแพลตฟอร์มที่เรากล่าวมาต้องเริ่มธุรกิจจากอีมาร์เก็ตเพลส และแอปสั่งอาหาร ที่ต้องทนแบกกับความกดดันจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในหลักร้อยล้านพันล้านทุกปี ก่อนที่จะก้าวไปยัง Nano Financeในอนาคต และทำไมถึงไม่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็น Nano Financeเลยล่ะ
เหตุผลเพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องการโฟกัสกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ชัดเจน พร้อมเก็บ Data Base และหาเงินหมุนเวียนในระบบ Ecosystem ของตัวเองให้มากที่สุด
Data Base ที่ว่านี้หมายถึงข้อมูลของผู้ที่จะเป็นลูกค้าสินเชื่อในอนาคต
ลูกค้าสินเชื่อในอนาคตของอีมาร์เก็ตเพลสคือร้านค้ารายย่อยที่เข้ามาเปิดร้านค้าในระบบ ซึ่งปริมาณการขายสินค้าในแต่ละวัน พร้อมคะแนนความประพฤติของร้านค้าจากลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้า เป็น Data Base ชั้นดี ที่ทำให้ Nano Financeในกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลสนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสภาพคล่องทางธุรกิจ และอุปนิสัยของร้านค้าในการขายสินค้า คุณภาพของสินค้าที่จำหน่าย และอื่นๆ ก่อนที่จะต่อยอดไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในอีมาร์เก็ตเพลส เป็นต้น
ส่วนในกลุ่มแอปเรียกรถ และซื้ออาหารออนดีมานด์ กลุ่มลูกค้าในอนาคตคือผู้ขับรถแท็กซี่ ขับรถมอเตอร์ไซค์ การเก็บ Data Base ของผู้ขับรถการรับงาน เงินที่ได้รับผ่านระบบ และการให้ดาวประเมินพฤติกรรมผู้ขับ จะทำให้การวิเคราะห์การให้สินเชื่อมีความแม่นยำ และไม่เกิดหนี้สูญมากขึ้น
เพราะปัญหาของการให้สินเชื่อแบบ Nano Finance คือหนี้คงค้างและหนี้สูญในระบบที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เพราะอย่าว่าลืมการกู้เหล่านี้แทบจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราหนี้ NPL หรือสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปในเดือนธันวาคม 2561 มีทั้งสิ้น 803 ล้านบาท จากสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 35,635 ล้านบาท ของผู้กู้ 2 ล้านบัญชี
เพิ่มขึ้นจากธันวาคม 2560 ที่มียอดหนี้ NPL ทั้งสิ้น 197 ล้านบาท จากสินเชื่อคงค้าง 4,777 ล้านบาท ผ่านผู้กู้ 191,155 บัญชี
การที่ Nano Financeมีสินเชื่อคงค้างมากขึ้นจากการเติบโตของจำนวนผู้กู้เงิน เงินสินเชื่อคงค้าง และหนี้ NPL ทำให้หลายสถาบัน Nano Financeต้องกลับมาทบทวนการปล่อยกู้ใหม่พร้อมกับหาวิธีการใหม่ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Data Base ต่างๆ เกี่ยวกับผู้กู้
เพราะการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ Data Base ของผู้กู้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าเงินที่ให้กู้นั้นไม่สูญอย่างแน่นอน
สำหรับการหาเงินหมุนเวียนในระบบของอีมาร์เก็ตเพลส และแอปเรียกรถ ซื้ออาหารออนดีมานด์ ส่วนหนึ่งจะมาจากการเปิด eWallet ให้ลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อในระบบนำเงินไปใส่ในระบบ eWallet ของแพลตฟอร์มเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แลกกับความสะดวกสบายในการชำระเงิน
เพราะเมื่อมีเงินที่ลูกค้าเติมไปใน eWallet มากเท่าไร แพลตฟอร์มก็จะนำเงินเหล่านั้นไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้เติมเงินใน eWallet
โดยจุดขายในการเชิญชวนลูกค้านำเงินใส่ eWallet พร้อมกับสร้างความเคยชินให้กับผู้ใช้ของแต่ละแพลตฟอร์มมีความคล้ายคลึงกันคือ สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ เช่น ส่วนลดในการใช้บริการเรียกรถ ซื้ออาหารออนดีมานด์ ในกลุ่มแอปเรียกรถและซื้ออาหาร
ส่วนอีมาร์เก็ตเพลสจะเชิญชวนให้ลูกค้าในแพลตฟอร์มใช้ eWallet ด้วยกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ เช่น จัดส่งฟรีเมื่อชำระค่าสินค้าด้วย eWallet หรือการจัดกิจกรรมการตลาดผ่านการจ่ายเงินผ่าน eWallet 1 บาท เพื่อลุ้นซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 บาท ตามที่อีมาร์เก็ตเพลสแต่ละที่เป็นผู้จัด เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส และแอปเรียกรถ ซื้ออาหารออนดีมานด์หันมาเล่นในธุรกิจ Nano Financeและการกำเนิด Nano Financeในบริษัทใหม่ๆ ในกลุ่มนอนแบงก์ เป็นการอุดช่องว่างการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ผู้กู้จะต้องเป็นเจ้าของเงินเดือนที่จดทะเบียนการค้า มนุษย์เงินเดือน และผู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันหนี้ NPL ที่จะเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มที่ขายสินค้าแผงลอย กลุ่มผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำ เมื่อต้องใช้เงินเร่งด่วน จะต้องกู้เงินนอกระบบเท่านั้น
และการที่ Nano Financeมา ทำให้ธนาคารมีการปรับตัว เช่น กสิกรไทยจับมือกับไลน์ เปิดบริษัท กสิกรไลน์ เปิดบริการ Nano Finance, ไทยพาณิชย์จัดตั้งแผนก SCB 10X เป็นโฮลดิ้งเพื่อลงทุนในฟินเทคต่างๆ และอื่นๆ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจ Nano Finance ที่เป็นนอนแบงก์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแย่งชิงลูกค้าที่กู้เงินไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้มาเป็นลูกค้าของตัวเองมากที่สุด เพราะธุรกิจสินเชื่อเป็นธุรกิจที่ได้ผลกำไรมากที่สุด และมีความเสี่ยงมากที่สุดเช่นกัน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



