หลายธุรกิจกำลังปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุค Normal หลังสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุเลา รวมถึงธุรกิจที่แปลงความสยองและระทึกขวัญเป็นทุนในญี่ปุ่น โดย Kowagarasetai บริษัทรับจัด Event บ้านผีสิงในญี่ปุ่นเปิดธุรกิจใหม่ บ้านผีสิงแบบ Drive Thru ที่ลูกค้าแค่ขับรถเข้ามาก็เหมือนได้ไปเที่ยวแบบกระตุกขวัญในบ้านผีสิง พร้อมความอุ่นใจว่าจะไม่ติดเชื้อไวรัสตัวร้ายกลับไปอย่างแน่นอน
หลังจ่ายค่าตั๋วคนละ 8,000 เยน (ราว 2,325 บาท) ลูกค้าที่ขับรถเข้ามาอาคารในกรุงโตเกียวซึ่ง Kowagarasetai เช่าไว้ ก็จะได้รับประสบการณ์สยองจากบรรดาผี (ปลอม) ที่เข้ามาหลอกมาหลอนอยู่รอบรถ โดยเสียงประกอบสุดสยองต่าง ๆ จะดังขึ้นเป็นระยะจากลำโพง Bluetooth ที่ได้ไปหลังซื้อตั๋ว ส่วนถ้าอยากให้หลอกเพิ่มย้ำให้หนำใจอีกก็ส่งสัญญาณบอกได้ด้วยการบีบแตรรถ
ขณะเดียวกันหากจ่ายเพิ่มอีก 1,000 เยน (ราว 290 บาท) ก็จะมีเลือด (ปลอม) ให้เป็นโปรเสริม ส่วนใครที่ไม่มีรถก็ไม่ต้องกังวล เพราะจ่ายเพิ่มอีกหน่อยก็มีรถเตรียมพร้อมไว้ให้เช่า
หลังการซื้อประสบการณ์ระทึกขวัญที่แต่ละครั้งนาน 17 นาทีจบลง ทาง Kowagarasetai ก็จะทำความสะอาดรถทั้งคัน และเปลี่ยนพลาสติกใสที่หุ้มรถด้านนอกให้ ส่วนบรรดาพนักงานที่แสดงเป็นผีก็จะล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงหมดห่วงเรื่องการติดเชื้อได้เลย
ทาง Kowagarasetai เผยว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่ชอบความระทึกขวัญและอยากหาอะไร ๆ สนุกทำ หลังต้องอุดอู้อยู่แต่ในบ้านมานานช่วงไวรัสระบาดหนักทั่วญี่ปุ่น โดยมีลูกค้าเต็มตลอดตั้งแต่เปิดมาเมื่อช่วงกรกฎาคม และยังมีลูกค้าอีก 1,000 คนที่ซื้อตั๋วล่วงหน้า รอต่อคิวเข้ามา “สยอง Drive in”
ด้าน เคนตะ อิวานะ ผู้ก่อตั้ง Kowagarasetai เผยว่า หลังทำเงินได้ก้อนใหญ่จากธุรกิจบ้านผีสิง ก็ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยและหันมาทุ่มกับธุรกิจนี้แบบเต็มตัวเมื่อ 6 ปีก่อน
หน้าร้อนของญี่ปุ่นคือช่วงทำเงินเพราะชาวญี่ปุ่นจะนิยมเล่าเรื่องผี เรื่องสยองขวัญ รวมถึงพากันไปไปดูหนังผีและไปสนุกที่บ้านผีสิง ทว่าจากสถานการณ์การระบาดทำให้ทั้งบริษัทใกล้ปิดตัว ตายเป็นผีไปจริง ๆ
ทว่าหลังเห็นการชมภาพยนตร์แบบ Drive-in กลับมาคึกคักเกินคาดจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ก็ “ปิ๊งไอเดีย” ทำบ้านผีสิงแบบให้ลูกค้าขับรถเข้ามาจอดมาใช้บ้าง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและช่วยประคองธุรกิจให้ ’ฟื้นจากหลุม’ ได้อย่างที่หวัง
วิกฤตไวรัส กระตุ้น Drive in โตเกินคาด
