“คันฉ่องส่อง (ปรากฏการณ์) บุพเพสันนิวาส ” มองมุมสัญวิทยาและโพสต์โมเดิร์น เปรียบอำนาจทางวัฒนธรรม (soft power) เทียบกระแส K-POP

โดย : ธาม เชื้อสถาปนศิริ., นักส่องปรากฎการณ์สื่อ. timeseven@gmail.com

 

ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ใกล้จบเข้ามาเต็มที

ละครเรื่องนี้มาพร้อมกับปรากฏการณ์ (แม้จะชั่วครู่ยาม 3-4 เดือน ทว่าโถมกระหน่ำแรง) จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มีความหมายทางสังคมร่วมสมัยปัจจุบันมากมาย ทั้งที่ค่อนข้างรูปเผิน เช่น คนไทยแห่ใส่ชุดไทยไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปจนมีข้อความโพสต์นิวส์ฟีดประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เต็มสื่อสังคม

กระทั่งจนถึงการฉกฉวยเอาประโยชน์ของห้างร้านเอกชน โฆษณาด้วยการใช้มุข ตัวละครจากละครมาทำการโฆษณาสื่อสารการตลาด และละครเรื่องนี้ถูกบรรดาชาวเน็ตนำไปทำซับไตเติ้ลพากย์เป็นภาษาจีนและเกาหลีเรียบร้อยแล้วแบบที่ไม่ต้องรอให้เจ้าของลิขสิทธิ์คิดได้ทำ อีกทั้งมุขตลกอินเทอร์เน็ต (meme) ที่เอาแคเร็คเตอร์ตัวละครในเรื่องไปสื่อสารทำโพสต์แชร์กันมากมายถล่มทลาย

ล่าสุด สำนักงานกรมศิลปากรสั่งพิมพ์จำหน่ายหนังสือจินดามณีแบบเรียนเด็กไทย ซึ่งขายดีเทน้ำเทท่าในช่วงเทศกาลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผู้คนไปซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยสองเหตุผลสำคัญ คือ อยากอ่าน และอยากเก็บเป็นที่ระลึกเพื่อมี่วนร่วมกับปรากฏการณ์ทางสังคมนี้สักครั้ง ด้านร้านค้าเอกชนใช้การตลาดแบบ “โหนกระแสและเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง” (free rider marketing & real time marketing) เกาะกะแสออเจ้า แม่นางการะเกดและขุนหมื่นสุนทรเทวา และส่งผลให้การทำละครแต่ละช่อง ต้องมาหวนคิดทบทวนแผนการผลิตเสียใหม่ เพราะผลกระทบที่แรงกว่าคาดของละครเรื่องนี้

ถึงขนาดที่รัฐบาลถึงขนาดเรียกผู้จัด นักแสดงเข้าไปทำเนียบเพื่อพูดคุย และ หารือถึงมาตรการที่จะส่งเสริมละครเรื่องนี้ในเชิงของอุตสาหกรรม ให้เน้นผลิตละครที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้จัดละครหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องควรใคร่ครวญ คือ การพัฒนาละครนี้ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีโอกาสกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเฉกเช่นที่รัฐบาลและอุตสาหกรรมเกาหลีทำมานานกว่า 30 ปี

ละครเรื่องนี้ ตอบความต้องการลึกๆ เชิงจิตวิทยาของสังคม คือ ความต้องการหลบหนีปัจจุบัน และย้อนกลับไปแสวงหาความเก่าแก่ สมัยยุครุ่งเรืองสูงสุดของประวัติศาสตร์ไทย เพื่อที่จะบ่งบอกว่า เออ คนไทยก็มีดี มีเอกลักษณ์ ความเป็นชาตินิยม และประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมมาช้านาน หาใช่ชาติที่ปราศจากรากแก่นเหง้าแต่อย่างใด

ละครเรื่องนี้ มาถูกจังหวะในเวลาที่คนไทยกำลังง่อนแง่อ่อนเปลี่ยอัตลักษณ์และสูญเสียความเป็นคนไทยไปมาก (ในแบบอดีต) จนสามารถสร้างกระแสความนิยมไทยได้ ส่งออกเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมได้

ผมจะไม่ถกเถียงว่าอะไรคือ ความเป็นไทย เพราะเปล่าประโยชน์ที่จะอธิบาย เพราะวัฒนธรรมไทยมีลักษณะผสมผสาน รับมาสร้าง ดัดแปลง เอามาเป็นของตนเอง แต่หากพูดเรื่องชนชาติที่มีรากทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ อธิปไตย แล้ว ประเทศไทยมีไม่น้อยกว่าชนชาติใดในโลกนี้

และ ปรากฏการณ์ออเจ้า-บุพเพสันนิวาส สามารถสร้างผลกระทบ หรือ เป็นจุดเริ่มต้นได้อย่างใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “การรุกกลับทางวัฒนธรรมไทย ในฐานะที่เป็นการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม” ได้เช่นกัน

 

สัญวิทยาและความเป็นโพสต์โมเดิร์นใน บุพเพสันนิวาส

หันมาวิเคราะห์ละคร บุพเพสันนิวาส สะท้อนภาพสังคมไทยอะไรหลายๆ อย่าง หากจะวิเคราะห์ วิพากษ์ ขบคิดให้ดี ก็ยังแง่มุมมากมายที่สร้างสรรค์ข้อคิดควรรู้ได้มาก-ปก

หากวิเคราะห์ในแง่มุมของการสร้างละคร , บุพเพสันนิวาสเป็นตัวอย่างของละครที่มีองค์กระปอบ ครบรสชาติของการเป็นสื่อบันเทิงที่ได้ทั้งสาระและความรู้จริงๆ

 

DRAMATIZE” เร้าอารมณ์ลุ้นระทึก

[n.] มีความเป็นละคร เร้าอารมณ์ ออกรสออกชาติชวนสนุก (syn) sensation

-dramatize

อธิบายถึง โครงเรื่อง ตัวละคร พล็อต ปมเรื่อง ฉากหลัง การกระทำของตัวละคร ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและผลลัพธ์ต่างๆ และการหาทางออกบางอย่างที่พลิกผันคาดเดาได้ยากของตัวละคร และนำไปสู่ตอนจบที่แสนพิศวง หรือสุดจะคาดเดา

กรณีนี้ คือ เกศสุรางค์ต้องแก้ปมชะตาชีวิตให้ตนเองและการะเกด กับปมความรักที่ผิดหวังในภพปัจจุบัน และ อดีตให้สมหวัง กับคู่แฝดที่ผิดฝาผิดตัว เรื่องสับสนอลหม่านของการสลับภพข้ามชาติคู่รักที่ไม่ตรงกับกาลเวลาและคู่ครองต่างภพ

 

SATURATED&NATURALIZE” ขับเน้นเด่นชัด/สมจริง

[n.] ขับเน้น เด่นชัด ทำให้เห็นสีสันชัดเจน (syn) bold [n.] ความสมเหตุสมผล ต้องตามตรรกะเป็นไปได้ตามบริบท

