เป็นการแถลงข่าวด่วนมาก!! สำหรับการจับมือกันหลายฝ่ายในการมาแถลงเรื่องมาตรการรองรับสถานการณ์ Covid-19 ร่วมกัน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดเงิน รวมไปถึงตลาดทุน ก่อนจะเปิดตลาดหุ้นวันพรุ่งนี้  หลังจากที่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่กำลังรุนแรงขึ้น!

คณะผู้บริหารที่มาร่วมแถลงสร้างความเชื่อมั่นในครั้งนี้ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญในตลาดการเงินและตลาดทุน ได้แก่ 1. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง 2. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3. น.ส. รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. 4. นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย 5. นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ 6. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

สำหรับใจความสำคัญ ได้แก่ …

1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกกังวลจนนักลงทุนในหลายประเทศพากันเทขายสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ราคาสินทรัพย์ตก ยังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดการเงิน ทำให้ตลาดการเงินทำงานได้ไม่ปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงมีมาตรการออกมา รวมถึงภาครัฐของไทย เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาทของ ธปท. ในช่วงวันที่ 13 -20 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน

2. ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักลงทุนไทยพากันเทขายสินทรัพย์การลงทุนออกมาทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่สินทรัพย์ปลอดภัย อย่างตราสารหนี้และกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนต่างๆ ปรับลดลง ผู้ถือหน่วยลงทุนก็ยิ่งตื่นตระหนก (Panic) จึงเร่งไปไถ่ถอน จนกองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดี (Investment Grade Bond) ในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น

3. อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) จะเริ่มครบกำหนดไถ่ถอน แต่ด้วยสถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในตลาดการเงินโลกและตลาดการเงินไทย ทำให้หุ้นกู้เหล่านั้นจะ Roll Over (ต่ออายุหุ้นกู้ด้วยการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่แทนหุ้นกู้เดิม) ได้ยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของภาคเอกชน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน อันอาจจะนำไปสู่เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้

จากการติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินช่วงที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงเห็นควรให้ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไปเป็นวงกว้าง

มาตรการเฉพาะกิจ 3 ด้านดูแลตลาดเงิน

1. กลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ 

หลักการคือ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน (Repurchase Agreement) เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ ประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องได้ มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

2. กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

หลักการคือ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนฯ นี้ขึ้น โดยมีวงเงินเริ่มต้น 70,000 – 100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนทำให้ไม่สามารถ Rollover หุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน โดยกองทุนนี้จะช่วยเติมส่วนที่ขาด (Top-up) เพื่อให้บริษัทเอกชนได้เงินครบตามจำนวนหุ้นกู้ที่ Rollover

ทั้งนี้ เงินที่บริษัทเอกชนได้รับจากองทุนฯ จะเป็นเงินระยะสั้น 270 วัน เพื่อให้หุ้นกูเอกชนดำเนินได้ต่อเนื่อง (เสมือน Bridging Finance)

3. มาตรการดูแลตลาดพันธบัตรภาครัฐให้ทำงานได้ตามกลไกที่มีประสิทธิภาพ

หลักการคือ ธปท.จะทำหน้าที่ดูแลให้กลไกการทำงานของตลาดพันธบัตรภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่ตลาดการเงินสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธปท. จะเข้าไปซื้อพันธบัตรภาครัฐเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลผันผวน ซึ่งจะกระทบกับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ว่าการแห่งประเทศไทยย้ำว่า  ธปท. มีความพร้อมที่จะเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน

ปลัดกระทรวงการคลังทิ้งท้ายว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินจากภาวะที่ไม่ปกติ ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้โดยรวมมีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและความเสี่ยงต่ำ บวกกับมาตรการเฉพาะกิจที่ออกมาวันนี้ ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาทที่จะเข้ามาดูแล จึงอยากขอให้ผู้ลงทุนอย่าตื่นตระหนกไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนในช่วงเวลาแบบนี้  เพราะอาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น!!”

ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และสถานการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือน “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ทั้งหมดนี้ คือ  3 มาตรการเฉพาะกิจที่จะเข้ามาเป็นกลไกเสริมสภาพคล่องตลาดการเงิน และช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวน ที่พร้อมจะนำไปสู่ความแปรปรวนในตลาดการเงิน โดยบางมาตรการคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันอังคารนี้  ส่วนกองทุนเสริมสภาพคล่องฯ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายใน 1 อาทิตย์

สุดท้ายนี้ “ผู้ใหญ่” ทั้ง 6 ท่านยืนยันว่า จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติม … โดยนายกอบศักดิ์ทิ้งท้ายว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันอังคารนี้น่าจะมีมาตรการดูแลเยียวยาสำหรับภาคประชาชนชุดที่ 2 ออกมาด้วย  

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนักลงทุนในตลาดหุ้น น.ส. รื่นวดี บอกว่า อยู่ในช่วงพิจารณาผ่อนผันเกณฑ์ จากเดิมที่ระบุว่า “บริษัทจะเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งหลังสุด” โดยจะลดระยะเวลาลงมา เพื่อให้บริษัทที่ออกหุ้นสามารถกลับมาซื้อหุ้นคืนได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นกลับขึ้นมาเข้าใกล้มูลค่าที่ควรเป็นมากขึ้นได้

และนี่คือมาตรการตอกย้ำความเชื่อมั่นที่ภาครัฐรีบประกาศออกมาในวันอาทิตย์ … เพราะหากรอให้เปิดตลาดหุ้นในเช้าวันจันทร์ ทุกอย่างอาจสายไป แต่ทั้งนี้ ก็ยังคงต้องจับตาดูว่า “Mr.Market” จะให้การตอบรับมาตรการเหล่านี้อย่างไร…



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online