อาฟเตอร์ ยู และ เถ้าแก่น้อย สองแบรนด์เร่งแก้เกมเพื่อฝ่ามรสุมโควิด (วิเคราะห์)

Part 1 : เพราะอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง 

“เมย์” กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ อายุ 37 ปี เป็นเจ้าของร้านอาฟเตอร์ ยู เปิดร้านสาขาแรกที่เจ อเวนิว ทองหล่อ เมื่อปี 2550 ในวันที่เธออายุ 24 ปี  และเพียงอาทิตย์แรก ก็สร้างปรากฏการณ์ร้านขนมหวานที่มีคนต่อคิวยาวอยู่หน้าร้าน  

“ต๊อบ” อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด   อายุ 36 ปี ผู้พลิกผันจากเด็กติดเกมมาตั้งบริษัทขายผลิตภัณฑ์สาหร่าย เมื่อปี 2547 ในวัยเพียง 19 ปี

 ปี 2552 ต๊อบทำยอดขายได้ 1,200 ล้านบาท กลายเป็นเถ้าแก่พันล้านในวัย 23-24 ปี

ช่วงเวลานั้นเป็นยุคแรก ๆ ในสังคมไทยที่กระแสคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง อยากเป็นเถ้าแก่ อยากทำกิจการเอง และเป็น Start Up มาแรงมาก ๆ

ทั้งต๊อบและเมย์จึงกลายเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน

เมย์ อาจจะมีครอบครัวซัปพอร์ตในเบื้องต้น เธอได้เงินจากคุณพ่อมาประมาณ 2 ล้านบาท  แทนที่จะเอาไปใช้เรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัย กลับเอามาเรียนรู้ และหาประสบการณ์เองจากมหาวิทยาลัยชีวิต โดยมี Passion ในการชอบทำขนมหวาน ชอบค้าขายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

แต่บนเส้นทางในการทำธุรกิจไม่ได้หวานหอมเหมือนขนมเสียทีเดียว ความสำเร็จของร้านอาฟเตอร์ ยู ทำให้เกิดร้านขนมหวานอื่น ๆมาอย่างต่อเนื่องซึ่งหมายถึงเธอ ต้องหาความแตกต่างใหม่ ๆเข้ามาเรื่อย ๆ 

ช่วงหนักครั้งหนึ่งของชีวิตเกิดขึ้นเมื่ออาฟเตอร์ ยู เปิด สาขาที่ 3 และ เป็นสาขาแรกที่ขึ้นห้างใน Central World พอเปิดไปได้ 40 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จากปัญหาเรื่องการเมือง ร้านของเธอดำมอดแทบไม่เหลืออะไรเลย ต้องใช้พลังใจอย่างมาก ในการลุกขึ้นมายืนอีกครั้งหนึ่ง 

ส่วนต๊อบ ต้องหยุดเล่นเกมเพราะที่บ้านล้มละลาย  กลับมาช่วยครอบครัว ริ่มจากขับมอเตอร์ไซค์ขายดีวีดีจากจีนแดง เปลี่ยนมาเป็นเกาลัดคั่ว และหลากหลายสินค้าจากเยาวราช เช่น ลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสินค้าอื่นๆ

เป็นช่วงเวลา 3-4 ปีที่ชีวิตต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากๆ เพราะทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งตัวสินค้า เงินทุน ทำเล คู่แข่ง ทำแล้วเจ๊งๆ แล้วลุกอยู่หลายครั้ง ไม่ยอมจบเกมง่ายๆ

จนกระทั่งได้สินค้าที่มา “พลิกชีวิต” เขาขึ้นมาได้ คือสาหร่ายทอดกรอบ ที่กว่าจะเลี้ยงตัวเองได้ต้องอดทน และมุ่งมั่นอย่างหนัก 

เรื่องของต๊อบดรามาเสียจนเมื่อปี 2554  บริษัท GTH (GDH) นำเรื่องราวของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน”

Part 2 : สวยงามในตลาดหลักทรัพย์ 

เถ้าแก่น้อยเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2558 และทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงสุดอยู่ที่ปี 2561 รายได้รวมอยู่ที่ 5,697 ล้านบาท กำไร 459 ล้านบาท

ต๊อบเคยให้สัมภาษณ์กับ Marketeer ว่าภายใน 10 ปี หลังเข้าตลาดฯ เถ้าแก่น้อยจะต้องเป็น  Global Brand หรือแบรนด์ระดับโลกด้วยยอดขายที่สูงกว่า 10,000 ล้านบาท

นั่นคือปี 2568 ซึ่งเหลือเวลาอีก 5 ปี เขาจะต้องได้เป็นเถ้าแก่หมื่นล้านในวัย 40 ต้นๆ  

 แต่ปี 2562 รายได้เถ้าแก่น้อยลดลงมาเหลือ 5,297 ล้านบาท กำไร 366 ล้าน

แล้วปี 2563 เจอกับวิกฤตโควิด-19

ส่วนเมย์    

Product killer ของเธอในยุคแรก ๆ คือ ‘ชิบุยะ ฮันนี่โทสต์’ ซึ่งกลายเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน หลังจากนั้นเธอก็พัฒนาสูตรขนมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย 

