การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย กับ เทนด์การตลาด ปี 2020 ที่ต้องเข้าใจผู้บริโภคให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น (บทวิเคราะห์)

จากรายงานของ We Are Social พบว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 52 ล้านคน และใช้เวลาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากถึง 9.01 ชั่วโมงต่อวัน สูงเป็นอันดับห้าของโลก

การเติบโตของเวลาบนโลกออนไลน์เป็นการเติบโตขึ้นทุกปี และยิ่งเมื่อ 5G เปิดให้บริการในประเทศไทย การเติบโตด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมาร์ทโฟนเพียงดีไวซ์เดียว จะยังมาพร้อมกับความหลากหลายในการใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และดีไวซ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะ IoT ที่จะเข้ามาบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคอย่างช้าๆ ต่อเนื่องและมั่นคง

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย และการนำไปใช้ของแบรนด์

การเชื่อมต่อกับดิจิทัลแพลตฟอร์มและการเข้าถึง IoT ในหลากมิติของคนไทยยิ่งทำให้ความสามารถในการเข้าถึงดาต้าของผู้บริโภคมากขึ้น และได้กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญให้กับนักการตลาดรู้จักผู้บริโภคมากกว่าตัวผู้บริโภคเอง จาก Data Footprint ตามสถานที่ต่างๆ ที่ผู้บริโภคทิ้งไว้บนโลกดิจิทัล

แต่ดาต้าเบสของผู้บริโภคมากมายที่แบรนด์จะเข้าถึงได้  ศุภกิตติ์ ลิ้มบุญทรง ผู้อำนวยการบริหาร เอดีเอ ประเทศไทย บริษัทโฆษณาดิจิทัลครบวงจรในเครือ เอเชียต้า กรุ๊ป จากประเทศมาเลเซีย กลับมองว่าไม่ได้หมายถึงความสามารถในการเข้าใจผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายเสมอไป

เพราะในโลกการแข่งขันในวันนี้ สิ่งสำคัญคือการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data-Driven Marketing

ซึ่ง Data-Driven Marketing จะต้องประกอบด้วย

– ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายได้อย่างลึกซึ้ง ถูกต้องแม่นยำ

– นำความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ดาต้ามาประยุกต์ให้เป็นกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับแบรนด์

กระแส Data-Driven Marketing ในประเทศไทย ได้มีแบรนด์ต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญว่าคือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้

โดยกลยุทธ์หลักที่แบรนด์จะใช้ Data-Driven Marketing ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้การตลาดแบบเฉพาะเจาะจง และการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบเป็นรายบุคคล ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคแต่ละบุคคลได้แบบเรียลไทม์

แต่การนำ Data-Driven Marketing มาใช้ การรู้จักเทรนด์ของการตลาดที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อนักการตลาดและผู้บริโภคในปี 2020 นี้ก็มีส่วนสำคัญ

โดยวิตตอริโอ เฟอร์ลัน หัวหน้าฝ่ายข้อมูลธุรกิจเชิงลึกของเอดีเอ ได้วิเคราะห์เทรนด์การตลาดในปีนี้จะประกอบด้วย

 

1. Omni-Channel

ช่องทางจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Omni-Channel ที่หลากหลายช่องทาง ไม่จำกัดเฉพาะออนไลน์หรือออฟไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของช่องทางในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่ามูลค่าของแพลตฟอร์ม Omni-Channel จะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

สิ่งที่จำเป็นของนักการตลาดคือการบริหารจัดการช่องทางต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ โดยคาดว่ามูลค่ารวมของแพลตฟอร์ม Omni-Channel จะเติบโตกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

2. Data Unification

การจัดการรวบรวมดาต้าของผู้บริโภคแต่ละบุคคลที่มีอยู่มากมายและกระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายหรือแต่ละบุคคล และช่วยการตัดสินใจทางธุรกิจตั้งแต่การบริหารงบประมาณ การคาดการณ์ยอดขาย หรือการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก

3. Mobile First

พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสำคัญกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นหลัก และในประเทศไทยการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมีมากถึง 50.18 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 52 ล้านคน อ้างอิงจาก We Are Social

จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในประเทศไทยมีสัดส่วนมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับประชากรอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และถึงเวลาที่แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์มาสร้างช่องทางเชื่อมโยงกับลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะได้รับความนิยมสูงที่สุดในอนาคต

4. เทคโนโลยีสำหรับการผลิต VDO จะได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง

การเติบโตของวิดีโอสตรีมมิ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมดูคอนเทนต์ออนดีมานด์ตามต้องการในเวลาที่สะดวก แทนการดูคอนเทนต์ตามวันเวลาที่กำหนด

เอดีเอคาดการณ์ว่าในปี 2020 คนจะใช้เวลาดูวิดีโอออนไลน์และวิดีโอสตรีมมิ่งมากกว่าดูทีวีเป็นครั้งแรก และคนจะใช้เวลาเฉลี่ยในการดูคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์และสตรีมมิ่งเฉลี่ย 84 นาทีต่อวัน

การเติบโตของวิดีโอออนไลน์ลสตรีมมิ่ง เอดีเอจึงมองว่าเป็นโอกาสของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อวิดีโอทั้งในด้านคุณภาพ ความเร็ว

รวมถึง VDO analytics ต่างๆ จะได้รับการพัฒนาให้มีความดึงดูดน่าสนใจมากขึ้น

และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดมูลค่าการตลาด ในส่วน VDO analytics อย่างเดียวคาดว่าจะเติบโตกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

5. การค้นหาด้วยเสียงจะได้รับความนิยมแซงหน้าเสิร์ชเอนจิ้น

การใช้ Voice Search Optimisation หรือ VSO จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเอดีเอคาดว่าจะมีการใช้ VSO มากกว่า 50% ของการค้นหาทั้งหมด และการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเสียง (voice-commerce) จะมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

6. Real-time Personalised Advertising ผลจากการเรียนรู้ของ AI

นักการตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่า Real-time Personalised Advertising ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้ของ AI และจะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคในการรับสื่อแบบ Personal

ซึ่งในปัจจุบันสิ่งต่างๆ ที่ AI ได้ใช้เวลาเรียนเรียนรู้มาเทียบเท่ากับคนจะมีอายุการเรียนรู้ถึง 65 ปี เลยเดียว

7. AR และ VR ยังคงโตต่อเนื่อง

เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR และ Virtual Reality VR คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2020

หมายความว่าผู้บริโภคจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริโภคสื่อรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีโฮโลแกรมจะได้รับการพัฒนาให้น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้แบรนด์ประสบความสำเร็จและเป็นที่หนึ่งในยุคดิจิทัลนี้ได้ ก็คือการสร้างวัฒนธรรมการเติบโตและเรียนรู้ขององค์กร (Growth Mindset) และการเปิดโอกาสให้แบรนด์ได้ลองสิ่งใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก เพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Digital Transformation นี้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online