Sanrio รายได้ เท่าไร ? วิเคราะห์กลยุทธ์เจ้าพ่อคาแรคเตอร์กับความท้าทายที่อาจไม่น่ารักเหมือนคิตตี้ แต่ต้องฝ่าไปให้ได้

“ซานริโอ้” อาณาจักรคาแรคเตอร์การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีคาแรกเตอร์สุดโด่งดังเป็น “เฮลโล คิตตี้” ถึงเวลาผลัดใบในปีครบรอบก่อตั้งปีที่ 60

“ชินทาโร่ ทสึจิ” ชายผู้ผันตัวออกจากงานราชการมาก่อตั้งบริษัทในปี 1960

เขาได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ Yamanashi Silk Center ด้วยเงินทุน 1 ล้านเยน เป็นบริษัทเกี่ยวกับผ้าไหมและรองเท้าแตะเดินชายหาด

เขาตั้งใจที่จะผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของขวัญของคนญี่ปุ่น จากนั้นก็เริ่มมาผลิตเป็นของขวัญ โดยออกแบบสินค้าลายแรกเป็นสตรอว์เบอร์รี่ นับเป็นคาแรคเตอร์ตัวแรกของซานริโอ้

ปี 1973 เขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “Sanrio” ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ปี 1974 “เฮลโล คิตตี้” คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนแมวเหมียวถูกปล่อยออกมาครั้งแรก ที่เป็นคาแรคเตอร์แม็กเน็ตสร้างรายได้ และดึงดูดใจลูกค้าผู้หญิงได้เป็นอย่างดี และยังฮิตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

อาณาจักรคาแรคเตอร์ของซานริโอ้ไม่เพียงแต่ถูกใจในตลาดญี่ปุ่น แต่ชินทาโร่เองยังได้ขยับขยายไปยังต่างประเทศ ที่แรกที่เขาไปคือสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ไปยุโรป และในเอเชีย

ในระหว่างนั้นก็ยังมีตัวคาแรคเตอร์ออกมาใหม่เรื่อย ๆ เพื่อสร้างสีสัน และเติมรายได้ให้กับบริษัท และไม่เพียงแต่มีสินค้าเป็นของใช้ เครื่องเขียน กิฟต์ช็อปต่าง ๆ

คาแรคเตอร์ยอดนิยมของซานริโอ้

ปี 1990 ชินทาโร่ยังได้เปิดธีมปาร์คสร้างเป็นอาณาจักรความสนุกของเครือซานริโอ้อีกด้วย

สิ่งที่ทำให้ซานริโอ้เติบโตนอกจากจะมาจากการขายสินค้าที่ตัวเองผลิตเองแล้ว คือ การขายไลเซนส์ลิขสิทธิ์ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก

ปี 2020 นี้นับเป็นปีที่ครบรอบ 60 ปี ของอาณาจักรซานริโอ้ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และครั้งแรก

ด้วยการประกาศลงจากตำแหน่งของ “ชินทาโร่ ทสึจิ” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ ส่งไม้ต่อให้กับหลานชายอย่าง “โทโมคุนิ ทสึจิ” ในวัย 31 ปี  (มีอายุน้อยกว่าเฮลโล คิตตี้ถึง 14 ปี) ที่ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอาวุโสขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน (มีผล 1 ก.ค. นี้)

ภารกิจใหญ่ของ ‘โทโมคุนิ’ ที่จะเข้ามากุมบังเหียนอาณาจักรซานริโอ้คือ การพาองค์กรฝ่ามรสุมจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, มรสุมจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา

รวมถึงความนิยมของคาแรคเตอร์ที่มีอยู่ลดลงทั้งในและต่างประเทศจนนำมาสู่ Sanrio รายได้ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะพิษจากโควิด-19 ที่ทำให้กำไรประจำปีล่าสุด (2019/2020) ลดลงถึง 95%

 

คาแรคเตอร์มากมายแต่รายได้ลดลงทุกปี

 

ปี 2017 : 62,682 ล้านเยน (18,1000 ล้านบาท)
กำไรสุทธิ : 6,476 ล้านเยน (1,870 ล้านบาท)

ปี 2018 : 60,194 ล้านเยน (17,381 ล้านบาท)
กำไรสุทธิ : 4,929 ล้านเยน (1,423 ล้านบาท)

ปี 2019 : 59,211 ล้านเยน (17,098 ล้านบาท)
กำไรสุทธิ : 3,881 ล้านเยน (1,120 ล้านบาท)

ปี 2020 : 55,239 ล้านเยน  (15,951 ล้านบาท)
กำไรสุทธิ : 192 ล้านเยน (55 ล้านบาท)

 

หมายเหตุ: ปิดปีงบ ณ 31 มี.ค.

ที่มา: asianikkei

แม้แบรนด์จะอยู่ครองใจแฟน ๆ มา 60 ปี แต่ความท้าทายในตลาดคาแรคเตอร์นี้ Marketeer มองว่า

1. การแข่งขันของตลาดคาแรคเตอร์เองที่รุนแรงในแง่การมีตัวคาแรคเตอร์ใหม่  ๆ เพิ่มขึ้นทั้งในบริษัทเดียวกันเอง และคู่แข่งต่างบริษัทที่ต่างต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ

2. ยุคนี้น่ารักอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องมีสตอรี่ หากลองสังเกตคนที่เป็นสาวกของคิตตี้จริง ๆ จะอยู่ในช่วงวัยตั้งแต่ 25-30 ปีขึ้นไป ที่เติบโตมาพร้อมกับคิตตี้มากกว่าเด็กสมัยใหม่อายุไม่กี่สิบขวบ

ที่บอกว่าต้องมีสตอรี่คือ การมีเรื่องราวให้น่าติดตาม อย่างเช่นมีการ์ตูนเป็นเรื่อง ๆ มีหนังสือการ์ตูนให้อ่าน มีดีเทลให้เอามาเล่า มาพูดต่อกันในปัจจุบันได้

ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีมองว่า “วันพีช” คาแรคเตอร์ของกลุ่มเด็กช์ หนึ่งในผู้เล่นในตลาดคาแรคเตอร์ญี่ปุ่น ที่ยังมีกลุ่มฐานแฟนคลับทุกเพศทุกวัย

เพราะเหตุนี้ มองว่าซานริโอ้จึงยังเข้าไม่ถึงฐานแฟนคลับของสาวกคาแรกเตอร์นั้น ๆ

3. ของที่ออกใหม่ของซาริโอ้ยังคงเป็นอะไรที่ซ้ำเดิม ลายเดิม หรือคล้ายของเดิม ๆ ที่มองว่าอาจจะไม่สามารถดึงดูดใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้หลาย ๆ รอบ

4. แม้จะโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วทั้งโลก แต่ยอดขายจากตลาดต่างประเทศกลับลดลงเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างในไทยเอง เราแทบจะไม่เห็นอีเวนต์ทางการตลาดที่จะช่วยเร่งรายได้และยอดขายของซานริโอ้เลย นอกจากจะเห็นแค่อีเวนต์ลดราคาสินค้าในห้างเครือเซ็นทรัลที่แทบลดราคาอยู่ตลอดเวลา

5. รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และชะลอการตัดสินใจที่จะซื้อสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยเหล่านี้

น่าจับตาว่ามิชชั่นใหญ่มิชชั่นแรกนี้ซีอีโอคนใหม่จะพาซานริโอ้เดินไปในทิศทางไหนต่อไป

 

// sanrio,asianikkei

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online