อาฟเตอร์ ยู เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ ปี 2559 สร้างยอดรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากรายได้ 608 ล้านบาท กำไร 98 ล้านบาทในปีแรก เพิ่มเป็น 1,205 ล้านบาท กำไร 237 ล้านบาท เมื่อปี  2562

ปีที่ผ่านมา Bloomberg เคยจัดอันดับให้ After You เป็นหุ้นอาหารที่ดีที่สุดในโลก จากผลประกอบการที่โดดเด่นอย่างมาก 

วิกฤตโควิด-19  เป็นวิกฤตที่นักธุรกิจรุ่น”พ่อแม่” หลายคนยังยอมรับว่า “หนักที่สุดในชวิต”  แล้วต๊อบ กับเม จะผ่านไปได้อย่างไร

Part 3 : โควิด-19 บทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต  

รายได้หลักของเถ้าแก่น้อยมาจากการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ยอดออเดอร์จากจีนลดฮวบ 60%

ส่วนรายได้ในประเทศก็หล่นวูบ เพราะ ๆ หลัก ๆ เคยได้จากทัวร์จีนเกือบ 90%  

นักวิเคราะห์หลายสำนักเคยคาดการณ์ไว้ว่า 6 เดือนแรกของปีนี้จะเป็นจุดต่ำสุดของเถ้าแก่น้อย  

แต่ปรากฏว่าผิดคาด ต๊อบแค่ “เจ็บ” แต่ไม่ “สาหัส”

6 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากการขายของเถ้าแก่น้อย 2,121 ล้านบาท ลดลง 17.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีกำไร 174.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 1.3%

เป็นยอดขายในประเทศ 641.6 ล้านบาท ลดลง 39.1%

ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ 6 เดือนแรกมีรายได้ 1,479.9 ล้านบาท ลดลงเพียง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้หลักยังมาจากประเทศจีนประมาณ 40%

ทั้งหมดต้องยอมรับว่า ต๊อบวางแผนรับมือได้เป็นอย่างดี โดยการหันกลับมารุกหนักทางด้านการขายออนไลน์ เน้นควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิตและจำหน่าย โดยเฉพาะเรื่องการทำมาร์เก็ตติ้ง โชคดีที่ต้นทุนวัตถุดิบสาหร่ายในปัจจุบันก็มีการปรับตัวลดลงกว่า 10-12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในช่วงไตรมาสที่ 2 บริษัทในเครือที่อเมริกาเองก็มียอดขายที่เติบโตทั้ง ๆ ที่โควิด-19 ยังระบาดอย่างหนัก

ครึ่งปีแรกน่าจะหนักสุด แต่เขาก็ประคองสถานการณ์ไว้ได้ และทำให้ยังกล้าจะบอกว่าสิ้นปีเถ้าแก่น้อยยังต้องมีผลกำไรไปอีกปีแน่นอน  

ด้าน เมย์ อาฟเตอร์ ยู อาการจะหนักกว่าเพราะสาขาทั้ง 38 ส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์  

ทันทีที่เมืองถูกล็อกดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม เมย์เลยเหมือนถูกน็อกเข้าอย่างจัง

เมื่อรายได้ไม่มี มีแต่รายจ่าย การปรับลดคน การเจรจาเรื่องค่าเช่าที่ เป็นเรื่องที่หนักสุด ๆ

6 เดือนผ่านไป ผลประกอบการของ อาฟเตอร์ ยู อยู่ที่  363 ล้านบาท ลดลง 39% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิหดเหลือ 10.22 ล้านบาท หรือลดลงถึง 92% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท

แล้วครึ่งปีหลังเธอจะพลิกสถานการณ์อย่างไร

อาฟเตอร์ ยู มีแผนชะลอการเปิดสาขา และเน้นการออกบูธสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นหลักจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ

ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการสาขาที่ฮ่องกงอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ตอนนี้คงยังกำหนดไม่ได้   

พร้อม ๆ กับเตรียมออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าในโมเดิร์นเทรดให้มากขึ้น   

รวมทั้งเดินหน้าเปิด ร้านกาแฟขนาดเล็ก ”มิกก้า” ที่ตั้งเป้าหมายจะขยายให้ได้ 100 สาขาในปี 2564

ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นใจ ปี 2563 ต้องเป็นปีที่หนักหนาสำหรับเธอแน่นอน

โควิด-19 อาจจะทำให้ทั้ง 2 คนสะดุด แต่จะเป็นบทเรียนสำคัญที่คอยเตือนใจในการทำธุรกิจ เพราะ ต๊อบ เมย์ STORY ยังมีอีกหลายซีรี่ส์แน่นอน

To be Continue

 

ขอบคุณภาพคุณเมย์จาก saimmaya.com

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online