ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายประเทศนั้นอาจดูเสมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดของวิกฤตในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อไปแล้ว แต่หลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย และ อินเดีย จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก ซึ่งก็หมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในระดับโลกอีกครั้งเป็นรอบที่สอง หรือแม้กระทั่งรอบที่สามก็เป็นได้ ในบทความนี้คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในมิติของสังคมสูงวัยซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว อาทิ ประเทศญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศไทย

อะไรคือสังคมสูงวัย? สังคมสูงวัยหมายถึงสังคมที่สัดส่วนประชากรสูงวัย (บางประเทศใช้อายุ 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่บางประเทศใช้อายุ 65 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรทั้งหมดอยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัยเป็นสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อผลักดันให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง สวนกระแสกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงวัย นอกจากนี้ สังคมสูงวัยยังหมายถึงสังคมที่ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องพึ่งระบบประกันสังคมของรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับหลายประเทศและรวมถึงประเทศไทย ปัญหาสังคมสูงวัยนั้นมีมาก่อนวิกฤตโควิด-19 มาได้สักระยะแล้ว แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดนั้นเปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งให้ปัญหาสังคมสูงวัยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกในหลายประเด็น ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ในมิติของสังคมสูงวัยจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกมาตรการในการรองรับและบรรเทาผลกระทบที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการแรกคือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิตในส่วนของแรงงานสูงวัย เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิต โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ อาชีพจำนวนมากไม่สามารถประยุกต์ใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรูปแบบการทำงานของอาชีพนั้นจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อให้งานออกมาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่ดี แม้ว่าตอนนี้หลายประเทศได้เริ่มลดระดับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมไปบ้างแล้ว แต่กลุ่มแรงงานสูงวัยก็มักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปทำงาน ทั้งจากความสมัครใจของผู้สูงวัยเอง หรือจากนโยบายของรัฐ (อาทิ กรณีที่ผู้ว่ารัฐนิวยอร์กแนะนำให้เริ่มต้นการเปิดเมืองโดยเริ่มจากแรงงานวัยหนุ่มสาวก่อน) เพราะกลุ่มแรงงานสูงวัยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่น ดังนั้น แรงงานสูงวัยอาจจะต้องรอจนถึงวันที่การผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายถึงจะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้งก็เป็นได้ และหากอ้างอิงข้อมูลจาก The Census Population Survey ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าในปี พ.ศ. 2562 แรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปีนั้นมีมากกว่า 36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มาจากการจ้างงานในกลุ่มประชากรสูงวัยทั้งนั้น ดังนั้นประชากรสูงวัยที่ยังมีสุขภาพดี มีการศึกษาดี และมีประสิทธิผลในการทำงานสูง ก็ยังถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ งานวิจัยชั้นนำทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นยังพบว่า การตกงานเป็นเวลานานของผู้สูงวัยจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Unemployment Scarring” หรือ ปรากฏการณ์แผลเป็นจากการตกงาน ซึ่งเกิดจากการที่แรงงานสูงวัยได้สูญเสียทักษะที่สำคัญในการทำงานไปเนื่องจากการตกงานเป็นระยะเวลานาน และอาจจะทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกเลย ทั้งนี้ ก่อนวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยกลับเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพื่อลดผลกระทบจากการขาดรายได้ของผู้สูงวัยและลดภาระของรัฐสำหรับค่าใช้จ่ายจากสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้สูงวัย แต่ทว่าการแยกผู้สูงวัยออกจากภาคเศรษฐกิจนั้นจะทำให้มาตรการส่งเสริมผู้สูงวัยในตลาดแรงงานไม่สามารถทำได้

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่สองคือ ปัญหาหนี้สาธารณะจากการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับที่สูงก็มักจะมีค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยในระดับที่สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การรับมือวิกฤตโควิด-19 นั้นอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับสูงจะมีอัตราการเสียชีวิตหรือการป่วยในขั้นวิกฤตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในระดับที่สูงมากเช่นกัน อาทิ ประเทศอิตาลี ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัย สูงถึงร้อยละ 23 และประเทศสเปน ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงถึงร้อยละ 19.6 ประเทศเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในระดับที่สูงมาก โดยอ้างอิงรายงานของเว็บไซต์ worldometers ซึ่งรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ประเทศอิตาลีและสเปนมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาชีวิตพวกเขาไว้ได้ก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ กรณีสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมาย The Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act หรือ CARES Act ที่มีงบประมาณช่วยเหลือกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และถ้าหากอ้างอิงข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะพบว่า ถ้ารวมทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้ผ่านงบประมาณช่วยเหลือจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมกันแล้วกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว (Battersby และคณะ, 2020)

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่สาม คือ ปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัยจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยสาเหตุสำคัญที่จะต้องแยกผู้สูงวัยก็เป็นเพราะผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าประชากรในวัยอื่น โดยงานวิจัยของ Armitage และ Nellums (2020) พบว่า การที่ผู้สูงวัยถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าและมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่อาจจะตามมาอีกหลายประการ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อย “ไม่มีลูกหลาน” คอยดูแล ผู้สูงวัยจำนวนมากที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือผู้สูงวัยจำนวนมากที่ถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะไม่มีลูกหลานคอยช่วยเหลือดูแลทั้งทางด้านการเงินและทางด้านจิตใจ

บทสรุป

โดยปกติสังคมสูงวัยถือเป็นสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อผลักดันให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว การมาของวิกฤตโควิด-19 นั้นจะยิ่งฉุดให้ประเทศต้องดิ้นรนเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านความสามารถในการผลิตที่ลดลงในส่วนของแรงงานสูงวัย ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากการรับมือวิกฤตโควิด-19 หรือปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยที่เลวร้ายลงจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี  การยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการรับมือปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน

 

บทความนี้เขียนโดย

  1. ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน
  2. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
  3. ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์
  4. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ
  5. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส

คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online