-naturalize

ละครที่ผลิตขึ้นมา มีเหตุผล สมจริงตามบริบท ตามหลักความสมเหตุผลดำเนินตามหลัก สาเหตุ-ผลลัพธ์ (cause-effect) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเล่าเรื่องผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวละคร และยังหมายถึงความสมเหตุสมผลของเวลา สถานที่ จารีต วัฒนธรรม ความเป็นจริง

การสร้างความกลม แคเร็คเตอร์ตัวละครไม่ให้แบนราบ (เหมือนอ่านหนังสือ ตำรา พงศาวดาร) คือ การขับเน้นเด่นชัดทำให้ตัวบุคคลทางประวัติศาสตร์ ดูเป็นมนุษย์ ที่มีอารมณ์รักโลภ โกรธหลงขึ้นมาด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ชม “จดจำและซึมซับ” ตัวละครนั้นและเข้าใจ เหตุผล ปมขัดแย้ง การกระทำของตัวละครแต่ละตัวได้มากขึ้น

ผู้ดู ผู้ชม “จะเชื่อ” สิ่งที่ปรากฎในละคร และวางใจในเนื้อหาที่กำลังดำเนินต่อไปจนจบและไม่ตั้งคำถามกับความสมเหตุสมผล

 

ROMANCE”/พาฝัน-รัก-โรแมนติก

[n.] ชวนฝัน เกี่ยวกับจินตนาการของความรัก ความสิเน่หา

-romanticism

เรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่ตัวละครได้สร้างสื่อจินตนาการเกี่ยวกับความรักความสุข ความฝัน ความหวัง ความสมหวัง (หรือผิดหวัง) เกี่ยวกับความรัก

ในโลกของละครความรัก บรรยากาศแห่งความรัก (โรแมนติก) เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการความรัก ต้องการเป็นที่รักของใครสักคน หรือ รักใครสักคน ฉะนั้น ละครจึงได้ฉายภาพพาฝัน (หนีออกจากโลกความจริงที่น่าเบื่อ น่ารันทดหม่นหมอง) มาสู่ชวนฝัน (มะโน จินตนาการว่าตนเองเป็นการะเกด หรือ ขุนหมื่นก็ดี) ว่าได้มีความรักที่สุขชื่นสมหวัง และมีอุปสรรคให้ลุ้นระทึก เล็กๆน้อยๆ ที่มาพร้อมกับฉากพ่อแง่แม่งอน หยอกเย้าพะเน้าพะนอเป็นยาชูกำลังหัวใจให้ชุ่มฉ่ำ

ให้สังเกตว่า ฉากพวกนี้ในละคร จะปรากฏ ถี่ บ่อย ยืดช้า ยาวนานกว่าฉากที่มีเนื้อหาการเมืองในสมัยประวัติศาสตร์พระนารายณ์ เพราะมิใช่สาระสำคัญของเรื่อง บุพเพสันนิวาส สักเท่าใด

ผู้ชมจะใช้เรียนรู้จากจินตนาการโรแมนติกนี้ เพื่อจำลองประสบการณ์ความรักเพื่อเรียนรู้ความรักและฝึกฝนวิถีปฏิบัติ เพื่อสร้างประสบการณ์ความรักก่อนที่จะได้มีประสบการณ์รักจริง หรือมีอุดมคติเกี่ยวกับความรักที่สมบูรณ์แบบนอกจากนี้ ละครยังเสมือนเป็นโลกที่ไว้ใช้หลบหนีจากโลกจริงที่ผิดหวังจากความรัก หรือ ไม่ประสบความสำเร็จจากความรัก เรียนรู้อุดมคติของความรักแท้ในแบบของ “คู่กันแล้วไม่แคล้วคลาดจากกันดุจบุพเพสันนิวาส”

 

“EDUTAINMENT” / สาระ+บันเทิง

-เส้นเรื่อง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่มุมของ “เส้นเรื่อง” (story-line) ก็พบว่า ละครมี 2 เส้นเรื่องหลัก คือ สาระความรัก (ระหว่างพระเอกกับนางเอก) และ สาระความรู้ (ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์) ที่ดำเนินเป็นฉากเรื่องเบื้องหลัง ซึ่งละครก็มิได้นำเอาประวัติศาสตร์มาแต่เพียงฉากหลังของเรื่อง หากแต่ให้ความสำคัญกับฉาก เหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์เสมือนกำลังท่องโลกอดีต ไปพร้อมกันกับการลุ้นความรักของแม่หญิงการะเกดและขุนหมื่นสุนทรเทวาในเรื่องไปได้ตลอด คือ ได้ทั้งสาระความรู้และความบันเทิงอย่างกลมกล่อม

เราจึงได้เห็นผู้สร้างละคร แสดงให้เห็นฉากทำอาหาร ทำเครื่องกรองน้ำ ทำยา ทำอุปกรณ์สิ่งของต่างๆ ในเรื่อง ที่เป็นสิ่งของสมัยใหม่และภูมิปัญญาอดีต (ซึ่งก็ทำพอสนุกได้สาระ แม้จะมีข้อถกเถียงบ้างเล็กๆ น้อยๆ เรื่องความถูกต้อง) แต่ก็นับว่าเพลิดเพลินและได้สาระแบบไม่ยัดเยียดจนเกินไป

ละคร บุพเพสันนิวาส คือ งานละครป๊อปอาร์ต สมัยนิยม ที่มีคุณภาพสูงเรื่องหนึ่ง และมีคุณค่าที่ควรถูกนำมาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้สร้างละคร/สื่อคุณภาพที่ดี สร้างสรรค์

ปัจจัยที่ทำให้ละครเรื่องนี้ สำเร็จไปได้ คือ การมีส่วนผสม ระหว่าง ความรู้ (knowledge) กับ ความอยากจะรู้ (curious หรือ ความกระหาย แรงใฝ่ฝันบันดาลใจ passionate) ซึ่งขับเคลื่อนและนำพาละครสร้างความนิยมไปได้

-sweet-spot

ในแม่มุมที่สำคัญ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้ละครเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จ คือ แนวคิดเรื่อง สัญวิทยาและโพสต์โมเดิร์น ในการวิเคราะห์ละครเรื่องนี้ ไว้หลายแง่มุม เปรียบเทียบแนวคิด สมัยใหม่ และ หลังสมัยใหม่ ก่อนว่ามันคืออะไร?

