การรีแบรนดิ้ง คือหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่ไม่ใช่เฉพาะการปรับภาพลักษณ์แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ หรือเปลี่ยนโลโก้ตราสินค้าก็รวมอยู่ในนี้ด้วย 

ปัจจัยอะไรบ้างคือสัญญาณบ่งชี้ว่า แบรนด์ ควรถึงเวลารีแบรนด์แล้ว 

– เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร/ควบรวมกิจการ
– เพิ่มความแข็งแรงให้กับแบรนด์
– กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนเพิ่มขึ้น
– แบรนด์เดิมที่มีอยู่ถูกกลืนไปกับตลาด ไม่ประสบความสำเร็จ
– การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจ คู่แข่งทางการค้าที่อาจจะมีชื่อซ้ำกัน
– การสร้างจุดยืนใหม่ให้กับแบรนด์

 

Marketeer ชวนดูแบรนด์ที่รีแบรนดิ้งด้วยการเปลี่ยนชื่อ (บางแบรนด์เปลี่ยนโลโก้ด้วย) มาให้ดูกัน

ตราช้างเอสซีจี    

ถ้าหากยังจำได้ย้อนไปปี 2553 เอสซีจีเคยปรับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง “ตราช้าง” มาแล้วครั้งหนึ่ง

ด้วยการรวมแบรนด์วัสดุก่อสร้างแบรนด์ย่อย 15 แบรนด์ที่ใช้โลโก้แตกต่างกัน ปรับให้มาใช้โลโก้เดียวกัน คือรูปช้างอยู่ในหกเหลี่ยมสีแดง

มาในปี 2558 เอสซีจี ได้ปรับสินค้าวัสดุก่อสร้าง “ตราช้าง” ให้มาอยู่ในชื่อแบรนด์ “เอสซีจี” แต่โลโก้ยังคงเดิม

เหตุผลในการปรับชื่อในครั้งนั้นเพราะเอสซีจีต้องการวางกลยุทธ์และเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดอาเซียน และต้องการให้แบรนด์ตราช้างเป็นแบรนด์เอสซีจีในทุกประเทศที่เข้าไปทำตลาด

เพราะในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และพม่า เข้าไปทำตลาดในชื่อแบรนด์เอสซีจี มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ใช้แบรนด์สินค้า “ตราช้าง” คือ ไทย และลาว
  

ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อเงินติดล้อ   

อุบัติเหตุแบรนด์ที่เกิดขึ้นกับคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ที่ทำให้ผู้บริโภคสับสนว่าตกลงแล้ว เงินติดล้อ, ศรีสวัสดิ์ คือแบรนด์เดียวกันหรือไม่

แม้จะเคยมีเจ้าของดั้งเดิมเป็นคนเดียวกันก็ตาม แต่ทั้งสองแบรนด์ตอนนี้คือคนละเจ้ากัน

“ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ที่ตอนนี้อยู่ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา แม้ก่อนหน้านี้จะเคยเปลี่ยนโลโก้คำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ให้เล็กลง หรือ กากบาททับ แล้วคนก็ยังเข้าใจผิดอยู่ดี

ปี 2561 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่ ตัดคำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ทิ้งเหลือเพียงคำว่า “เงินติดล้อ” เพื่อให้มีโพสิชั่นที่ชัดเจนมากขึ้น

เมืองไทยลิสซิ่งเมืองไทย แคปปิตอล  

เมืองไทยลิสซิ่ง ของชูชาติ เพ็ชรอำไพ มหาเศรษฐีอันดับ 10 ของประเทศ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็นเมืองไทย แคปปิตอล เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้าใจถูกต้องว่าบริษัทประกอบธุรกิจ “สินเชื่อไม่ใช่ “เช่าซื้อ

สวนสยาม-สยามอะเมซิ่งพาร์ค

เป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ 39 ปี ของทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาบริหารต่อจาก ‘ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ’ ด้วยการเปลี่ยนชื่อที่ทุกคนรู้จักในชื่อ สวนสยาม มาเป็น “สยามอะเมซิ่งพาร์ค เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย 

จากสวนสยามที่คนรู้จักว่าคือ ทะเลกรุงเทพ มาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ใช่มีแค่สวนสนุกและสวนน้ำ 

Shop 1781-RS Mall

เฮียฮ้อ ปรับแบรนด์ครั้งใหญ่จากโฮมช้อปปิ้ง Shop 1781 มาเป็นชื่อ “RS Mall” ทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจเพลงมาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซแบบเต็มตัว และใช้ความแข็งแกร่งของชื่ออาร์เอสเข้าสู้ 

เคที ซีมิโก้กรุงไทยซีมิโก้

จากบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารให้เหตุผลว่า เป็นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และแสดงความชัดเจนด้านภาพลักษณ์การเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงไทย  

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้มั่นคง สร้างความคล่องตัวให้กับบริษัทอีกด้วย 

GET-Gojek 

ล่าสุดของแบรนด์ที่รีแบรนด์ในวันนี้ GET ผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2562 ที่คนจดจำได้ในโลโก้สีเหลืองมะนาว ที่วันนี้ประกาศเตรียมรีแบรนด์ภายใต้ Gojek และจะดำเนินงานในชื่อ Gojek โดยใช้จุดแข็งและศักยภาพของ Gojek มาขับเคลื่อนให้สามารถขยายธุรกิจและดำเนินธุรกิจระยะยาว



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online