ยารักษาโควิด ความหวังของมวลมนุษยชาติ และบทพิสูจน์ปรัชญา NEVER STOP ของ Fujifilm

ทันทีที่ทางการจีนเผยความสำเร็จในการใช้ยา Agivan รักษาผู้ติดเชื้อ Covid-19 ซึ่งปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างดี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา … ก็ทำให้ชื่อยา Avigan กลายเป็นที่สนใจในฐานะความหวังของมนุษยชาติในการรักษาโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้

Photo by Akira Kodaka from Nikkei.com

ยารักษาโควิด ดันราคาหุ้นพุ่ง

พร้อมกับทำให้ชื่อของบริษัทผู้ผลิตอย่าง Fujifilm Toyama Chemical เป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกัน ก็ทำให้หุ้นของ Fujifilm Holdings บริษัทผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Fujifilm Toyama Chemical ราคาพุ่งไปที่ 5,238 เยน เพิ่มขึ้นถึง 15.4% ทะลุราคาเพดาน (Ceiling) ของวันที่ 17 มี.ค

ก่อนจะกลับมาปิดที่ราคา 5,207 เยน แต่วันต่อมาราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลง หลังจากแหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่ายาดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผลนักกับผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ Fujifilm เป็นผู้พัฒนายา Avigan และได้ให้สิทธิบัตรตัวยา favipiravir แก่บริษัทยาของจีน โดย Fujifilm เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมในการทดลองทางคลินิกในจีน แต่ทางบริษัทได้รับการสั่งซื้อยา Avigan จากหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้บริษัทศึกษาว่าจะสามารถเพิ่มการผลิตได้อีกหรือไม่

บริษัทฟิล์มที่รอดจากคลื่น Disruption มาได้หลายครั้ง

แค่ชื่อก็บอกว่า  บริษัท Fujifilm มาจากไหนและทำอะไรมา นอกจากนั้น ทุกคนต่างรู้ดีว่า Fujifilm เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจฟิล์มถ่าย และเป็นอดีตคู่แข่งคนสำคัญของ Kodak “เบอร์หนึ่ง” ในธุรกิจฟิล์มเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนที่บริษัทเบอร์หนึ่งในธุรกิจฟิล์มของโลก ที่มีอายุร่วม 100 กว่าปี ต้องประกาศล้มละลายไปในปี 2012

Photo from fujifilm.com/jp

Fujifilm ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 ดำเนินธุรกิจผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายแรกของญี่ปุ่นภายใต้แรงผลักดันของรัฐบาล จากนั้น Fujifilm ก็ครองส่วนแบ่งตลาดฟิล์มถ่ายรูปอยู่ในฐานะ “เบอร์หนึ่ง” ในประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน   

ปี 1962 บริษัทใช้ความชำนาญด้าน Photograhpy Processing ไปต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น เริ่มจากธุรกิจถ่ายเอกสาร โดยจับมือกับ Rank Xerox บริษัทร่วมทุนของ Xerox ที่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ (ต่อมา Xerox เข้าซื้อหุ้นจาก Rank) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Fuji Xerox ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของบริษัทในการเข้าสู่ธูรกิจ Document Solutions  มาจนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุด ปีที่แล้ว Fujifilm ได้ถือหุ้นทั้งหมดใน Fuji Xerox 

สำหรับธุรกิจด้านการถ่ายภาพ ถือว่าเป็นไปได้ดีกระทั่งทศวรรษปี 1980 คลื่น Disruption ระลอกแรกสาดใส่ธุรกิจฟิล์ม ทำให้ทั้ง Kodak และ Fujifilm กระทบอย่างหนัก เมื่อกระแสกล้องดิจิทัลเริ่มมาแทนที่กล้องฟิล์ม ส่งผลให้ตลาดกล้องฟิล์มและธุรกิจฟิล์มได้รับผลกระทบสาหัส โดย Fujifilm ก็ได้ปรับตัวด้วยการกล้องดิจิทัลรุ่นแรกออกมาในปี 1988