 

Modern (สมัยใหม่) Postmodern (หลังสมัยใหม่)
โลกของ การะเกด โลกของ เกศสุรางค์
ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์เริ่มสร้างระบบการเมืองการปกครอง สถาบันทางสังคม รากฐานของวิทยาการ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประเพณี และศาสนา เสมือนอวัยวะที่ต่างก็มีหน้าที่ของมันเองดำรงอยู่ตามสภาวะ แน่นอนมั่นคง ยุคสมัยทางสังคม ที่มนุษย์เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่มนุษย์สร้างมา ว่า มีความถูกต้อง เชื่อถือ มั่นคงเพียงใด เกิดแนวคิดใหม่ที่เชื่อว่า สังคมไม่ได้มีระบบ สถาบันใดที่ยึดติด ตายตัว หากแต่แปรเปลี่ยน ปรับปรุง เสื่อม ล้ม เกิดใหม่ ตามสภาวะที่เป็นพลวัตรตลอดเวลา
Unity (ความเป็นหนึ่ง) – เชื่อในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เอกภาพของส่วนรวม ความเหมือนกัน Difference (ความแตกต่าง) – เชื่อในความแตกต่าง เอกลักษณ์ของส่วนย่อยๆ ความไม่เหมือนกัน
Absolute (ความสัมบูรณ์) – เชื่อในความแน่ชัด หนึ่งเดียว ไม่ต้องพิสูจน์ ไม่มีเสมอเทียม Relative (ความสัมพัทธ์) – เชื่อในความสัมพันธ์เปรียบเทียบ ความต่างคู่ตรงข้าม คู่เคียงข้าง เท่าเทียมเสมอกัน
Continuity (ความต่อเนื่อง) – เชื่อในลำดับเรียงก่อนหลัง ก่อนสำคัญกว่าหลัง Discontinuity (ความไม่ต่อเนื่อง)  – เชื่อในความไม่ต่อเนื่อง ไม่เรียงลำดับ
Stability (ความมั่นคง) – เชื่อในความเป็นปึกแผ่น แน่นอน รวมศูนย์กลาง Dispersion (การกระจัดกระจาย) – เชื่อในการกระจัดกระจาย แพร่หลาย เครือข่าย
Order (ระเบียบ) – เชื่อในคำสั่ง ระเบียบ แบบแผนตามศักดิ์ฐานอำนาจ Disorder/chaos (ไร้ระเบียบ) – เชื่อในความไร้ระเบียบ คาดเดาไม่ได้ ไม่มีภาวะอำนาจกำหนด
บุพเพสันนิวาส คือ โลกที่เชื่อมกันระหว่าง สมัยใหม่ กับ หลังสมัยใหม่

ความรักที่แท้จริง เอาชนะทุกภพ ทุกชาติ

 

บทประพันธ์ดั้งเดิม นวนิยาย บุพเพสันนิวาส มีการออกแบบโครงสร้างของ ฉากหลังและปมขัดแย้งตัวละคร ให้มีลักษณะแก้ปมซึ่งกันและกัน เกศสุรางค์มีหน้าที่ไปอยู่ในโลกภพอดีต การะเกด(อาจมี) หน้าที่ไปแก้ปมตนเองในโลกภพปัจจุบัน แต่ผู้เขียน(อาจตระหนักหรือไม่ตระหนัก) ว่าตนเองได้สร้าง โลกสองยุคสมัยที่ทำให้ผู้ดู เห็นความแตกต่างของประวัติศาสตร์สังคมในยุคต้นของโมเดิร์นและโลกหลังสมัยใหม่

ในสมัยพระนารายณ์นั้น เป็นยุคแรกๆ ของการสร้างระบบทางสังคม ผู้หญิงที่แต่งงานในฐานะภรรยามีบทบาทหนึ่งเพียงแค่สินทรัพย์ของสามี แต่ตัวเกศสุรางค์(ในร่างการะเกด) นั้นเป็นคนสมัยใหม่ที่ยึดมั่นในสิทธิและความเท่าเทียมกัน จึงได้ทำการต่อรอง เรียกร้องและแสดงตนว่าไม่มีทางยอม (โดยเฉพาะเรื่อง ผัวเดียวหลายเมีย) และบอกว่าตนเองก็มีสิทธิ ความเป็นคนเท่าๆ พอๆกันกับผู้ชาย (หรือแม้เท่ากันในเชิงศักดิ์ ฐานะความเป็นมนุษย์)

-post-modern

[เกศสุรางค์ในร่างการะเกด คือ การปะทะสังสรรค์ ของสองยุคสมัย โมเดิร์น กับ โพสต์โมเดิร์น]

ขุนหมื่นสุนทรเทวา (พระเอก) เสมือนรูปสัญญะ ตัวแทนของโลกยุคเก่า ที่เชื่อมั่น ยึดถือ กรอบธรรมนียม จารีต ความสัมบูรณ์ ตามแนวทางของโมเดิร์น ดังนั้นเมื่อต้องมาปะทะ กับ เกศสุรางค์(ในร่างแม่การะเกด) จึงระคนใจและกลายเป็นจุดเสน่ห์ของละครเรื่องนี้ ที่แตกต่าง (คล้ายกับแม่มณี ในทวิภพ) ที่ทำให้คนเข้าใจโลกทั้งสองได้เด่นชัดมากขึ้น และสนุกไปกับการท่องอดีต

 

ในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส มีตัวอย่าง เก่าผสมใหม่ (pastiche)

แนวคิดเรื่องนี้ คือ การเอาโน่นเอานี่ มาผสมกัน เพื่อสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งเก่า (คล้ายๆ กับการทำหน้ากากกระดาษกาวแปะจากเศษกระดาษเล็กๆ น้อยๆ หลายชิ้นมารวมกัน)

กรณีละครโทรทัศน์เรื่องนี้ คือการนำเอาพล็อตย้อนเวลา คู่แท้บุพเพสันนิวาส (ตามรักเธอทุกชาติ) มาผสมกับเรื่องเกมการเมืองราชวัง และ การพลิกตำรากับข้าวกับปลาโบราณอีกทั้งยังมีเรื่อง จิตวิญญาณ และ การจ้ามภพข้ามมิติเวลา ผสมกับพล็อตแฝดพี่แฝดน้องอีก คือ มั่วไปหมด ด้วยการเอาพล็อตขนบแบบนวนิยายเก่า มาผสมพล็อตใหม่

แม้ผู้เขียน (คุณรอมแพงจะตั้งใจ และทำการศึกษามาอย่างดี แต่กลวิธีการเรียบเรียงเล่าเรื่อง คือ การจับพล็อตต่างๆ มาต้ม ยำ ทำแกงโฮะ ผัดปรุงทุกอย่างมารวมกันไว้อย่างสนุกกลมกล่อม และ ศัลยา สุขะนิวัตติ์” นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ก็แปลงสารจากบประพันธ์มาสู่หน้าจอโทรทัศน์ได้อย่างดี

 

ปะผุซ่อมอะไหล่ (bricolage) – หรือ เรื่องเก่าเล่าใหม่ / เหล้าเก่าในขวดใหม่

แนวคิดนี้ คือ ความคิดหลักหนึ่งในแนวคิดโพสต์โมเดิร์นที่บอกว่า ในโลกยุคหลังสมัยใหม่นั้น ไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว มีแต่เพียงเอาของเก่า มาซ่อม มาเพิ่มเติม เอาอะไหล่ชิ้นโน้นมาใส่ชิ้นนี้แล้วก็เรียกว่าใหม่ คือ ไม่ใหม่แท้ ไม่มีต้นฉบับ เพราะเป็นการทำซ้ำ ซ่อมแซม ดัดแปลง

