โควิดกับการตลาด วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด พร้อมเปิดเผยเทคนิคที่แบรนด์ควรทำยามวิกฤติ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยยังดูเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเมื่อวานนี้มีเคสติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเดียวถึง 11 คน ขณะที่ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 คน รวมทำให้ตอนนี้ไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมรวม 75 คน
ล่าสุด Kantar เผยผลวิจัย คนไทยกังวล Covid-19 อะไรคือสิ่งที่แบรนด์ควรทำ? โดยทำการสำรวจจำนวน 3,000 กลุ่มตัวอย่าง ผ่านออนไลน์ ในช่วงอายุระหว่าง 18 – 60 ปี ในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และสำรวจข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าเข้าบ้านของผู้บริโภค 4,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศไทย พบว่า
คนไทยรู้สึกถึงภัยคุกคามจาก Covid-19 มีความกังวลและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดความหวาดกลัว หากพิจารณาถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตเศรษฐกิจไทย เห็นว่าวิกฤติ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการวางแผนทางการเงิน ชัดเจนที่สุดคือ จิตใจของผู้บริโภคไทย
66% ของผู้บริโภคไทยมองว่าวิกฤตนี้ทำให้พวกเขาคิดเชิงรุกมากขึ้น เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินและอนาคต
นอกจานี้ยังพบอีกว่า ครัวเรือนในกรุงเทพฯ เลี่ยงการออกนอกบ้านและพื้นที่แออัด ผู้บริโภคกรุงเทพฯ มีอัตราการจับจ่ายในร้านค้าลดลง 4% และจับจ่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 43%
ขณะที่ผู้บริโภคในเขตเมืองต่างจังหวัด มีอัตราการจับจ่ายต่อเดือนลดลง 2% และจับจ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น 70%
ในด้านของผลกระทบต่อธุรกิจนั้น มีความท้าทายจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย ซึ่งมีอัตราลดลง 3.5% เทียบจากเดือนม.ค.63 กับม.ค.62
ในปีนี้จึงถือเป็นปีที่ยากลำบากจากผลกระทบทางเศรษฐกิจิ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของการค้าโลก ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงวิกฤติ Covid-19 ที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญในช่วงที่เหลือของปี
โควิดกับการตลาด
แล้วในสถานการณ์แบบนี้ แบรนด์ ควรทำอย่าไร
Kantar ระบุว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แบรนด์ต้องมีความเชื่อถือได้และให้การสนับสนุนแก่ผู้บริโภคในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ ด้วยการให้ความมั่นใจและความเป็นผู้นำ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรทำคือ
1.จัดลำดับความสำคัญของการสื่อสารและการกระจายสินค้า ซึ่งสนับสนุนการป้องกัน Covid-19 โดยการทำให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจ และให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองบนพื้นฐานแห่งสุขภาพและความปลอดภัย
ผู้บริโภคไทยไม่ได้ตื่นตระหนกจนเกินไป และ “ไม่ได้กักตุน” สินค้าทุกประเภท แต่พวกเขากำลังมองหาสินค้าที่จำเป็นซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไว้วางใจในการดำรงชีวิตที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ “การฆ่าเชื้อโรคด้วยตัวเอง” สำหรับใช้งานส่วนตัวและภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาบ้วนปากและสบู่ สำหรับทำความสะอาดซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรีย
และความสำคัญของ “การป้องกัน” ยังสะท้อนให้เห็นต่อ “การป้องกันเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง” ซึ่งมีเครื่องดื่มในตลาดหลายประเภทที่ชูคุณประโยชน์แบบ “มูลค่าเพิ่ม” ที่เห็นอย่างชัดเจนซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากคือ รังนก ซุปไก่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และนมสเตอริไลซ์
2.สร้างความน่าเชื่อถือ โดยการให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ของห่วงโซ่อุปทานและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์
ผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้นกว่าปกติ นั่นหมายถึงโอกาสสำหรับสินค้าประเภทอาหารปรุงที่บ้าน เช่น ซอสปรุงรส ส่วนผสมในการปรุงอาหาร และอาหารกระป๋อง การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคและเชื่อถือได้จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังอันดับต้นๆ ในแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม
ดังนั้นแบรนด์ต้องสร้างความสมดุลในการวางตำแหน่งตราสินค้าที่สะท้อนความเชื่อมั่นและความต้องการของผู้บริโภค
ผู้บริโภคมีการจับจ่ายแบบวิตกกังวลกับสินค้าบางอย่าง เช่น กระดาษชำระ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น และยาสีฟัน ซึ่งมียอดขายสูงกว่าปกติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้
นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางอย่างถูกกักตุนสะท้อนจากพฤติกรรมการอยู่บ้านเพิ่มขึ้น อย่างข้าวเกรียบกุ้ง ไอศกรีม กาแฟกระป๋อง น้ำอัดลม
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



