แม้ในช่วงเริ่มของ Itaewon Class ซีรีส์จากช่องเคเบิลอย่าง JTBC จะมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่างสหายผู้กองจากเรื่อง Crash Landing On You มาแย่งเวลาดูของผู้ชมไป
แต่ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นของการชิงไหวชิงพริบเกมธุรกิจ จึงทำให้ Itaewon Class กลายเป็นซีรีส์อันดับที่สองที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง JTBC (เป็นรองเพียงเรื่อง Sky Castle ซีรีส์เกาหลีที่ทำเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลทั้งในและนอกช่อง JTBC)
โดยตอนจบ Itaewon Clas กวาดเรตติ้งทั่วเกาหลีไปได้ 16.5%
และแค่เฉพาะพื้นที่กรุงโซล ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของซีรีส์เรื่องนี้ ก็สามารถทำเรตติ้งไปแตะได้ถึง 18.3%
สำหรับในประเทศไทยเอง Itaewon Class ก็เป็นซีรีส์อันดับ 1 ที่มีคนนิยมดูมากที่สุดใน Netflix ณ ขณะนี้ แซง Kingdom ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งนอกจากความสนุก นี่ยังเป็นซีรีส์ที่แฝงข้อคิดในการทำธุรกิจที่น่าสนใจไว้มากมาย
แล้วเราได้ข้อคิดการทำธุรกิจอะไรจากซีรีส์เรื่องนี้บ้าง?
เนื้อหาด้านล่างนี้มีการสปอยล์บางส่วน
ใครที่ยังดูไม่จบ แนะนำว่าอย่าเพิ่งอ่าน
แชร์แปะเก็บไว้ก่อนจะดีกว่า
.
.
.
.
.
.
.
1
เรียนรู้จากคู่แข่ง
ในตอนที่พัคแซรอยใช้ชีวิตอยู่ในคุก เขาใช้เวลาศึกษาประธานชางแดฮี และประวัติบริษัทชางกา
หรือตอนที่ประธานชางแดฮีแวะมาชิมอาหารที่ร้านทันบัมเพื่อศึกษารสชาติ
แม้ทั้งสองจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่อย่างไรแล้วมันก็คือการเรียนรู้จากคู่แข่ง ที่ไม่ได้แค่ทำให้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งเท่านั้น
เพราะบางครั้งการดูว่าคู่แข่งมีจุดเด่นจุดแข็งอะไร ก็จะทำให้เราเอาจุดแข็งนั้นมาปรับใช้
และปิดจุดด้อยของตัวเองได้เช่นกัน
2
การให้ใจลูกน้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะธุรกิจไม่อาจขับเคลื่อนด้วยเจ้าของเพียงคนเดียวได้
แต่ต้องอาศัยทีมเวิร์คที่ดี และจุดเริ่มต้นของทีมเวิร์คที่ดี ก็คือการมีหัวหน้าที่เก่ง ให้ใจลูกน้อง วางใจในลูกน้อง และเป็นผู้นำที่พร้อมจะซัปพอร์ตอยู่ข้างหลัง
เหมือนอย่างที่พัคแซรอยเน้นย้ำในเรื่องอยู่เสมอว่าธุรกิจก็คือผู้คนนั่นเอง
3
ถ้าไม่พร้อมอย่าเพิ่งขยายสาขา
ในครั้งแรกที่มีบริษัทใหญ่ตัดสินใจมาลงทุนให้ร้านทันบัมขยายแฟรนไชส์
โซอีซอไม่รีรอ รีบคว้าโอกาสนั้นไว้ แล้วตัดสินใจขยายแฟรนไชส์ของทันบัมในทันที
แต่พัคแซรอยมองต่าง ไม่ใช่ไม่อยากขยาย แต่เขามองว่ามันควรเป็นการขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำระบบให้แข็งแรงก่อน แล้วค่อยขยายก็ยังไม่สาย
สุดท้ายก็เป็นแบบที่พัคแซรอยพูด เมื่อขยายทั้งที่ยังไม่แข็งแรง ทันบัมในช่วงนั้นก็ต้องพบกับวิกฤต
ก็เหมือนกับธุรกิจในโลกของความเป็นจริง ที่การขยายสาขาไม่ได้มีแค่ปัจจัยในเรื่องของเงินทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ยังต้องดูด้วยว่าธุรกิจสามารถควบคุมคุณภาพของทุกสาขา ให้มีคุณภาพดีเหมือนสาขาแรกได้หรือไม่
เพราะถ้าคุมคุณภาพได้ไม่ดี ความเสียหายจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเฉพาะสาขาเท่านั้น
แต่คือภาพรวมของแบรนด์ทั้งหมด
ที่ไม่ว่าสาขาอื่นจะอร่อยแค่ไหน แต่เมื่อลูกค้ามีความรู้สึกที่ไม่ดีกับสาขาก่อนหน้า ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านอีก
ที่มา: Neilsen Korea/Soompi
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