เราจึงเกิดความรู้สึก  “กลางเก่ากลางใหม่ คลับคล้ายคลับคลา คุ้นชินผสมระคนใจ” จากละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งมีลักษณะ ของ ความผสมโรง มั่วไปหมด (และคนดูสมัยใหม่ ก็ไม่แคร์ เพราะโพสต์มเดิร์นไม่สนใจกฎระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น) และของเก่าซ่อมใหม่ก็ตอบสนองจริตคนรุ่นปัจจุบัน ที่ชอบเดินตลาดโบราณและใส่ชุดไทยพร้อมรองเท้าผ้าใบกินบิงชูและเดินเล่นงานวัดพร้อมกับออนไลน์ท่องโซเชียลแบบชิลๆ ไปด้วยพร้อมๆ กัน

การเอาความเป็นไทยในสมัยพระนารายณ์ย้อนกลับมาเล่าในสายตาของเกศสุรางค์ที่เป็นสาวรุ่นใหม่ ใส่ใจประวัติศาสตร์และมีจริตจก้านแบบสาวแซ่บ(ทางความคิดและสายตาคนรุ่นปัจจุบัน) จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างสื่อแบบปะผุซ่อมอะไหล่ คือ เกศสุรางค์ เข้าไปปะผุ่ซ่อมความคิด จารีต ประเพณี ธรรมเนียมบางอย่างให้ทัดเทียมก้าวหน้า ขณะเดียวกันเกศสุรางค์ ก็เข้าไปหยิบยืมเอาค่านิยม ตารีตบางอย่างที่หลงลืมเลือนหายไปจากความเป็น(คนและสังคม)ไทยในปัจจุบันไปด้วย

ดังนั้น ผู้สร้างละครเรื่องนี้ จึงเอาละครเรื่องต่างๆ ในอดีต มายำใหม่ มาปรุงใหม่ในลีลาและแนวทางแบบสายตาคนปัจจุบัน

 

 

FLOATING SIGNIFIER” รูปสัญญะอิสระ/ล่องลอย

[n.] รูป/สัญญะ ของ ความหมายที่ล่องลอย รอการไปสวมความหมายสัญญะสิ่งต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม สัญวิทยาโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์ ผู้แต่ง : ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร., 2555

-floating-signifier

หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญของแนวคิดสัญวิทยา คือ รูปสัญญะ (signifier/form) กับความหมายสัญญะ (signified/concept) ซึ่งใช้อธิบายทุกอย่างในภาษา เสมือนเหรียญที่มีสองเด้าน คือ ด้านที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

แนวคิดนี้ (Jean Baudriyard นักทฤษฏีโพสต์โมเดิร์น และภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อธิบายว่า – ทุกวันนี้ รูปสัญญะ ต่างๆ ไม่ยึดติดแนบแน่นกับความหมายสัญญะอีกต่อไป หากแต่ ล่องลอยและแปรปรวน ทำตัวรูปของตนเอง อิสระ เสรี ไปเกาะเกี่ยวจับกุม สวมกอดความหมายสัญญะอื่นๆ ได้ไม่รู้จบ) ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญมากของโพสต์โมเดิร์น

รูปสัญญะ (sinifier, form) ที่ล่องลอย มีหน้าที่ “เข้าไปจับ/สวมความหมายสัญญะ” ซึ่งเป็น ส่วนของความคิด ไอเดีย (concept) ความหมายของสิ่งต่างๆ โดยอาศัยรูปสัญญะเข้าไปจับจองความหมาย

(กาย กับ จิต แยกออกจากกัน อิสระ ไม่ยึดติดถาวร ตายตัว)

ในที่นี้ ตัวละคร เกศสุรางค์ เปรียบเสมือน “รูปสัญญะของคนสัมยใหม่” ที่เข้าไปยึดโยง กำกุมเอาร่างของการะเกด และ พกพาเอาความเป็นคนสมัยใหม่ (ความหมายใหม่) เข้าไปยึดร่างเก่า และความหมายเก่าของการะเกดในอดีต

กระทั่ง คนดู ผู้ชม ที่แต่งชุดไทย ก็สามารถซึมซับ และ มองสิ่งที่เกศสุรางค์ทำ(ในร่างแม่หญิงการะเกด) เป็นเรื่องสนุก และลุกขึ้นมาทำตัวโบราณ ผสมสมัยใหม่ ใส่ชุดไทยไปวัด เสร็จแล้วก็ไปเดินห้าง ไปวิ่ง ไปกินบุฟเฟ่ท์หมูกระทะแล้วเดินเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นเพื่อซื้อน้ำปลาหวานมากินกับมะม่วง สามารถใส่ชุดไทยพร้อมกับรองเท้าผ้าใบ และไปเล่นสงกรานต์พร้อมปืนฉีดน้ำและแว่นกันแดดได้อย่างไม่เคอะเขิน

เกศสุรางค์คือ รูปสัญญะที่ล่องลอย ไม่ยึดติด อสระ และพร้อมที่จะเข้าไปสิ่งร่าง จับ เกาะกุม สวมความหมายของวัฒนธรรมและกิจกรรมทางสังคม ประวัติศาสตร์ได้อย่างเสรี ไม่มีขีดจำกัด

ลักษณะเช่นนี้ เอง ที่เรียกว่า “รูปสัญญะที่ล่องลอย” ตามแนวคิดของฌอง โบดิยาร์ด

และ เกศสุรางค์จึงเสมือนเป็น “ตัวแทนของเราในยุคสมัยนี้” ที่เป็นมนุษย์ยุคโพสต์โมเดิร์น คือ ทำอะไรก็ได้ ไม่ยึดติด ตายตัว เสรี ล่องลอย พร้อมกับกระแส เหตุการณ์ทางสังคมโลกทั้งใบ เฉกเช่นหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ไทยแท้ (คือ เข้ากันได้กับคนทุกชาติ ทุกประเพณี ทุกวัฒนธรรมในโลก)

 

าระเกด / เกศสุรางค์ เป็นรูปสัญญะของผู้หญิง 2 ยุค ที่เข้มแข็ง (การระเกด-แข็งนอกอ่อนใน , แต่เกศสุรางค์ บุคลิกแข็งในอ่อนนอก)

กรณีเกศสุรางค์ คือ การเข้าไปจับจองและเปลี่ยนความหมาย (สัญญะ) ของผู้หญิงไทยในสมัยอดีตให้สามารถ มีความหมายและนิยามใหม่ เช่น เป็นผู้หญิงมีความรู้ มีปัญญา พิทักษ์สิทธิ์ และมีพร้อมทั้งความสวยงามทางรูปกายภายนอกและความงามทางปัญญา เกศสุรางค์ในร่างการะเกดจึงทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยนความหมายของผู้หญิงไทยในอดีตให้ถูกต้องเสียใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์

