วัตถุดิบและส่วนผสม

1. ทีมงานประมาณ 200 คนต่อการถ่ายทำ 1 ตอน

2. กล้อง 10 ตัวต่อการถ่ายทำ 1 ตอน

3. ทีมตัดต่อ 10 คน ในการตัดต่อ 1 ตอน

4. เวลาในการถ่ายทำประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน

5. พื้นที่ของ MasterChef Kitchen ขนาดประมาณ 2,400 ตารางเมตร ที่ใช้งบลงทุนราว 20 ล้านบาท

วิธีทำ

1

กิติกร เพ็ญโรจน์ ไม่ใช่แค่ผู้บริหารที่อยู่บนหอคอย เพราะนอกจากจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Heliconia H Group ผู้ได้รับสิทธิ์ในการผลิตรายการ MasterChef ในประเทศไทย

กิติกรยังเปรียบเสมือนหัวหน้าเชฟที่ดูแลการผลิตรายการ MasterChef Thailand มาตั้งแต่ซีซั่นแรก ที่ดูแลตั้งแต่ขั้นตอน Pre Production ไปจนถึง Post Production

โดยก่อนจะมาทำ MasterChef เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรายการทีวีในบ้านเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็น True Academy Fantasia, The Trainer ปั้นฝันสนั่นเวที, Killer Karaoke Thailand หรือรายการที่เป็นเหมือนรุ่นพี่ของ MasterChef อย่างเชฟกระทะเหล็ก

2

หากย้อนดู Portfolios ของ Heliconia H Group จะเห็นได้ว่ารายการส่วนใหญ่นั้นเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ

กิติกรบอกกับเราว่า

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สังเกตไหมทำไมรายการที่มีอยู่ในบ้านเราเหมือนกันแทบจะทั้งหมดเลย ก็เพราะเรามัวแต่ก๊อบกันเอง พอเห็นว่าของใครดีก็เอามาทำบ้าง มันก็เลยวนอยู่อย่างนี้

ทั้ง ๆ ที่โลกนี้มีรายการที่น่าสนใจเยอะมาก ผมเลยอยากจะเปิดกว้างเอารายการดี ๆ มาให้คนไทยดู นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Heliconia ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์แล้วมาผลิตให้เข้ากับความชอบของคนไทย

ที่ตัดสินใจซื้อ ไม่ใช้วิธีก๊อบเขามาแล้วเอามาดัดแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ เพราะผมอยากให้เกียรติ อยากให้ค่าความคิดสร้างสรรค์กับเจ้าของไอเดีย”

3

กิติกรบอกกับเราว่า การซื้อรายการต่างประเทศนั้นมีข้อดีมากมาย นอกจากจะช่วยการันตีว่ารายการรูปแบบนี้จะได้รับความนิยมจากคนดูแล้ว

นี่ยังเป็นเหมือนการซื้อ Shortcut ที่ทำให้ตัวเขาเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง และไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำกันเองจะออกมาสำเร็จหรือไม่

ส่วนข้อเสียมีแค่ข้อเดียวคือแพง เพราะไม่ใช่ว่าจ่ายค่าลิขสิทธิ์ครั้งแรกครั้งเดียวแล้วจบ แต่ยังต้องจ่ายลิขสิทธิ์ในการออกอากาศต่อตอนด้วย

และการทำรายการแบบนี้ ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ต้องส่งทีมมาดูด้วยว่าคุณภาพของโปรดักชั่นที่ทำนั้นได้มาตรฐานไหม ซึ่งนั่นก็หมายถึงเงินทั้งนั้น

อย่าง MasterChef Kitchen ที่เราเห็นกันในทีวีเนี่ยใช้เงินลงทุนราว ๆ 20 ล้านบาทเลยทีเดียว

4

เบื้องหน้ามันคือรายการ MasterChef Thailand ที่มีความยาวราว ๆ 80 นาที

ส่วนเบื้องหลังมันคือการถ่ายทำที่กินเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนถึงเที่ยงคืน ที่ในบางครั้งบางตอนลากยาวไปถึงตี 3 เลยก็มี

