RS เปิดอาณาจักรใหม่ 16 ไร่ พร้อมเผยกลยุทธ์ในการกลับมาลุยตลาดเพลงอีกครั้ง (วิเคราะห์)

📍Bullet Point

– RSลุยธุรกิจภายใต้กลยุทธ์หลักอย่าง Entertainmerce (เอนเตอร์เทนเมิร์ซ)

– เตรียมกลับมารุกตลาดเพลงผ่านค่าย RSIAM, Kamikaze, Rose Sound

– เตรียมขายรังนกพร้อมดื่มเดือนพฤศจิกายน 63

– พร้อมรุกธุรกิจขายอาหารสัตว์ใน Q4 ของปีนี้

วันนี้RSเปิดบ้านอาณาจักรแห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 16 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ พร้อมกับการแถลงทิศทางธุรกิจที่มี สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ CEO ของRSนำทัพแถลง

เฮียฮ้อเริ่มฉายภาพรวมของ RS ให้เห็นกันก่อน ว่าตอนนี้RSกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 40 โดยนี่เป็นปีที่RSได้ทำการรีแบรนด์ตัวเองครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีองค์กรมา

ซึ่งตอนนี้RSมีธุรกิจที่ทำอยู่ทั้งหมด 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน นั่นคือ

1. ธุรกิจพาณิชย์:RS Mall (อีคอมเมิร์ซ), LIFESTAR (เป็นเหมือน House Brand ของRS)

2. ธุรกิจสื่อและบันเทิง:  ช่อง 8, สถานีวิทยุ COOLISM, ค่ายเพลง RSIAM Kamikaze และ Rose Sound

แล้วแต่ละธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง?

เล่าให้ฟังกันแบบนี้ก่อนว่าในปี 2562 รายได้หลักของRSมาจาก
– ธุรกิจพาณิชย์ 56%
– ธุรกิจสื่อ 30%
– ส่วนอีก 14% มาจากธุรกิจเพลงและอื่น ๆ

(ทัพผู้บริหาร RS)

RS Mall

เป็นร้านค้าที่ไม่มีหน้าร้าน เอาไว้ขายสินค้าซึ่งเป็นแบรนด์ที่RSทำขึ้นมาเอง และสินค้าของแบรนด์อื่น

โดยยอดขายของRS Mall มาจากสินค้าที่เป็น House Brand ของRSเอง 60%

ซึ่งลูกค้าของRS Mall เป็นลูกค้าในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 65% ส่วนอีก 35% เป็นลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัด

โดยลูกค้าแต่ละรายมียอดใช้จ่ายต่อบิลเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาท

สำหรับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา RS Mall สามารถสร้างรายได้ที่ 586.2 ล้านบาท

ซึ่งนอกจากช่อง 8 หรือสื่อที่อยู่ในเครือRSแล้ว RS Mall ยังขายสินค้าบนแอปพลิเคชันของตัวเอง รวมถึงทีวีดิจิทัลอย่างช่องเวิร์คพอยท์, ไทยรัฐ และ อมรินทร์ รวมถึงการขายผ่าน Telesale อีกด้วย

นอกจากจะเข้ามาทดแทนเม็ดเงินโฆษณาที่หายไปในธุรกิจสื่อแล้ว ในอีกมุมหนึ่งการขายของแบบนี้ยังทำให้RSได้เงินสดในทันที

ต่างจากการขายโฆษณาซึ่งมี Credit Term ที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้เงินจริง ๆ

(พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์)

LIFESTAR

เป็นเหมือน House Brand ของRSที่ส่วนใหญ่จะทำแบรนด์เอง ทำสูตรเป็นของตัวเอง และจ้าง OEM ให้เป็นผู้ผลิตสินค้าให้

โดยในครึ่งปีหลัง RSมีแผนเตรียมนำสินค้า LIFESTAR ไปวางจำหน่ายบนออนไลน์มาร์เก็ตเพลส, ร้านขายยา, โมเดิร์นเทรด, ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการขายแบบไดเร็กต์เซลส์

ซึ่งในปีนี้ LIFESTAR มีแผนจะขยายโปรดักต์ไลน์ ทำรังนกพร้อมดื่มที่จะวางจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน

และยังเตรียมจะรุกตลาดอาหารสัตว์ ซึ่งเฮียฮ้อบอกเหตุผลในการทำธุรกิจนี้ให้ฟังว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท โดยในแต่ละปีก็มีการเติบโตเฉลี่ยที่ 10%

บวกกับอาหารสัตว์เป็นสินค้าเชิง Emotional ที่ผู้คนยอมจ่ายเพื่อให้สัตว์เลี้ยงที่หลายคนเลี้ยงเหมือนกับลูก

นี่จึงเป็นอีกโอกาสในการสร้างรายได้ โดยRSจะโฟกัสไปที่อาหารหมาและแมว มีการพัฒนาสินค้าร่วมกับสัตวแพทย์ ทำแบรนด์เป็นของตัวเอง และจะใช้ OEM เป็นคนผลิตให้ โดยจะเริ่มเปิดตัวใน Q4 ของปีนี้

(ชาคริต พิชญางกูร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจไลฟ์สตาร์)

ช่อง 8

ณ ปัจจุบันรายได้ของช่อง 8 มาจาก 4 ช่องทางหลักด้วยกัน คือ

1. มีเดียสปอนเซอร์ 40%

2. การจัดอีเวนต์ 10%

3. การขายลิขสิทธิ์ 15%

4. Entertainmerce 35%

ถามว่า Entertainmerce (เอนเตอร์เทนเมิร์ซ) คืออะไร? ความหมายของมันก็คือการเอาคำว่า Entertainment มารวมกับคำว่า E-Commerce