เกศสุรางค์ เมื่อถอดจิตวิญญาณของตนเอง ไปอยู่ในร่างการะเกด จึงต้องสวมความหมายของหญิงไทยในภพอดีต (ถูกขัดเกลา จากพระเอกและแม่พระเอก) ขณะเดียวกัน ก็พยายาม “ต่อสู้ ต่อรอง ต่อต้าน” ความหมายของผู้หญิงในภพอดีตที่ถูกกำหนด ตีตราความหมายไว้แล้วด้วย เกศสุรางค์จึง “ดูวิปลาส พิกลพิการ” ในสายตาของขุนหมื่นสุนทรเทวา มากเพราะทำตัวไม่สอดคล้องกับความหมายสัญญะของหญิงไทยในสมัยนั้น

แนวคิดนี้ สามารถอธิบาย กับ คนเรา (มนุษย์ในยุคโพสต์โมเดิร์น) และลักษณะ คำทางภาษาในปัจจุบันได้ว่า เสมือนรูปสัญญะ ที่ล่องลอยหาความหมายไปเกาะกุมสวมกอดใดๆ ก็ได้ เพราะคนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่พร้อมเปิดรับค่านิยม ความหมาย วิถีชีวิต วัฒนธรรม (แฟชั่ ดนตรี ศิลปะ กระแสใดๆ ) ก็ได้ ที่ทำให้ตนเองมีความหมาย

หากพบสิ่งใดที่คิดว่าสามารถสร้าง รูป(สัญญะ) ให้ชีวิตตนเองมีความหมาย(สัญญะ)ได้ ก็พร้อมที่จะทำทันทีโดยไม่ลังเลรีรอ เช่นเดียวกันกับวิถีชีวิตในสังคมระบบทุนนิยมที่เราบริโภค ซื้อใช้สินค้ามากกว่าตัวประโยชน์ใช้สอยแต่บริโภคความหมายของสินค้าวัตถุนั้นๆ ด้วย

 

 

RELATIVISM” สัมพัทธ์นิยม

[n.] การเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ เวลา ของสองเหตุการณ์/บริบทที่เทียบต่างกัน

-relativism

การเล่าเรื่องของ 2 เหตุการณ์/บริบท ที่คู่ขนานไปพร้อมๆ กัน เปรียบเทียบกันในเชิงของเวลา สถานที่ (เรื่องราวที่ดำเนินไป เช่น มิติเชิงเวลา เหตุการณ์ ผู้คน ยุคสมัย)

ผู้ชมจะดูละครที่มีลักษณะ “สัมพัทธ์” นิยม เพื่อเปรียบเทียบตนเอง กับจุดอ้างอิงทางเวลาและสถานที่ หรือ บริบท (ฉากหลัง-โครงเรื่อง) เพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบว่าตนเองจะทำอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในบริบทนั้นๆ ที่แตกต่างกัน กรณีนี้ คือ เกศสุรางค์เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ของ 2 มิติเวลา ในภพปัจจุบันและอดีต

ดังนี้ ผู้ชมจึงเห็น “คู่เปรียบเทียบที่สำคัญ” ระหว่าง เกศสุรางค์ในร่างการะเกด และ แม่หญิงจันทร์วาด หญิงสาวที่มาพร้อมจารีต ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ที่ตรงต้องตามฉบับแบบแผนหญิงกุลสตรีงามพร้อมในสมัยอดีต

บทสนทนาปฏิภาคย์สัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งสอง (และอีกมิติที่ดำเนินคู่ขนานกัน) ยิ่งทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก เปรียบเทียบสัมพัทธ์ ระหว่างตัวละครทั้งสองนี้ตลอดเวลาในเชิงของความแตกต่างของความหมายจาก 2 ตัวละครนี้

 

NON-LINEAR STORY-TELLING” การเล่าเรื่องไม่เป็นเส้นตรง

การเล่าเรื่องสมัยเก่า คือ เล่าตามลำดับ ไล่เรียงไม่สลับ แต่การเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่คือเล่าไม่เรียงลำดับ แต่จะสลับไปมา (เพื่อความสนุก และค้นหา)

-story-telling

ละครแต่ละตอนจะมีเหตุการณ์ย่อยๆ ที่สมบูรณ์ของมันเอง (ดูตอนไหนก่อนก็ได้) และแต่ละตอนจะเป็นจิ๊กซอว์ พัฒนาเรื่องไปข้างหน้าเรื่อยๆ

ผู้ชมได้ใช้ช่วงเวลาที่สะดวกของตนเอง ในการเสพ/รับประสบการณ์จากละคร ที่อาจเร่ิมรับชมไม่พร้อมกัน ในการอ่านบทประพันธ์ ก็มีการตัดสลับฉากอยู่ตลอดเวลา เพื่อความไม่น่าเบื่อและมีเสน่ห์ เล่าเรื่องอย่างซ่อนเงื่อนแยบคาย และชวนติดตามได้ตลอดไม่มีช่วงที่น่าเบื่อ

 

 

INTERTEXTUALITY” สหบท/สัมพันธบท

[n.] การเชื่อมโยงบางส่วน ดัดแปลง ตัวบทหนึ่ง กับอีกตัวบทหนึ่ง ที่สัมพันธ์กันหมายถึง ตัวบท (ละคร/นวนิยาย/พล็อต/โครงเรื่อง ส่วนประกอบของเรื่องมีความละม้าย สอดคล้อง คล้ายคลึงหรือสัมภันธ์บางส่วน/หลายส่วน จากเรื่องอื่นๆ ที่มีก่อนหน้านี้ หรือ เรื่องไหนๆ ที่ผู้ประพันธ์ประสบพบเจอมา

-intertextuality

สัมพันธบท (หรือ สหบท) อธิบาย ว่า “ทุกๆ ตัวบท (text) ในโลกนี้ ล้วนแต่สัมพันธ์กันทางใดทางหนึงทั้งสิ้น อาจเหมือนของเก่า อาจแปลงบางส่วน หรือ ทั้งหมด อาจดัดแปลงตรงโน้น แล้วไปเอาอีกส่วนมาจากอีกตัวบท มาประกอบแต่งขึ้นมา แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไป ตัวบทหนึ่งๆ ประกอบด้วยตัวบทเป็นร้อยเป็นพันมากมายนั่นเอง”

นั่นเป็นสาเหตุทำให้ ละครบุพเพสันนิวาส เป็นละคร ที่มีลักษณะสัมพันธบทกับละครและบทประพันธ์ ประวัติศาสตร์ มุขตลกบริโภคและวิถีชีวิตคนเก่าคนโบราณผสมกับคนดูสมัยนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน

