Structure Thinking เทคนิคการสอบสัมภาษณ์ให้ได้งานยุค 2020 โดย รวิศ หาญอุตสาหะ
Structure thinking ทำให้เรามีโอกาสได้งานมากขึ้นในยุคนี้
ผลพวงจากสภาวะทางวิกฤตครั้งใหญ่นี้ทำให้มีเหตุการณ์การปลดพนักงานเกิดขึ้นทั่วโลกจากบริษัทใหญ่ ๆ (เรียกกันได้ว่าเกิดขึ้นกันแบบรายวัน) ทำให้มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งงานหรือโยกย้ายงานเกิดขึ้นมาก
อย่างในช่วงนี้ที่บริษัทผมเองก็มีการเปิดรับสมัครเพิ่มกำลังคนในหลายตำแหน่งทำให้ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้คุยกับคนเยอะมากขึ้นเป็นพิเศษ เลยอยากเล่าสู่กันฟังว่า ทำไมวิธีแบบStructure thinkingนั้นมีความสำคัญและมันช่วยให้คุณมีโอกาสได้งานมากขึ้นได้อย่างไร
สำหรับคนที่อ่านบทความนี้ถือได้ว่าเป็นการสปอยการสัมภาษณ์ของผมเลยก็ว่าได้ เพราะเรื่องที่จะเล่าในบทความนี้เป็นวิธีคิด กระบวนการ และคำถามที่ผมมักจะใช้ในการสัมภาษณ์งานจริง ๆ
โดยหลังจากที่ได้พูดคุยทำความรู้จักกันแบบพอประมาณแล้ว ถัดมาก็จะเป็นการพูดคุยถึงเรื่อง Skill ไม่ว่าจะเป็น Soft / Hard / Meta หลังจากนั้นผมจะเริ่มยิงคำถามที่บางคนอาจจะมองว่าแปลก ๆ สักหน่อยให้ผู้สมัครตอบครับ
คำถามทดสอบวิธีการคิดในเชิงโครงสร้าง “Structure thinking”
ไม่ว่าผู้สมัครจะมาสมัครตำแหน่งอะไร หรือทำหน้าที่อะไร ผมมักจะถามคำถามแปลก ๆ อย่างเช่น คุณคิดว่าในประเทศไทยขายผัดไทยได้วันละกี่จาน หรือมูลค่าตลาดของบางสิ่งนั้นมีเท่าไร หรือกาแฟช่วงเช้ากับเย็นยอดขายต่างกันไหม เพราะอะไร
และผมก็จะไล่ถามต่อจากสิ่งที่เขาตอบมาไปเรื่อย ๆ ครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากผมเริ่มต้นด้วยคำถามว่า… รางรถไฟในเยอรมนีมีกี่สาย (ซึ่งสารภาพตามตรงเลยนะครับ ผมก็ไม่รู้) แต่สมมุติว่าเขาตอบมาว่า 100 สายผมก็จะถามต่อว่า เพราะอะไรถึงมี 100 สาย, ที่มาของตัวเลขนี่คืออะไร, ประเมินจากอะไร, สามารถเป็นแบบอื่นได้ไหม และก็ไล่ถามไปเรื่อยๆ
อ้อ อย่าลืมนะครับ… ระหว่างสัมภาษณ์ให้เตรียมกระดาษและปากกาไว้ให้ผู้สมัครด้วยจะดีมากเพราะพอเราไล่ถามไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มออกมาเป็นโครงสร้างและที่มาของคำตอบที่เขาตอบครับ โดยส่วนใหญ่ผมจะใช้เวลาในพาร์ตคำถามนี้ประมาณ 10-20 นาทีจนได้คำตอบที่น่าพอใจ (หรือทางผู้สมัครได้รีดความคิดออกมาจนหมดแล้ว) ก็เป็นอันสิ้นสุดครับ
แต่รู้ไหมครับว่า.. คำตอบจริง ๆ ของคำถามเหล่านี้ “ไม่มี” ครับ ถึงมีก็หายากมาก ๆ ต้องทำ Research แบบสเกลใหญ่มากเพื่อที่จะได้คำตอบที่ถูกต้องจริง ๆ (คือส่วนใหญ่มักจะเป็นคำถามที่ผมเช็กมาแล้วว่าไม่มีใน Google นั้นเองครับ^^)
ถ้าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแล้วผมจะถามเรื่องเหล่านี้ทำไมกันล่ะ… คำตอบนั้นง่ายมาก ๆ ครับ นั่นคือ ผมอยากรู้ครับว่า เขามีStructure thinkingหรือเปล่า
ซึ่งคำถามที่ผมได้รับนั้นก็หลากหลาย และบางคนก็ยังสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะครับ
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าทีมงานกำลังทำโปรเจกต์ A (สมมุติว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง) คนที่มี “Structure thinkingที่ดีจะเป็นคนที่คิดละเอียดคิดเป็นระบบมองภาพโครงสร้างทั้งหมดที่เราต้องใช้ในการทำโปรเจตก์ออกเช่นพัฒนาสินค้า, จำหน่าย, การตลาดหรือสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องและยิ่งถ้าหากคนกลุ่มนี้มีข้อมูลในหัวเยอะคนกลุ่มนี้จะยิ่งสามารถ “Connect the dots” หรือเชื่อมจุดสำคัญต่าง ๆ แล้วประกอบร่างออกมาเป็นสินค้าหรือบริการที่บางครั้งเราเองก็อาจคิดไม่ถึง
จริงอยู่ว่าที่สุดแล้วเราไม่ได้ใช้กึ๋นในห้องประชุมในการตัดสินใจเพราะทุกวันนี้เราใช้ Data แต่ก่อนที่เราจะได้ Data มา ที่มาของโปรเจกต์ส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดจากห้องประชุม การได้คุยกับผู้คน คุยกับลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์แล้วไปเจอกับ “trigger” หรือ “insight” บางอย่างที่นำมาต่อยอดได้
สำหรับใครที่ต้องสัมภาษณ์คนบ่อย ๆ อาจจะลองเอาสิ่งนี้ไปใช้ในการสัมภาษณ์ครั้งถัดไปดูนะครับ แล้วคุณอาจจะได้คนร่วมทีมที่มีกระบวนการทางความคิดที่ดีอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ
สุดท้าย ผมขอฝากคำถามไว้ให้ลองคิดเล่น ๆ ดูนะครับ
ผัดไทยในประเทศไทยขายวันละกี่จานและเพราะอะไร? ครับ… ^_^
I
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



