ยุคที่เพียงแค่คลิกปุ่มสั่งอาหาร เครื่องดื่ม ผ่านแอปพลิเคชันไม่กี่คลิกก็มีพี่เสื้อสีหลายๆ สีไปต่อคิว และขับมาส่งให้ถึงที่ 🍔☕🛵
ระยะทางที่สั้นที่สุดที่มีผู้บริโภคกดสั่งกาแฟผ่านแอป คือ แค่อยู่ชั้นล่างสุดของตึกออฟฟิศที่ทำงานอยู่
จากพฤติกรรมนี้จึงเป็นไอเดียต่อยอดให้ “คาซ่า ลาแปง” เปิดบริการ “Rabbit Walk” บริการเดลิเวอรี่สั่งกาแฟแล้วเดินไปส่งถึงตึกออฟฟิศ
บวกกับทั้งสถานการณ์ของ COVID-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ทำให้ ‘Rabbit Walk’ เป็นโปรเจ็กต์ที่คาซ่า ลาแปง คิดและใช้เวลาพัฒนาเพียง 1-2 เดือน
โมเดลนี้ และภาพรวมของคาซ่า ลาแปงในปีนี้จะเป็นอย่างไรท่ามกลางเศรษฐกิจที่ต้องจับตา ตาม Marketeer มาหาคำตอบ
เล่าให้ฟังก่อนคือ “คาซ่า ลาแปง” เป็นแบรนด์ร้านกาแฟแบบ Spacialty Coffee ที่บริหารโดยบริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือของกลุ่มเจมาร์ท
และนอกจากบีนส์แอนด์บราวน์จะมี ‘คาซ่า ลาแปง’ แล้ว ยังมีร้านกาแฟแบรนด์ ‘ Rabb Coffee’ ด้วย
เติมพงศ์ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปของบริการเดลิเวอรี่ “Rabbit Walk” ว่า เพราะเขาเองเห็นคนขับของบริการเดลิเวอรี่ขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาสั่งออเดอร์ที่ร้าน และเดินไปส่งให้ลูกค้าบนตึกออฟฟิศเดียวกับที่ร้านขาย
รวมทั้งเรื่องของ ‘เวลา’ และความสดใหม่มีผลต่อรสชาติของกาแฟ สั่งกาแฟร้อนควรได้แบบร้อน สั่งกาแฟเย็นควรได้แบบเย็น จึงเกิดเป็นไอเดียบริการสั่งแล้วเดินส่งภายในตึกนั่นเอง
ซึ่งการใช้การเดินส่งนั้นจะทำให้ควบคุมเวลาในการส่งได้ และได้ความสดใหม่ของเมนูเครื่องดื่มที่สั่ง
บริการ ‘rabbit walk’ นี้จะเลือกทำกับสาขาที่อยู่ในโซนออฟฟิศ ที่สามารถให้พนักงานของร้านเดินไปส่งได้
เริ่มสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 8 สาขา เช่น เซ็นทรัลบางนา, ลาดพร้าว ฮิลล์, ราชเทวี เป็นต้น
โดยมีค่าบริการส่ง 20 บาท/ครั้ง ส่วนราคากาแฟเริ่มต้นอยู่ที่ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านเล็กน้อย
เอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) บอกเพิ่มเติมว่า ความคาดหวังจากการเปิดบริการเดลิเวอรี่ ‘rabbit walk’ นี้คือ
– อยากมีออเดอร์ 50-100 แก้ว/วัน
– และดันยอดเดลิเวอรี่มีสัดส่วนรายได้ 20% ของรายได้รวม
โดยรายได้รวมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 80 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าที่ 140 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมของแผนธุรกิจของคาซ่า ลาแปงในปีนี้นั้นนอกจากบริการเดลิเวอรี่ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีแผนที่จะเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘คาซ่า ลาแปง’ และขยายสาขาอีก 6 สาขาในปีนี้
การเปิดแอปนั้น มองว่าจะทำให้คาซ่า ลาแปง สามารถเข้าถึงลูกค้า ทำ CRM และทำโปรโมชั่นได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยมีระบบสมาชิกเลย
โดยในไตรมาส 2 น่าจะได้เห็นรูปร่างหน้าตาของแอปอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดหวังจำนวนสมาชิกถึงสิ้นปีอยู่ราว 5,000-8,000 คน
ส่วนการเปิดสาขานั้น คาซ่า ลาแปง จะเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีสาขาทั้งหมด 16 สาขา (ส่วน rabb coffee มี 2 สาขา รวมร้านภายใต้บริษัทฯ มีทั้งหมด 18 สาขา) โดยจะเป็นโมเดลไซส์ใหม่ คือ ไซส์เล็ก หรือแบบเอ็กซ์เพรส 3 สาขา และไซส์ L อีก 3 สาขา
ทำให้ร้านคาซ่า ลาแปง มีโมเดลร้านทั้งหมด 4 แบบ คือ express(15-25 ตร.ม.), ไซส์ M (น้อยกว่า 100 ตร.ม.), ไซส์ L (100-200 ตร.ม.) และ XL (200 ตร.ม. ขึ้นไป)
และจากเดิมเลยที่เบเกอรี่ในร้านเป็นการสั่งจากร้านอื่นมาวางขายมากกว่า ก็เริ่มมีเบเกอรี่จากที่ทำจากร้านในเครืออย่าง code cafe มาจำหน่ายมากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนของเบเกอรี่ที่ทำขายเองอยู่ที่ 70%
นอกจากนี้ยังทำ “ครัวกลาง” ของเบเกอรี่ เพื่อส่งขนมให้ร้านสาขา และส่งขายให้กับร้านอื่น โดยหวังอยากทำเป็น B2B มากขึ้น
ซึ่งการทำครัวกลางทำให้สามารถลดต้นทุนจากการที่ต้องซื้อมาจำหน่าย แถมยังได้กำไรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือแผนธุรกิจของคาซ่า ลาแปงในปีนี้ ส่วนโมเดล “Rabbit Walk” สั่งแล้วเดินไปส่งถึงตึกที่ คาซ่า ลาแปง มองเห็นโอกาสในตลาดเรดโอเชียน และยังไม่มีใครทำนี้ จะเวิร์กมากแค่ไหน และจะเพิ่มรายได้ตามที่ตั้งไว้หรือไม่คงต้องติดตาม
– เทรนด์เครื่องดื่มกาแฟตอนนี้คือต้อง Spacialty และ Signature
– แม้ตลาดร้านกาแฟจะมีมากขึ้น แต่คาซ่า ลาแปง เชื่อว่า ตลาดจะโตได้อีก
– ที่เซ็นทรัลเวิลด์มีร้านกาแฟมากกว่า 30 ร้าน
– ส่วนสถานการณ์จาก COVID-19 นั้นทำให้ทราฟฟิกของลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านหายไป โดยสาขาในห้างสรรพสินค้าหายไปราว 20-30% ส่วนสาขา stand alone หาย 10%
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