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือในอนาคตช่อง 8 มีแผนที่จะปล่อยรายการใหม่ที่มีชื่อว่า นายจ๋า ทาสมาแล้ว เป็นรายการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็จะมาช่วยสนับสนุนสินค้าใหม่ของ LIFESTAR ที่เตรียมจะวางขายอาหารสัตว์อย่างที่เราได้บอกไปในข้างต้น

และไม่ใช่แค่กับช่อง 8 เท่านั้น แต่โมเดล Entertainmerce จะถูกปรับไปในทุกธุรกิจที่อยู่ในเครือของRSเช่นการทำ Artist Product ทำผลิตภัณฑ์ร่วมกับดารา นักร้อง หรือศิลปินที่อยู่ในสังกัด

หรือหากจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม ก็จะยึดแนวคิดที่ว่าคอนเทนต์เหล่านั้นจะสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจพาณิชย์ของRSในทางไหนได้บ้าง

เรียกได้ว่าขายกันแบบจัดหนักเลยทีเดียว!

(นงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8)

COOLISM

จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 17 ปีของ COOLISM แล้ว โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วง Covid ที่ผู้คน Work From Home แต่ COOLISM ก็ได้ทำ New High ด้วยยอดผู้ฟังสูงสุดที่ทะลุ 2 ล้านคน

โดยรายได้ของ COOLISM มาจาก 3 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน

1. รายได้จากค่าโฆษณา 40%

2. รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ 30% โดยภายในปี 2564 มีแผนจะจัดคอนเสิร์ต 10 งาน เป็นทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศ

3. การทำ Entertainmerce ที่หวังจะเปลี่ยนผู้ฟังให้เป็นลูกค้า โดยRSคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากช่องทางนี้ได้ราว 30%

(ปริญญ์ หมื่นสุกแสง หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจวิทยุคูลลิซึ่ม)

RS MUSIC

เฮียฮ้อบอกกับสื่อมวลชนว่า “การทำธุรกิจเราควรรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ เมื่อไหร่ควรหยุด เมื่อไหร่ควรช้า เมื่อไหร่ควรเร็ว”

เช่นเดียวกับการทำเพลง เฮียฮ้อเล่าให้ฟังว่าช่วงหนึ่งที่ยังไม่พร้อมก็ชะลอหรือหยุดไป แต่ในเมื่อตอนนี้พร้อมแล้ว และRSก็มีธุรกิจที่รองรับตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

คือมีคนสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงมีเม็ดเงินจากการขายสินค้าของตัวเอง มีโมเดลของ Entertainmerce ก็เลยสามารถกลับมารุกตลาดเพลงอีกครั้งได้

สำหรับการกลับมารุกตลาดเพลงในครั้งนี้ RSจะทำภายใต้ 3 ค่ายหลัก ๆ ด้วยกันคือ

1. Rose Sound: ถือเป็นค่ายแรกของเฮียฮ้อก่อนเปลี่ยนชื่อมาใช้RSซึ่งชื่อ RS ก็คือตัวย่อของ Rose Sound นั่นเอง

2. Kamikaze: มีคอนเซ็ปต์หลักของค่ายคือคนไทยหัวใจวัยรุ่น

3. RSIAM: จะปรับภาพลักษณ์ให้ดูเป็นลูกทุ่งที่ทันสมัยมากขึ้น

ซึ่งทั้ง 3 ค่ายไม่ใช่ว่าจะเอาศิลปินเก่ามาทำเพลงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีการปั้นศิลปินหน้าใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่าศิลปินแต่ละคนจะต้องมีผลงานที่รองรับกับโมเดล Entertainmerce

โดยเราจะได้เห็นRS MUSIC อย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปี 2563

(สุกฤช สุขสกุลวัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเพลง)

ส่วนด้านล่างนี้คือภาพอาณาจักรแห่งใหม่ของRSย่านประดิษฐ์มนูธรรม กับพื้นที่ราว 16 ไร่

บนพื้นที่แห่งนี้ประกอบไปด้วย 3 ตึกด้วยกัน

ตึก A สำหรับผู้บริหาร และธุรกิจพาณิชย์

ตึก B สำหรับพนักงานส่วน Telesale และทีวีช่อง 8

และตึก C สำหรับคลื่นวิทยุ Coolism และฮอลล์สำหรับจัดงาน

รวมถึงตึกจอดรถที่รองรับรถได้ประมาณ 800 คัน

ส่วนตึกออฟฟิศเก่าที่อยู่ลาดพร้าวนั้นไม่ได้ใช้ทำการแล้ว และย้ายทุกยูนิตมาอยู่ที่ใหม่ทั้งหมด มีครบทั้งห้องจัดรายการวิทยุ ห้องอัดเสียง สตูดิโอถ่ายรายการ

โดยหากทำการ Built-In ใหม่เสร็จโดยสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีที่ให้นั่งทำงาน, Co-Working Space และฟิตเนสเหมือนกับออฟฟิศขององค์กรคนรุ่นใหม่

ว่าแต่บรรยากาศรอบ ๆ บ้านหลังใหม่ของRSนั้นจะเป็นยังไง

ตามเข้ามาดูได้ที่ด้านล่างนี้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online