แกรมมี่ อาร์เอส สองใหญ่พลิกเกมสร้างความต่าง บนเส้นทางสายเดียวกัน (วิเคราะห์)

เรื่องของ “อากู๋” กับ “เฮียฮ้อ” 2 ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเพลง

วันนี้ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อายุ 71 ปี     

อากู๋ เป็นคนเรียนเก่ง จบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอกจาก Miami Christian College มหาวิทยาลัยไมอามีคริสเตียน สหรัฐอเมริกา

เส้นทางการทำงานของ อากู๋ สวยงาม โดยเริ่มทำงานที่บริษัท ฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูล เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับนายห้างเทียม โชควัฒนา

เป็นทีมที่ทำให้คำว่า “มาม่าอร่อย” ติดปากผู้บริโภคมานาน แต่หลังจากนั้นก็ลาออกมาทำงานที่บริษัท พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในเครือโอสถสภา

วันหนึ่งเขาได้รู้จักกับ “พี่เต๋อ” เรวัต พุทธินันทน์ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

ปี 2526 ด้วยเงินทุน 500,000 บาท อากู๋ ร่วมกับ พี่เต๋อ ตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด

ปี พ.ศ. 2537 เขาเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

ส่วน “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อายุ 60 ปี เป็นคนเรียนไม่เก่ง ไม่ชอบเรียน  

ในช่วงอายุ 17-18 ปี อากู๋แต่งชุดนิสิตสุดเท่เดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่เป็นวัยที่เฮียฮ้อต้องออกจากโรงเรียนทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบ ม.ศ. 5 (วุฒิการศึกษาสมัยนั้น) เพื่อมาช่วยครอบครัวทำงาน

อายุประมาณ 19 ปี เฮียฮ้อกับพี่ชาย(เฮียจั๊วเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์)ก็ได้ตั้งบริษัท Rose Sound ด้วยเงินที่มีเพียง 50,000 บาท เริ่มจากทำตู้เพลงและอัดแผ่นเสียงขาย

ก่อนจะคิดการใหญ่ตั้งบริษัทอาร์เอส ซาวด์ ในปี 2524 เพื่อทำค่ายเพลงเอง

วงแรก ๆ เช่น อินทนิล คีรีบูน เรนโบว์ น่ะดัง แต่เจ้าของนั้นเจ๊ง เฮียฮ้อเป็นหนี้นอกระบบตั้งแต่อายุ 21 ปี กว่า 10 ล้านบาท

เป็นหนี้แล้วก็ต้องสู้ ทำเพลงมันเหมือนแทงหวย ปล่อยออกไปแล้วก็คอยลุ้นว่าจะฮิตมั้ย ไม่ฮิตก็ขาดทุน ฮิตก็เหมือนถูกหวย ก็เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  

 ปี 2546 อาร์เอสนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ (หลังแกรมมี่ประมาณ 10 ปี)

แล้วเรื่องราวดราม่าก็เริ่มต้น

การเปลี่ยนแปลงบนถนนสายดนตรีที่เป็นแรงสะเทือนต่ออุตสาหกรรมเพลงอย่างมหาศาล ตลอดทั้ง Supply Chain คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เมื่อแผ่นเสียงหายไปเปลี่ยนมาเป็นเทปคาสเซตต์ เป็นซีดี ต่อด้วยการดาวน์โหลด และ “Music Streaming” เพลงกลายเป็นของฟรี ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออีกต่อไป

และเทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถทำเพลงได้ โดยไม่ต้องอาศัยค่ายอีกต่อไป

ศิลปินและเพลงมากมายคือสินทรัพย์สำคัญที่ทำให้ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสขยับเข้าสู่วงการภาพยนตร์ GMM Pictures และ อาร์เอส. ฟิล์ม ก็เกิดขึ้น ก่อนที่จะไปต่อด้วยธุรกิจทีวีดาวเทียม Pay TV และทีวีดิจิทัล

ปี 2555-2556 ทั้ง 2 ค่ายนี้ยังทำสงครามแย่งคนดูอีกครั้งกับตลาดกล่อง Pay TV แกรมมี่ ‘จีเอ็มเอ็ม แซท’ ส่วนอาร์เอสก็งัดกล่อง ‘ซันบ็อกซ์’ มาแข่งขัน ชนิดที่ต่างฝ่ายต่างบล็อกคอนเทนต์ของฝ่ายตรงข้ามกันเลยทีเดียว รวมทั้งแย่งชิงคอนเทนต์กีฬา ซึ่งถือเป็น Killer Content มาลงกล่องอย่างดุเดือด

จนกระทั่งทั่งคู่กระโจนลงสู่ตลาดทีวีดิจิทัลในปี 2557 แกรมมี่ประมูลมาได้ 2 ช่อง คือ one31 และ GMM25 ส่วนอาร์เอส คือช่อง 8