ละครเรื่องนี้ มีทั้ง จับแพะ ชนแกะ แต่ไม่ได้มีความมั่ว กลับคงระเบียบของการจับแพะชนแกะไว้ได้อย่างน่าทึ่ง เอาตัวบทที่อื่น ที่โน่น ที่นั่น ที่นี่มาใส่ปะทะเจอะเจอกันในบทประพันธ์ (นวนิยายและบทโทรทัศน์) มาสัมพันธบทกันมากมาย เพราะผู้คน ผู้ดูสมัยใหม่ มีชุดประสบการณ์ที่หลากหลายรุ่นคน ดังนั้น การจะทำให้ละครเรื่องนี้ อินกับคนหมู่มาก ดูได้ทั้งลูกเล็กเด็กแดง จึงต้อง สร้างให้ตัวบททั้งหมด (โครงเรื่อง พล็อต ซีน ฉาก แอ๊คชั่น มุข สัมพันธ์สอดคล้องกันให้หมด)

เราจึงเห็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ถูกสอดแทรกขึ้นมาในละครตลอดทั้งเรื่อง ทั้งคำพูด เหตุการณ์ คำอุทาน ของนางเอก ที่ใส่มาตลอด

ละครเรื่องนี้ ดูๆ ไปแล้ว ก็คล้ายกับทวิภพ และละครพีเรียดย้อนยุคของไทยอีกมากมาย

กรณีนี้ จะเห็นการล้อเล่น ล้อเลียน ของผู้ประพันธ์ที่สอดแทรกให้เห็นร่องรอยเชื่อมสัมพันธ์กับตัวบทต่างๆ เช่น แนวคิดเรื่อง ทวิภพ แฝดพี่น้อง ผิดฝาผิดตัว และตัวบทข้อเท็จจริง ตำนาน พงศาวดาร ละครโทรทัศน์สมัยใหม่ พร้อมกับภาษาปัจจุบัน

เนื่องจากเกศสุรางค์(ในร่างการะเกด) เป็นรูปสัญญะ (รูปวิญญาณ) ที่ล่องลอยไปอยู่ในร่างการะเกด เธอจึงเป็นเสมือนตัวเชื่อมสัมพันธบท ของ ชุดประสบการณ์ ความรู้ ความหมายต่างๆ ทั้งในเชิงของ ภาษา(พิกลพิการ) และพฤติกรรม(แปลกๆ วิปลาส) กระทั่ง ภูมิความรู้ประวัติศาสตร์(ที่รู้จริงอ่านมา เรียนมา) อากับกริยาต่างๆ รวมเข้ากันจึงเป็นตัวเชื่อมบทต่างๆ ที่เราเห็นแปลกๆ ทั้งหมดในละคร (ทั้งมุขตลก คำอุธาน ภาษา กิจกรรม คำถาม คำเถียง คำรำพัน เหล่านี้ คนดูจะรู้สึกว่า ถ้าเราเป็นเกศสุรางค์แบบนั้นในร่างการะเกด ก็คงจะทำสิ่งต่างๆ ออกมาเช่นเดียวกัน

นี่ฉันย้อนกลับมาเหมือนทวิภพเลยเหรอ, งั้นร้ายแบบพี่ กิ๊กสุวัจนี ก็แล้วกัน, กินมะม่วงน้ำปลาหวานไหม รับรองว่าแซ่บ, ไปบอกกิ๊กตัวเองซี , แล้วแต่, คุณเพ่! หนังสือแบบเรียนจินดามณ, โอ้โหวัดพระปรางสามยอด, ไอ้เรืองเอ๋ย นี่ถ้าแกได้มาเห็นกับตา แกจะร้องโอ้วโหว ว้าว ฯลฯ  เหล่านี้คือตัวอย่างตัวบทที่ผู้เขียนนวนิยาย/บทโทรทัศน์ ได้สร้างสอดแทรก สร้างสัมพันธ์มาเป็นระยะๆ เพื่อให้คนดูได้รู้สึกซึมซับตัวบทที่หลากหลาย

 

 

NOSTALGIA”ภาวะหวนระลึกอดีต

[n.] ความอาลัยอาวรณ์ ความรู้สึกโหยหา, ความคิดถึง [syn.] longing

-nostalgia

เป็นแนวคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งของโพสต์โมเดิร์น คือ ผู้คนในสมัยนี้ จะไม่สามารถจินตนาการไปถึงโลกวันข้างหน้าได้อีก เนื่องจากสังคมผ่านพ้นยุคสมัยโมเดิร์นมาแล้ว การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี เครื่องใช้สยในชีวิตประจำวันมาถึงจุดสูงสุดของการพัฒนาให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย งานศิลปะ ประเพณี โบราณสถาน  อาคารสถาปัตยกรรม ไม่มีอะไรใหม่กว่านี้ไปอีกแล้ว (นอกจากเอาของเก่าผสมของใหม่) จึงทำให้มนุษย์สมัยหลังใหม่ เริ่มคิดถึงอดีตที่เคยผ่านพ้นมาและมองหาคุณค่า ความทรงจำบางอย่างที่อยู่ในอดีต (เพราะตนเองผ่านพ้นมา จากคนรุ่นแต่ละรุ่น และ สิ่งของ ร่อยรยของอดีตยังปรากฏให้เห็นให้ทราบ) การหวนระลึกอดีตจึงกลายเป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นโพสต์โมเดิร์น

สภาวะที่ “ผู้รับสาร/ผู้ดู/ผู้ชม” กลับไปสู่การคิดถึง ซึมซับ ระลึก นึกถึงเหตุการณ์ในวัยอดีต ซึ่งเคนพบเจอ ประสบการณ์นั้นผ่านโลกจริง หรือ

ผ่านจากโลกสื่อ เช่น โทรทัศน์ นวนิยาย คำเล่า นิทาน ตำนานหรือการเดินท่องชมโบราณสถานที่ต่างๆ จากนั้นมีความต้องการที่จะเข้าไปมีประสบการณ์นั้นๆในเชิงความทรงจำ/การจำลองขึ้นมาใหม่

ตัวอย่างเช่น งานวัดโบราณ ตลาดน้ำโบราณ งานคลายหนาวไออุ่นรักหรือการเดินตลาดโบราณ โบราณสถาน กินกาแฟโบราณ สวมเสื้อผ้าแต่งกายย้อนยุค เป็นต้น

เป็นสภาวะ “จำลอง” (simulation) ที่ผู้เสพสร้างขึ้นมาเพื่อจำลองความเสมือนจริง (hyperreality) ผ่านเกศสุรางค์ที่พาผู้ชมเข้าสู่โลกจำลอง (simulation) ที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ในปัจจุบัน แต่ผ่านการประกอบสร้างของสื่อ (นวนิยาย ละคร เพลง โฆษณา) เป็นการสร้างความเป็นจริงขึ้นมา

คูณูปการของละครเรื่องนี้ คือ ทำให้ “ความทรงจำประวัติศาสตร์ของชนชาติเป็นสิ่งที่มีชีวิต ทำให้อิฐหนึ่งก้อนที่หักพังบนรากฐานเจดีย์มีความหมาย ทำให้เรามองเห็นรสชาติของอาหารไทย ขนมต่างๆ ว่ามีที่มา ทำให้ความทรงจำอันห่างไกลของรากแก่นบรรพบุรุษมีคุณค่าแก่การหวนระลึกและตระหนักในความสำคัญของสิ่งที่เรีกยว่าประวัติศาสตร์”