Photo from fujifilm.com/jp

แต่ถึงอย่างนั้น ธุรกิจหลักของ Fujifilm ก็ยังกระทบหนัก จนเป็นเหตุให้บริษัทพยายามปลุกกระแสการถ่ายรูปด้วยกล้องโพลารอยด์ขึ้นมาอีกครั้งด้วยการผลิตกล้องโพลารอยด์และฟิล์ม Fujifilm Instax และ Instax Mini เพื่อกระตุ้นยอดขายฟิล์ม หลังกระแสโพลารอยด์เริ่มตกพร้อมกับสถานการณ์ของบริษัท Polaroid ที่เริ่มแย่ลงจนต้องล้มละลายในปี 2001

ต่อจากนั้นอีกไม่กี่ปี Fujifilm ก็ถูกคลื่น Disruption ระลอกสองจากกระแสของ Smart Phone และ Social Media ที่เข้ามาทดแทนการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มและกล้องดิจิทัลได้แบบ (เกือบ) สิ้นเชิง ทำให้ยอดขายฟิล์มซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ Fujifilm ตกฮวบฮาบ ….แต่ยังโชคดีที่ยังมีรายได้จาก Fuji Xerox ช่วยหนุนและประคับประคอง ทำให้ Fujifilm ไม่บาดเจ็บหนักเหมือน Kodak

อย่างไรก็ดี การทรุดตัวอย่างหนักของธุรกิจฟิล์มซึ่งเคยเป็นธุรกิจหลักนำไปสู่การประกาศแผน “Vision 75” ซึ่งเป็นแผนระยะกลางเพื่อนำไปสู่การฉลองครบรอบ 75 ปีของบริษัทด้วยยอดขาย 2-3 ล้านล้านเยนต่อปี แต่ก่อนที่จะไปถึงฝันนั้นได้ บริษัทต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ นั่นจึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของ Fujifilm เมื่อปี 2004 

Photo by Akira Kodaka from Nikkei.com

ภายใต้วิสัยทัศน์กว้างไกลและเด็ดเดี่ยวของซีอีโอ Shigetaka Komori ที่เชื่อว่า โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะทำให้ธุรกิจไม่หยุดนิ่ง แนวคิดนี้กลายมาเป็นปรัชญา Never Stop” (Improving The Future) ที่หล่อหลอมให้เกิด DNA ใหม่คือ “FUJIFILM Value from Innovation” เขาสั่งลดการผลิตฟิล์มทันที และหันไปให้น้ำหนักกับฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่

จากธุรกิจผลิตฟิล์มมาสู่ธุรกิจ ยารักษาโควิด ได้อย่างไร…

ปัจจุบัน Fujifilm มี  3 กลุ่มธุรกิจหลัก  ได้แก่ 1) กลุ่ม Image Solutions  ซึ่งรวมธุรกิจดั้งเดิมของ Fujifilm ทั้งธุรกิจฟิล์มและกล้องถ่ายรูป 2) กลุ่ม Document Solutions โดยมี Fuji Xerox เป็นหัวหอก และน้องสุดท้ายคือ 3) กลุ่ม Healthcare &  Material Solutions ซึ่งรวมถึงธุรกิจผลิตยา

หลายคนมองว่าธุรกิจยากับธุรกิจฟิล์มแทบจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่จะว่าไปแล้ว Fujifilm ก็เคยได้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์มาบ้างแล้วโดยเป็นผู้ผลิตฟิล์มเอกซเรย์ ตั้งแต่ปี 1936 ก่อนระบบเอกซเรย์จะหันไปใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพดิจิทัลเช่นกัน และในปี 1993 บริษัทเริ่มเข้าไปชิมลางธุรกิจการแพทย์ผ่านการซื้อหุ้น 51% ในบริษัท Chiyoda Medical ก่อนจะควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Fujifilm Medical ในปี 2004

จริงๆ แล้วธุรกิจยา ถือเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มธุรกิจโซลูชั่นด้านการดูแลสุขภาพและวัสดุ (Healthcare & Material Solutions) โดยจุดเริ่มต้นของก้าวที่จริงจังในการเข้าสู่กลุ่มธุรกิจน้องใหม่ มาจากวิสัยทัศน์ของคุณ Komori ที่เล็งเห็นว่าตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเป็นตลาดมีการเติบโตที่น่าสนใจและมีอนาคต พร้อมกับมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fujifilm จะนำเทคโนโลยีที่ตนมีมาต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจนี้