แต่ธุรกิจทีวีก็เจออุปสรรคสำคัญ เมื่อช่องทีวีมากเกินไป คนดูทีวีน้อยลง ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม

ยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ถึงกับเซ เมื่อผลประกอบการในสิ้นปี 2557 ขาดทุนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 2,345 ล้านบาท

ที่จริงแกรมมี่เคยทำรายได้สูงสุดถึง 11,756 ล้านบาท เมื่อปี 2555 แต่มีตัวเลขขาดทุนในปีนั้นที่ 248 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560

อากู๋ต้องใช้กลยุทธ์วิชาตัวเบา ลีนองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งขายหุ้นในทีวีดิจิทัลให้กับกลุ่มปราสาททองโอสถ และกลุ่มสิริวัฒนภักดี ขายกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ ขายหุ้นบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ พร้อม ๆ กับลดกำลังคน

เพื่อกลับมาโฟกัสธุรกิจหลักในส่วนของเพลง มีเดีย ทีวีดิจิทัล และโชว์บิซ

ปี 2561 อากู๋กลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่งในรอบ 7 ปี จำนวน 15 ล้านบาท

ปี 2562 ทำรายได้ 6,640 ล้านบาท กำไร 341 ล้านบาท และในยุคของวิกฤตโควิด-19 ค่ายนี้ก็ยังมีกำไรให้เห็น

ฝั่ง เฮียฮ้อ ปี 2559 รายได้ของอาร์เอสก็ลดลงเหลือ 3,248 ล้านบาท ขาดทุน 102 ล้านบาท เป็นปีแรกที่เฮียฮ้อพลิกเกมครั้งใหญ่ด้วยการเปิดตัวบริษัท ไลฟ์สตาร์ เพื่อผลิตสินค้า โฆษณา และขายผ่านช่องทางสื่อของกลุ่ม เป็นการขยายธุรกิจเข้าสู่คอมเมิร์ซเต็มตัว

เรื่องราวที่น่าจะดราม่าเลยพลิกเป็นแฮปปี้ เมื่อการขายเครื่องสำอางและอาหารเสริมมาช่วยชีวิตแทนธุรกิจเพลง

ปี 2560 อาร์เอสทำรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 37 ปี โดยรายได้อยู่ที่ 3,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 516 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 ได้ตัดสินใจเปลี่ยนหมวดธุรกิจจาก “สื่อและสิ่งพิมพ์” เป็น “พาณิชย์” ภายใต้โมเดล “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ”   

แกรมมี่ อาร์เอส

เกมพลิกเมื่อพลิกเกม เปลี่ยนจากคนดู คนฟัง มาเป็นคนซื้อ

ปี 2563 อากู๋ กับ เฮียฮ้อ ฝ่าวิกฤตโควิดได้ทั้งคู่เมื่อแกรมมี่ยังมีผลประกอบการ Q1 และ Q2 เป็นกำไร (40 ล้านบาท และ 7 ล้านบาท)

อาร์เอสกำไร Q1 188 ล้านบาท เป็นผลกำไรประจำไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นถึง 69.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และแค่ไตรมาสเดียวเม็ดเงินกำไรก็เกินครึ่งหนึ่งของปี 62 ที่ทั้งปีกำไรอยู่ที่ 363 ล้านบาท ส่วน Q2 มีกำไรอยู่ที่ 108 ล้านบาท

ค่ายของอากู๋ “เพลง” ยังเป็นขุมทรัพย์และรายได้หลัก ถึง60% โดยมีธุรกิจโฮมช้อปปิ้งที่มีรายได้ตามมาเป็นอันดับ 2 ของเครือ

ปีที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในเครือแกรมมี่เติบโตสวนกระแสมีรายได้ถึง 4,014 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 10 ปี และยังมีกำไร 472 ล้านบาท  

เหตุผลเพราะ 1. ผู้คนหันไปฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น แกรมมี่เองก็เอาเพลงเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Joox, LINE TV, Spotify เป็นต้น  2.ธุรกิจ Showbiz เติบโตขึ้น 36% มากที่สุดในกลุ่มธุรกิจเพลง โดยมีรายได้ 524 ล้านบาท และ3.ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ เติบโตขึ้น 25% และมีรายได้ที่ 313 ล้านบาท สูงที่สุดตั้งแต่ได้ทำการบริหารจัดการ

ครึ่งปีหลังปี 2563 นี้ อากู๋ยังวางโมเดลที่จะเข้ามาสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค คือ Artist Product ที่ศิลปินเป็นเจ้าของร่วมกัน

เกิดเป็น “ธุรกิจขายตรง” (SLM) ในชื่อ “GMM GOODS” โดยศิลปินที่มาร่วมสร้างโปรดักส์นั้นไม่ใช่แค่พรีเซนเตอร์ แต่จะเป็นเจ้าของแบรนด์ร่วมกัน