 

 

HYPERREALITY” ภาวะเหนือจริง/จริงยิ่งกว่า

สิ่งที่เกศสุรางค์ในร่างแม่การะเกด ทำ คือ การท่องไปในโลกจินตนาการของผู้แต่งนวนิยาย ว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าตัวเรา ซึ่งเป็นคนไทยสมัยปัจจุบัน ได้ย้อนเวลากลับไปในโลกสมัยเก่า แล้วนำพาเอา ภาษา ความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไปปะทะใช้ชีวิตอยู่ในสมัยกระโน้นบ้าง”

-hyperreality

ละครเรื่องนี้ ฉายภาพ “สถานการณ์จำลอง/เสมือนจริง” (simulation) ให้กับผู้ชม ว่า “ถ้าคุณเป็นเกศสุรางค์ คุณจะทำอย่างไร จะเผชิญ และล้อเล่น ตามกระไดพลอยโจนไปได้สักกี่น้ำ)” ความรู้ของคุณ มีดีพอจะเอาตัวรอดในอดีตได้หรือไม่

ดังนั้นโลกของละครบุพเพสันนิวาส คือ การ “สร้างภาวะเหนือจริง” (hyperreality) ที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ในโลกปัจจุบัน ให้เป็นจริงใด้ในจินตนาการของผู้แต่ง ผู้สร้าง ผู้กำกับแล้วเราก็พกพาจินตนาการนั้นมาใช้จริงๆ กับในชีวิตจริง ปะปน ผสมมั่วกันไปหมด อย่างที่กล่าวให้เห็นในปรากฏการณ์หลัวที่ละครฉายไปแล้ว

“ฌอง โบดริยาร์ด” นักปรัชญาภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เจ้าของแนวคิดเรื่องไฮเปรอ์เรียลิตี้ อธิบายว่า ในยุคหลังใหม่ (post modern) นั้นมนุษย์เริ่มอยู่กับสภาวะความจริงที่สร้างผลิตจากสื่อมวลชนมากขึ้น บ่อยครั้งที่จินตนาการของมนุษย์นั้นเอง ที่สร้างสรรค์ผลงานที่ดูเป็นจริงเป็นจังทางจินตนาการมากขึ้นโดยไม่สนใจว่างานสร้างสรรค์นั้นอ้างอิงมาจากสิ่งที่มีตัวตนจริงๆ หรือไม่ เมื่อมนุษย์เสพงานมีประสบการณ์กับงานสร้างสรรค์ผ่านสื่อมวลชนนั้นแล้ว ก็เกิดสภาะวที่มีความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง

ภาวะเหนือจริง/จริงยิ่งกว่า หมายถึง ประสบการณ์ของผู้ชมที่เสพชุดความจริงนั้นแบบที่ความแท้จริง นั้นไม่ได้ดำรงอยู่ มีอยู่ในโลกความจริง เช่น ตัวละครแม่การะเกด เป็นจินตนาการของผู้ประพันธ์ แต่ผู้ชมอินกับละคร จนรู้สึกว่าแม่การะเกดมีตัวตนอยู่จริงๆ แต่ผู้ชม “ทึกทัก/เป็นจริงเป็นจัง” จนเกิดความรู้สึกเอาว่าแม่การะเกดนั้นเป็นจริงยิ่งกว่าที่ตัวละครสร้าง (คืออินมากจนเกิดความรู้สึกร่วมกันทั้งสังคมเอาว่า การะเกด มีตันตนจริงในทุกวันนี้ – ในความหมาย, ในความรู้สึกของตนร่วมกันกับคนอื่น)

ในโลกสื่อปัจจุบัน ผู้ชมผู้รับสาร ไม่จำเป็นต้องเสพประสบการณ์ความจริง (truth) จากของจริง (real) แต่สร้างประสบการณ์ความจริงจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้ (reality) ผ่านการผลิตของสื่อสารมวลชน (construct)

โลกอดีตไม่ได้มีดำรงอยู่ในปัจจุบัน ละครจึงทำหน้าที่ เป็น “โลกจำลอง” ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อห้ผู้ชม (ในกรณีนี้ คือ เกศสุรางค์) เข้าไปท่องในภพอดีตสมัยอันรุ่งเรืองของประเทศไทย และนำพาจินตนาการ และความเป็นคนรุ่นสมัยปัจจุบันลงไปท้าทาย ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในนั้นด้วย

ปรากฏการณ์คนไทยใส่ชุดไทยไปสถานที่ต่างๆ คือ การสร้างภาวะเหนือจริงของผู้ชมละคร ที่ถอดแบบจากเกศสุรางค์ในร่างแม่การะเกด โดย “พกพา” เอาจินตนาการจากละคร เพื่อเข้าไปมี+สร้างปฏิสัมพันธ์กับโบราณสถานต่างๆ ที่ยังคงเหลือซากให้ปรากฏเห็นร่องรอย เพื่อให้ตนเองเกิดความรู้สึก ณ ห้วงเวลาขณะหนึ่งว่า “จริงยิ่งกว่าจริง”

 

[จริงยิ่งกว่าจริง หมายถึง การที่ตนเองมายืน ณ / ใน ที่โบราณสถาน วัดวาอารามแห่งนี้ มันเกิดความรู้สึก จริง ยิ่งกว่าเมื่อวาน เมื่อวันก่อน ที่ตนเองเคยมายืนในที่วัดแห่งนี้ , วันนี้ (ด้วยชุดไทย ที่เป็นเสมือนรูปสัญญะหญิงไทย และ ความหมายของการะเกดที่พกพาสวมกอดใส่มาด้วยนั้น ทำให้ตัวฉันเสมือนย้อนเวลาเข้ามาซึมซํบความรู้สึกของก้อนอิฐ ของเจดีย์ ของต้นไม้ ใบไม้ ของกลิ่นดิน ได้เสมือนกลับไปอยู่ในภพอดีต เฉกเช่นเกศสุรางค์ที่ย้อนกลับไปอยู่ในร่างการะเกด]

 

ความรู้สึกจริงยิ่งกว่าจริง (hyperreality) ในปัจจุบัน นั้นสำคัญมาก ในทางการตลาด เรานำมันมาใช้ในการ ออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (ที่เรียกว่า user experience) เช่น ร้านอาหาร ร้ายกาแฟ โรงแรม หรือ งานบริการ ออกแบบสินค้าและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการออกแบบงานสร้างสรรค์ทางสื่อมวลชนในปัจจุบัน เนื้อหาที่ดี นอกจากจะมีสาระบันเทิงที่ทำหน้าที่ของมันเองแล้ว ยังต้องสามารถ “สร้างประสบการณ์ ก่อน ระหว่าง หลังรับชมได้ด้วย”