เดือดร้อนถึงนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทที่เคยรับผิดชอบการผลิตฟิล์มและกระดาษอัดภาพสีที่ต้องผันตัวเองมาวิจัยเครื่องสำอาง ที่ต้องใช้องค์ความรู้และเทคนิคที่มีกลับไปวิเคราะห์เทคโนโลยีที่มี รวมถึงวัตถุดิบและสารเคมีทั้งหมดที่บริษัทมีถึง 20,000 ชนิด เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ … ปรากฏว่ามีสารเคมีอย่าง “เจลาติน” ที่ใช้ในกระบวนการผลิตฟิล์มคุณภาพสูง สามารถนำมาสกัดเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง Skincare ได้ จนในที่สุด Fujifilm ก็ได้เปิดตัวธุรกิจเครื่องสำอางในปี 2006  โดยมีแบรนด์หลัก ได้แก่ ASTALIFT ตามมาด้วยการขยายไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

ในปี 2008 Fujifilm ได้สร้างอีกก้าวสำคัญด้วยการซื้อกิจการ Toyoma Chemicals บริษัทผลิตยาขนาดกลางที่กำลังประสบปัญหาจนกระทบกับโปรเจกต์พัฒนายาต้านไวรัสที่ชื่อ Avigan นอกจากนี้ Fujifilm ยังมีการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคอื่นๆ เช่น ยาต้านมะเร็ง ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ และยารักษาอาการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน Fujifilm ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตเดิมของตนต่อยอดไปสู่การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับวงการแพทย์หลากหลายชนิด อาทิ กล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหาร (Endoscopy), เครื่องตรวจเต้านม (Mammography), ระบบสารสนเทศทางการแพทย์ (Synapse), เครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound System), เครื่องวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด (Point-of-Care Testing Products) รวมถึงสินค้าในกลุ่มเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อมของร่างกาย เป็นต้น

จากภาพจะเห็นว่า ปัจจุบันธุรกิจเริ่มต้นของ Fujifilm มีสัดส่วนรายได้เหลือเพียง 15% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่ม ขณะที่รายได้ในกลุ่มธุรกิจใหม่ อย่างธุรกิจ Healthcare & Material Solutions มีสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 44% และดูเหมือนว่ากลุ่มธุรกิจใหม่นี้จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้จากแถลงการณ์จาก Tsutomu Watanabe กรรมการผู้จัดการของบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) อันเป็นแถลงการณ์เดียวกับที่ผู้บริหารสูงสุดของ Fujifilm ในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุในโรป ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนใหม่ของบริษัทว่า นับจากนี้ไป วิสัยทัศน์ใหม่ของ Fujifilm คือการเป็น “ผู้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์และสินค้าเพื่อสุขภาพ”

“Fujifilm ให้ความสนใจ และลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง คือธุรกิจทางด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical System) และการดูแลสุขภาพ (Health Care) เพราะฟูจิฟิล์มมีจุดแข็งที่ฟิล์มเอกซเรย์ซึ่งใช้ในวงการแพทย์มาก่อน เราจะมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง และมองตลาดเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูง” คุณ Watanabe กล่าว

และทั้งหมดนี้ … คือเรื่องราวพัฒนาการร่วม 90 ปีของบริษัทฟิล์มที่ “ไม่เคยหยุดนิ่ง (Never Stop Improving the Future)” จนวันนี้ได้ทรานส์ฟอร์มมาสู่พรมแดนธุรกิจใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก Avigan ของ Fujifilm Group ประสบความสำเร็จในการรักษา Covid-19 นั่นจะกลายเป็นก้าวสำคัญในการฉลองเข้าสู่ศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ของ Fujifilm

 

ที่มา: Nikkei, Business  Overview (Feb 2020), Earning of FY2020/3  Q3, Fujifilm Holdings

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online