“ต่าย อรทัย” คือศิลปินลูกอีสานคนแรกที่มาร่วมทำแบรนด์ “ออร่า-ทัย” แบรนด์แรกของบริษัท ขายเซรั่ม ครีมกันแดด และมาสก์หน้า ผ่าน 3 ช่องทางการขายหลักด้วยกันคือ Call Center, Line Official และการสมัครตัวแทน

วันนี้ศิลปินทั้งหมดกว่า 300 คน จะถูกเลือกมา 10% ที่จะเอามาพัฒนาเป็น Star Product ร่วมกัน 

ก็ต้องมาดูกันว่าต่อไปศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง เบิร์ด ธงไชย, ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, ไผ่ พงศธร, หนุ่ม กะลา จะขายอะไร  

ส่วน เฮียฮ้อ ต้องบอกว่าปีนี้เขามาแรงแบบไม่กลัวโควิด นอกจากประกาศสร้างผลประกอบการแบบนิวไฮในไตรมาส 1 จากยอดขายที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง แล้วยังเปิดฐานที่มั่นแห่งใหม่ โอ่อ่าสวยงามบนเนื้อที่ 15 ไร่ บนถนนประเสริฐมนูกิจ ถ้ารวมพื้นที่กับบ้านของเฮียฮ้อในที่ดินติดกันอีกประมาณ 15 ไร่ อาณาจักรแห่งนี้มีพื้นที่รวมกันถึง 30 ไร่

และที่สำคัญทั้งที่ดิน และอาคารทั้งหมดคือทรัพย์สินของ เฮียฮ้อ โดยบริษัท อาร์เอสเป็นผู้เช่า

รายได้หลักในวันนี้ คือธุรกิจพาณิชย์ 56% ธุรกิจสื่อ 30% ส่วนอีก 14% มาจากธุรกิจเพลงและอื่น ๆ

รายได้ของธุรกิจคอมเมิร์ซมาจากการขายสินค้าผ่าน อาร์เอส มอลล์ แพลตฟอร์มที่จำหน่ายสินค้าในหลากหลายช่องทาง ทั้งสินค้าของบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ และสินค้าจากพันธมิตร ผ่านช่องทางออนแอร์ ช่อง 8 และช่องพันธมิตรผู้นำทีวีดิจิทัลรายอื่น ๆ วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

ปัจจุบันอาร์เอส มอลล์ มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 1.4 ล้านราย เป็นจุดแข็งสำคัญในการบริหารข้อมูลลูกค้าเพื่อนำเสนอโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด

ถึงแม้วันนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถือเป็นประเภทสินค้าที่สร้างยอดขายได้มากที่สุด

แต่เฮียฮ้อก็ยังพร้อมที่จะออกสินค้าใหม่ที่ใคร ๆ คาดไม่ถึง ภายใต้วิธีคิดที่ว่าขายอะไรก็ได้ที่เติมเต็มชีวิต และความสุขของผู้คน ดังนั้น รังนกพร้อมดื่ม และตลาดอาหารสัตว์  ของค่ายอาร์เอสจะออกมาอวดโฉมภายในปีนี้  ซึ่งอาหารสัตว์นั้นเป็นสินค้าเชิง Emotional ที่เขามั่นใจว่าผู้คนยอมจ่ายเพราะทุกวันนี้คนเลี้ยงสัตว์แบบลูกมากขึ้น

และที่สำคัญ ที่เคยมีข่าวว่าเฮียฮ้อจะเลิกทำเพลงนั้นไม่จริง เพราะภายในปีนี้ยังวางแผนกลับมารุกธุรกิจนี้อีกครั้งหนึ่ง

ความสำเร็จของคอนเสิร์ต แร็พเตอร์ 25 ปี และ D2B Infinity Concert 2019 ที่ขายที่นั่งหมดภายใน 5 นาที จำนวนนับหมื่นที่นั่ง สะท้อนถึงอิมแพ็กของคำว่าแฟนคลับ และอาจทำให้เฮียฮ้อทิ้งธุรกิจค่ายเพลงไม่ลง

และที่สำคัญการทำธุรกิจค่ายเพลงให้แข็งแรงคือตัวสร้างศิลปินที่ขยายต่อไปยังฐานแฟนคลับ ซึ่งจะกลับมาเป็นลูกค้าในที่สุด

ไม่ต่างกับกลยุทธ์ของ อากู๋ ที่กำลังขับเคลื่อน Fan Base Marketing “ตกปลาในบ่อตัวเอง” โฟกัสจากฐานแฟนคลับของตัวศิลปินก่อน ก่อนที่จะต่อยอดและขยายฐานแฟนคลับให้กลายมาเป็นลูกค้า  

ถึงบรรทัดนี้ น่าจะสรุปกันได้ว่า แกรมมี่ อาร์เอส หรือ เฮียฮ้อ และ อากู๋ คงต้องแข่งขันกันต่อไปในถนนสายดนตรี และธุรกิจค้าขายไปอีกนาน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online