ดังนั้น การที่ละครบุพเพสันนิวาสเรื่องนี้ สามารถทำให้เกิดภาวะคนดูที่ “อิน/ฟิน” (จริงยิ่งกว่าจริง) จึงถือว่าประสบความสำเร็จมากในทางการออกแบบสร้างสรรค์งานสื่อ

 

 

บทสรุป : บุพเพสันนิวาส : สินค้าและอำนาจทางวัฒนธรรม

ปรากฏการณ์ความฮิตของละครเรื่องนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์ทางสังคม(สื่อบันเทิง) ที่มีค่าแก่การหาทางเดินต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ไทย มี “soft power” อำนาจเชิงอ่อน-อำนาจทางวัฒนธรรมได้ขึ้นมาบ้าง

การที่ผู้คนหันมาติดละครเรื่องนี้ ดูเรื่องนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง อาจเป็นความหมายเชิงซ้อนลึกๆว่า ต้องการหลบหนีจากข่าวสารความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ดูละครเรื่องนี้แล้ว สบายใจ สบายตา ตลกชวนหัว พาฝันโรแมนติก ช่วยนำพาตัวเราหลบหนีจากโลกความป็นจริงที่วุ่นวายและยุ่งเหยิง (เสือดำ ป้าขวาน นาฬิกาทหาร บ้านพักดอยสุเทพ โกงเงินคนจน นักการเมืองร้อยหน้า โกงเงินเด็ก ฯลฯ) ที่กำลัง ดราม่า และ ไร้ทางออก หันมาดูละครให้สบายใจและสุขใจกับอดีตอันรุ่งเรืองและโหยหาหวนความทรงจำสมัยพระนารายณ์

ละครเรื่องนี้ มีดีพอๆ กับแดจังกึม และผมสนับสนุนให้ช่อง 3 เจ้าของลิขสิทธิ์ ใช้มันในฐานะเป็นทูต เป็นรถถัง เป็นเครืองมือ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่นำพาอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไปสร้างสนามรบทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

บุพเพสันนิวาสทำให้ในเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยโพสต์เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ในวันพุธ-พฤหัสกระจุยกระจายเต็มนวิส์ฟีดส์ ทำให้หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชนฉกฉวยเอามุขตลก ฉากมาล้อเลี่ยนทำเนื้อหาแอบอิงละครเพื่อสอดแทรกสาระความรู้ของหน่วยงานและผลิตภัณฑ์ร้านค้าไปในตัว ทำให้นักเรียนนักศึกษาสนใจใคร่รู้ในวิชาประวัติศาสตร์ วรรณคดี มากขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่นานๆ ครั้งจะมีละครดีที่ทำเรื่องราวเช่นนี้ได้

ขณะที่มีการถกเถียง(ต้าน สนับสนุน) ในเชิงว่าละครเรื่อนี้คือการตอกย้ำอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในสังคมไทย ก็มันจะผิดอะไรไปเล่า ถ้าทำให้คนไทยเข้าใจในรากแก่นวัฒนธรรมของไทย ว่าผูกติดกับระบบกษัตริย์มาช้านาน ฝ่ายที่เป็นหัวก้าวหน้าจึงไม่ชอบละครเรื่องนี้ เพราะเข้าลักษณะรอมชอมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือนักวิชาการบางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ฉายฉวยไร้สาระที่คนไทยลุกขึ้นมานุ่งโจงกระเบนห่มสไบเดินเข้าวัด หรืออาจจะมีรหัสความหมายแฝง ด้วยซ้ำในเชิงอุดมการณ์ ว่า ละครเรื่องนี้กำลังปลูกฝังและส่งต่อค่านิยมรักชาติ รักสถาบันพระมหากษํตริย์ และทำให้คนไทยถูกกล่อม ขัดเกลาคติความคิดเรื่องระบอบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ไปอีกนาน ด้วยความหมายที่ซ่อนเร้นแฝงมาในละคร ว่าขนาดเกศสุรางค์ สาวหัวสมัยใหม่ ยังอิน ฟิน และถวิลหาความงามและเจริญแบบสมัยพระนารายณ์และเห็นคุณค่าความหมายที่งดงามของการปกครองบ้านเมืองที่ร่มเย็นเป็นสุขด้วยซ้ำไป

ฝั่งอนุรักษ์นิยม และ หัวก้าวหน้า ควรมองให้เห็นว่า ละครเรื่องนี้ คือ การฉายภาพสันติและความสงบสุขระหว่าง เก่าและใหม่ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ต่างๆ เหล่านี้ เป็นมุมมองที่น่าศึกษาและชวนให้นักเรียนได้มองเห็นละครลึก และกว้างมากกว่าแค่ที่มันฉายเฉพาะคืนวันพุธและพฤหัสบดี

การดูละครแล้วย้อนดูตัว ดูสิ่งที่ได้นอกเหนือจากสาระบันเทิง คือ ทัศนวิพากษ์ + ทัศนะวิจารณ์ ซึ่งก็คือกิจกรรมความสนุกทางปัญญาที่ผู้ดูสามารถเสกสรรค์อรรถรสผนวกรวมกันขณะดู ก็นับว่าเป็นความบันเทิงรื่นใจในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ดูแล้วได้คิดอะไรที่มากกว่าเพียงแค่ดู

ละครเรื่องนี้ก็นับว่าชวนให้คนดูละครได้คิดอะไรไปได้มากกว่าเดิม และเป็นการดูละครแล้วย้อนดูตัวเรา ดูสังคมเรา ดูรหัสและความหมายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นปัจจุบันได้อย่างดี

 

อ่าน: คันฉ่องส่อง (ปรากฎการณ์) บุพเพสันนิวาส / 2 : เทียบกระแส K-POP

………………………………………………………………………………………………………………………………….

Time-8ธาม เชื้อสถาปนศิริ
การศึกษา : ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์
ปริญญาโท นิเทศศาสตร์ (วารสารศาสตร์)

ทำงานในวงการนิเทศศาสตร์มาตั้งแต่เรียนปริญญาโท ด้านการศึกษา เฝ้าระวังปรากฏการณ์ทางสื่อและสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และมีผลงานบทความวิชาการลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารมาเนืองๆ

วิสัยส่วนตัว รักการดูละคร อ่านวรรณกรรม เสพงานสื่อบันเทิงหลากหลายไทยและเทศ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ในรายวิชาด้านการวิพากษ์สื่อ วิเคราะห์สื่อ และภูมิทัศน์สื่อมายาวนานกว่า 15 ปี ในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนมาแล้วเกือบทั่วประเทศ

ความเชี่ยวชาญ คือ การวิเคราะห์ ถอดรหัสสื่อ โดยใช้แนวคิดด้านภาษาศาสตร์ สัญวิทยา และโพสต์โมเดิร์น นอกจากนี้ ยังสนใจเรื่องความเปลี่นแปลงสื่อ ภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในสาขาด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์บูรณาการสื่อ

ติดต่อได้ที่ FB: Time Chuastspanasiri

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online