ขณะที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และต้องงดกิจกรรมในพื้นที่ปิด แต่การชมภาพยนตร์แบบ Drive-in กลับมาได้รับความนิยมเกินคาดในหลายประเทศ ผ่านการใช้จุดขายเรื่องเว้นระยะห่าง และแต่ละบ้านนั่งแยกในรถตัวเอง
การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของธุรกิจภาพยนตร์แบบ Drive-in เห็นชัดเจนสุดในประเทศต้นแบบอย่างสหรัฐฯ โดยบริษัทในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่าโตเป็นเลขสองหลัก และ Walmart ขอเกาะกระแส เปลี่ยนลานจอดรถหลายสาขาในสหรัฐฯ เป็นโรงหนัง Drive-in เพื่อเพิ่มลูกค้ากลุ่มครอบครัว และกระตุ้นยอดขายขนมและเครื่องดื่มไปด้วยในตัวหลังห้างปิด
ส่วนในประเทศอื่น ๆ ก็ต่อยอด Drive-in กันอย่างคึกคัก โดยลิทัวเนียเปลี่ยน Runway ของสนามบินหลักในประเทศเป็นโรงหนัง Drive-in ชั่วคราว ขณะที่ Mads Langer นักร้องดังชาวเดนมาร์กก็จัดคอนเสิร์ตแบบ Drive-in ส่วนโบสถ์คริสต์ในเกาหลีใต้ก็มีการสวดแบบ Drive-in
สำหรับโรงหนัง Drive-in มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1933 ในรัฐ New Jersey ของสหรัฐฯ ซึ่งจากที่รถมีการติดตั้ง Heater เข้าไปและจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวและเปิดได้ตลอดปี จนตลาดขยายตัวอย่างมากในยุค 50 แต่จากนั้นก็พอประคองตัวมาได้แบบไม่โตแต่ก็ไม่ตาย
โรงหนัง Drive-in มักเปิดฉายแถบชานเมืองที่มีพื้นที่กว้าง ๆ ในช่วงวันหยุดยาว และหนังที่นำมาฉายก็เป็นหนังดัง ๆ หรือหนังคลาสสิก ที่ดูกันได้ทั้งครอบครัว เช่น 007, Jurassic Park และ Star Wars ซึ่งยังเป็นจุดขายช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชมของโรงหนัง Drive-in มาจนถึงช่วงวิกฤตไวรัสครั้งนี้ด้วย
ด้านสถานการณ์ในธุรกิจภาพยนตร์ทั่วโลก ปัจจุบันดีขึ้นตามลำดับ ค่ายหนังทยอยส่งหนังใหม่ ๆ เข้าฉายตามโรงทั่วประเทศแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังไม่น่าไว้วางใจ ทั้งฝั่งโรงหนังและค่ายหนังต่างต้องปรับตัว
AMC เครือโรงหนังใหญ่สุดในสหรัฐฯ หันมาคืนดีกับค่ายหนัง Universal ยอมปล่อยหนังไปลง Streaming Platform เร็วขึ้น แต่ก็ได้ส่วนแบ่งรายได้ใหม่เป็นข้อแลกเปลี่ยน และทยอยเปิดโรงหนังในรัฐที่สถานการณ์ระบาดทุเลา แบบลดค่าตั๋วถูกสุด ๆ เริ่มต้นเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 155 บาท) เท่านั้น
ขณะที่ Disney ก็ใช้แผนฉายควบ ฉาย Mulan หนึ่งในหนังทำเงินปีนี้ในสหรัฐฯ แบบ Streaming ในเวลาไล่เลี่ยการฉายในโรงในประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย ซึ่งยังไม่เปิดบริการ Streaming/cnn, nypost, bbc, cnbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