เหตุผลที่ต้องใช้เวลาถ่ายทำมากขนาดนี้ เพราะการถ่ายทำ 1 ครั้งคือ 1 เทปที่ออนแอร์ ไม่ใช่ถ่ายแข่งรอบแรก อีกวันค่อยมาถ่ายแข่งรอบสอง แล้วเอาเทปมาตัดรวมกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ

กิติกรบอกกับเราว่าที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะไม่อยากเว้นเวลาในการแข่งขันแต่ละช่วงไว้นานเกินไป ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อความรู้สึกร่วมของผู้แข่งขันด้วยนั่นเอง

5

MasterChef Thailand แต่ละตอนใช้เวลาในการถ่ายทำล่วงหน้าก่อนออกอากาศประมาณ 2-3 สัปดาห์

1 วันถูกใช้ไปกับการถ่ายทำ

1 สัปดาห์ถูกใช้ไปกับการตัดต่อ draft แรก

และอีก 1 สัปดาห์สุดท้ายถูกใช้ไปกับการตัดต่อตัว Final

โดยปกติแล้วรายการทีวีโชว์จะใช้คนตัดต่อราว ๆ 2-3 แต่ MasterChef Thailand นั้นใช้คนตัดราว ๆ 10 คนเลยทีเดียว

ที่ต้องใช้คนตัดเยอะขนาดนี้เป็นเพราะเมื่อกล้องมี 10 ตัว แล้วใช้เวลาถ่าย 15 ชั่วโมง นั่นเท่ากับว่าใน 1 เทปจะมีฟุตเทจที่เยอะถึง 150 ชั่วโมง

หากใช้คนตัดต่อน้อยกว่า 10 คน คงไม่ทันต่อการออกอากาศในช่วงเย็นของวันอาทิตย์เป็นแน่

6

อีกหนึ่งสูตรลับที่ทำให้รายการ MasterChef Thailand มีรสชาติกลมกล่อมคือวิธีการตัดต่อ

กิติกรกำหนดกับทีมไว้ว่าใน 1 ช็อตจะต้องแช่ไม่นานเกิน 3 วินาที และนานสุดได้แค่ 5 วินาทีเท่านั้น (ไม่เชื่อก็ลองเปิดรายการ MasterChef Thailand ย้อนหลังดูก็ได้)

“เรียกว่าเป็นกฎเหล็กในการตัดต่อของเราเลยก็ว่าได้ เพราะรายการ Reality ต้องมีความกระชับฉับไว การแช่ภาพนานเกินไปจะทำให้เกิดความรู้สึกน่าเบื่อ

มันก็เลยเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้กล้องในการถ่ายทำถึง 10 ตัว เพราะเราอยากเก็บทุกอารมณ์ ทุกสีหน้า ทุกความรู้สึกเอาไว้ให้ได้ทั้งหมด แล้วเอามาตัดต่อรวมกัน

ซึ่งถ้าตัดเวลาโฆษณาออกไป รายการจะมีความยาว 80 นาที ลองเอา 80 คูณด้วย 60 แล้วหาร 3 เท่ากับว่า 1 รายการของผมมีทั้งหมด1,600 คัต

นี่แหละคือความสะบักสะบอมในการทำงานของพวกเรา”

7

ในซีซั่นล่าสุดอย่าง MasterChef All Stars หลายคนรู้กันดีแล้วว่าหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่เป็นตัวเก็งและมีแฟนคลับคอยเชียร์เป็นจำนวนมากอย่าง ‘ริซ่า’ ต้องออกจากการแข่งขัน

เราตั้งคำถามกลับไปว่าในวันที่ริซ่าออก วันนั้นเขามีความกังวลในใจในเรื่องเรตติ้งของรายการบ้างไหม

สิ่งที่เขาตอบกลับเรามาก็คือ

“ต้องอธิบายให้ฟังแบบนี้ก่อนว่า หัวใจสำคัญของการทำรายการ Reality Show ก็อยู่ที่ชื่อมันเลยนั่นคือความ Real

บางคนทำ Reality แล้วคิดว่าคนดูโง่ ไปยัดสคริปต์ใส่ปากผู้เข้าแข่งขัน ผมถามจริง ๆ มีหรือที่คนดูในยุคนี้จะดูไม่ออก

