เกือบ 3 เดือนแล้วที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดของไวรัส Covid-19 และข่าวผลกระทบด้านต่างๆ ที่ธุรกิจมากมายได้รับก็มีออกมาไม่ขาดสายในสื่อทุกแขนง ทว่ายังมีบางประเทศที่ ‘ป่วย’ จากไวรัสดังกล่าวน้อยกว่าประเทศอื่น โดยไต้หวันคือส่วนน้อยที่รับมือกับการระบาดครั้งนี้ได้ดี ยืนยันได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อวันนี้ยังอยู่ที่เพียง 45 คน ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากเป็นหลักร้อยและหลักพันตามลำดับ

นอกจากทะเลจีนตะวันออกที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างจีนกับไต้หวัน และการเป็นประเทศขนาดเล็กแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้แผนสกัดการระบาดของไวรัส Covid-19 ในไต้หวัน ประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศอื่น

 

ตัดไฟแต่ต้นลมและใช้พลังออนไลน์  

ด้วยขนาดพื้นที่อันกว้างใหญ่และจำนวนประชากรนับพันล้านคน รวมถึงสถานะโรงงานโลก วิกฤตในจีนจึงส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกจะรู้สึกถึง ’แรงกระแทก’ ก่อนทุกครั้ง โดยสำหรับวิกฤตไวรัส Covid-19 ครั้งนี้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ต่างพบผู้ติดเชื้อจากไวรัสดังกล่าวที่จีนเป็นต้นทางระบาด เป็นประเทศแรกๆ ในโลก

Virus Japan ไต้หวัน

ข้อมูลล่าสุดวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นอยู่ที่ 488 คน เสียชีวิต 6 คน ส่วนเกาหลีใต้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 7,382 คน เสียชีวิต 51 คน โดยทั้ง 2 ประเทศต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากจากการระบาดครั้งนี้

ส่วนไต้หวันก็เลี่ยงผลกระทบไม่ได้เช่นกัน แต่มีมาตรการรับมือได้ดีกว่า ยืนยันได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียง 45 คนและผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวเท่านั้น

รัฐบาลไต้หวันทราบข่าวการระบาดตั้งแต่ธันวาคมปี 2019 ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงการพูดถึงกันเองหมู่ชาวจีนและก่อนที่จะมีการเรียกว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” จากเมืองที่เริ่มระบาดเสียอีก

Teipei 101 Flag ไต้หวัน

ตั้งแต่ 31 ธันวาคมเป็นต้นมารัฐบาลไต้หวันก็เดินหน้าสกัดการระบาดก่อนหน้าประเทศอื่นๆ เริ่มจากการให้ทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจคัดกรองผู้โดยสารเมื่อเครื่องบินที่มาจากอู่ฮั่นเข้ามาลงในประเทศ

ไต้หวัน Virus on Plane screen

ถัดมาช่วงต้นมกราคมก็แจ้งความคืบหน้าสถานการณ์ต่างๆ ของการระบาดผ่าน Website ตลอด และเริ่มทยอยใช้มาตรการสกัดการระบาด

เช่น จำกัดเที่ยวบินจากจีน กำชับให้อาคารใหญ่ๆ ต้องมีเจลล้างมือตรงทางเข้าและเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย (Mask) ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เพิ่งไหวตัวในปลายมกราคม

Mask ไต้หวัน

พอถึงต้นกุมภาพันธ์ที่พบการระบาดในประเทศ ก็เสริมด้วยมาตรการต่อเนื่องเชิงรุก เพิ่มกำลังการผลิต Mask ในประเทศเป็นมากกว่า 6 ล้านชิ้นต่อวัน เร่งให้การรักษาเบื้องต้นฟรีให้ผู้ที่มีแนวโน้มติดเชื้อ

ตรวจครอบคลุมไปถึงผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแม้ยังไม่แสดงอาการ และแจ้งข้อมูลการระบาดรวมถึงจุดซื้อ Mask แบบตามเวลาจริง (Real Time) พร้อมเชื่อมโยงกับ GPS ที่ดูได้จาก Smartphone

ไตหวัน Tech Virus

พร้อมกันนี้ยังตรวจสอบข่าวลวงและแสดงข้อมูลอย่างโปร่งใสอีกด้วย ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจ SME และกิจการโรงงานที่กระทบจากการระบาดเพราะเชื่อมโยงกับจีนก็ได้เยียวยาด้วยงบฯ เกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 62,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีส่วนงดและการคืนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วย

พอล่วงเข้าสู่เดือนมีนาคมที่การระบาดกระจายไปทั่วโลก โดยแพร่ไปไกลถึงยุโรปและแอฟริกาแล้ว ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้รับผลกระทบอย่างมาก

แต่ไต้หวันที่อยู่ในทวีปเดียวกันกลับแทบยับยั้งการระบาดในประเทศได้สนิท ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่การระบาดในจีนอยู่ในอัตราที่ต่ำมากแล้ว

อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไต้หวันเดินหน้าสกัดการระบาดก่อนประเทศอื่นๆ อย่างมาก คือเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีผู้เสียชีวิตจากโรค SARS ที่ระบาดมาจากจีนถึงกว่า 70 คน

ไช่ อิงเหวิน ไต้หวัน ประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน 

ความสำเร็จในการสกัดการระบาดดังกล่าวทำให้คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวันเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับระดับความพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งล่าสุดสูงถึง 82%

Shinzo ไต้หวัน นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะของญี่ปุ่น

ต่างจากนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดี มุน แจอิน ของเกาหลีใต้ ที่แม้ดำเนินมาตรการสกัดการระบาดแต่ก็เผชิญกับกระแสวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการทำงาน

 

สตรีข้ามเพศคนเก่งเบื้องหลังความสำเร็จของแผนสกัดไวรัส

แผนสกัดไวรัสของรัฐบาลไต้หวันอาจไม่ประสบความสำเร็จจนอีกหลายประเทศต้องจับตามอง หากขาด Audrey Tang รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ที่นำเทคโนโลยีออนไลน์, Mobile Internet การบริหารจัดการข้อมูลอย่างโปร่งใสให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Audrey Tang 1Audrey Tang

Audrey Tang เป็นสตรีข้ามเพศวัย 38 ปีที่สนใจด้านคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก โดยเธอเริ่มศึกษาศาสตร์ด้านนี้ด้วยตัวเองจนสามารถเขียนโปรแกรมและตั้งบริษัทของตัวเองได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปีขณะเดียวกันก็เคยไปทำงานที่ Silicon Valley ศูนย์กลางบริษัทเทคโนโลยีของโลกในสหรัฐฯ อีกด้วย

หลังทำเงินมากสมใจสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ Audrey Tang ก็หันมาพัฒนาโครงการอินเทอร์เน็ตในไต้หวันให้มีความก้าวหน้าและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น

Audrey Tang 2

จนเมื่อปี 2016 ประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ทาบทามให้มาร่วมรัฐบาล ซึ่งเธอก็ใช้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในวงกว้างสำเร็จ ผ่านการรับมือไวรัส Covid-19 จนชาวเน็ตในญี่ปุ่นแสดงความชื่นชม/voanews, reuters, thenewslens, teipeitimes, wikipedia



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online