อย่าง MasterChef Thailand ยิ่งยัดสคริปต์ไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้แคสเขามาจากการเป็นนักแสดง เราแคสเขามาจากคนทำอาหาร ถ้าไปยัดสคริปต์ให้พูดทำยังไงมันก็ดูเฟก

ละครกับกับ Reality มันคนละศาสตร์กัน ละครคือเขียนสคริปต์ให้คนเล่นตาม ส่วน Reality คือการเขียนโจทย์ขึ้นมา แล้วเรามีหน้าที่ไปจับอารมณ์จับความรู้สึกว่าตอนที่ผู้เข้าแข่งขันเห็นโจทย์แบบนี้เขาจะรู้สึกยังไง มีวิธีแก้ปัญหาแบบไหน

สิ่งที่ผมพูดมามันก็ย้อนกลับไปตอบคำถามเรื่องริซ่า คือมันก็ต้องเป็นไปตามกฎตามความเป็นจริงว่าใครทำพลาดก็ต้องออก

จะมาคิดว่าคนไหนมีกระแสแล้วดึงเช็งให้อยู่ต่อ คนไหนไม่มีกระแสแล้วให้ออกมันไม่ได้ อย่างที่บอกอย่าดูถูกคนดู คนดูเขาไม่ได้โง่ ถ้าไปทำแบบนั้นเขาก็จะรู้ว่าอ๋อ รายการมันดึงนี่หว่า แล้วพอเป็นแบบนี้เยอะ ๆ เขาก็จะไม่เชื่อในผลการตัดสิน

กลับกันถ้าเราตัดสินไปตามความจริง แล้วพอผลลัพธ์คาดเดาไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้คนดูลุ้นมากขึ้นด้วยว่าสุดท้ายแล้วใครจะออกหรือใครจะได้แชมป์

อีกมุมหนึ่งนะ การทำรายการ Reality ที่เกี่ยวกับการแข่งขันมันไม่ใช่แค่การทำรายการอย่างเดียว แต่มันคือการรับผิดชอบต่อความฝันของผู้เข้าแข่งขันด้วย

เพราะฉะนั้นผลตัดสินต้องแฟร์จริง ๆ ถ้าคิดแต่จะเอาเรตติ้ง มัวแต่ดึงคนที่เรียกกระแสได้เอาไว้ ตีค่าแค่ว่าใครได้รับความนิยมคือได้ไปต่อ นั่นเท่ากับการทรยศต่อคนที่เขาอุตส่าห์แบกความฝันมาแข่งกับเรา

ซึ่งบอกตรง ๆ การทำแบบนั้นมันไม่ใช่ทางของผม

8

มาถึงสูตรลับสุดท้ายในการปรุงแต่งคอนเทนต์ของ กิติกร เพ็ญโรจน์

เขาเล่าว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีหลายต่อหลายคนถามเข้ามาว่า Heliconia จะปรับตัวยังไงต่อไป จะลดไซส์ของโปรดักชั่นลงไหม

เพราะแต่ละรายการที่ Heliconia ทำล้วนแต่มีต้นทุนที่สูงทั้งนั้น อย่าง MasterChef Thailand ก็มีต้นทุนในการผลิตแต่ละตอนเป็นหลักล้านบาทเลยทีเดียว

“มันก็มีทางให้เลือกอยู่สองทางคือหนึ่งลดต้นทุนในการทำรายการ แต่พอต้นทุนลดคุณภาพรายการก็ลดลงไปด้วยนะ แล้วพอคุณภาพลดสปอนเซอร์ก็จะลดลงตามไปด้วย แล้วพอสปอนเซอร์ลดลงมันก็วนกลับมาที่คุณภาพที่ลดลงไปอีก

ซึ่งผมจะไม่เลือกทางนี้ มันเหมือนเป็นการค่อย ๆ ขุดหลุมฝังตัวเองลงไปเรื่อย ๆ

สิ่งที่ผมเลือกคือทางที่สอง นั่นคือใส่ให้สุด ทำทุกอย่างที่เรามีให้เต็มที่ แล้วทำให้มันเป็นรายการทำอาหารที่สุดในประเทศไทย

เมื่อเราเป็นเบอร์หนึ่งได้ เดี๋ยวสปอนเซอร์ก็จะนึกถึงเราเอง”

I

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online