เศรษฐกิจใหม่ กับภารกิจที่ผู้นำต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสนับจากนี้ (วิเคราะห์)

ธนาคารกรุงไทยจัดงานสัมมนา Krungthai Precious Plus ในหัวข้อ “NEXT IS NOW : พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” โดย CEO แถวหน้าของเมืองไทยที่มาร่วมกันไขรหัสกลยุทธ์ในยุคหลังโควิด-19 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา

โดย ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) วิเคราะห์ “โอกาสของนักธุรกิจไทยในเศรษฐกิจใหม่ ยุคหลังโควิด-19” ว่า

“ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นระบบดิจิทัล หรือ Digitalization ที่เข้ามาเร็วในบ้านเรา ไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอด ฉะนั้นเราจะบอกว่านวัตกรรมจะไปช้าไปเร็วแค่ไหน รัฐบาลออกนโยบายไว้หลายที่แล้ว ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลก็มี ภาคเกษตรก็มีเรื่อง Smart Farming อุตสาหกรรมก็มี อย่างเรื่องผลิตอาหาร พวกนี้เป็นระบบที่ย่อมเกิดขึ้นจริง ผมขอให้รัฐบาลและธุรกิจทั้งหลายมาช่วยกันเน้นดูว่าโอกาสเหล่านี้จะเป็นอย่างไรใน 2-3 ปีข้างหน้า เพราะมองไปไกลกว่านี้ผมก็อาจจะไม่เห็น

แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้คิดว่าสินค้าที่สามารถหาช่องทางการลงทุนได้ในเรื่องอุตสาหกรรมมี 3 อุตสาหกรรม สองอันแรกคือด้านการแพทย์และอาหาร ซึ่งคงไม่ต้องพูดมาก ไม่ใช่แค่ว่าโรคระบาดจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารมากมาย ดังนั้น การที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหาร เป็นศูนย์ของสินค้าเกษตรต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องรักษาคุณภาพความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้จีนนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มเป็น 10% เปิดช่องทางส่งออกมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารจะต่อยอดได้มากและนำเทคโนโลยีแปรรูปอาหารมาช่วยได้อีกมาก

อุตสาหกรรมสุดท้าย คือที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารและโทรคมนาคม ในขณะนี้หรือปีสองปีข้างหน้า ผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่ฟื้นยาก คือคมนาคมและการเดินทาง แต่เรื่องที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารออนไลน์จะมีการขยายตัวมากมาย บริษัทอย่างอะเมซอนหรือซูมที่เกิดขึ้นมา เพราะเราต้องประชุมทางไกลกันอย่างมาก ฉะนั้นในหลักการแล้วพวกนี้ถ้าทำได้จะเป็นทางรอดที่ต้องพิจารณาต่อไป”

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดมุมมอง “วิสัยทัศน์ธุรกิจวิถีใหม่” ว่า สถานการณ์การระบาดได้สร้างผลกระทบในทุกมิติเป็นวงกว้าง เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต WHO ระบุว่านี่เป็นวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ New Normal อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป

“วันนี้กรุงไทยขอมองข้ามช็อตไปยังอนาคตเพื่อฉายภาพให้เห็นว่าในปี 2564 เป็นต้นไป มีอะไรต้องจับตามองบ้าง และผมขอสรุปสาระสำคัญจาก 5  มิติที่แตกต่างกัน หรือ 5D”

อันแรกคือ Downturn Economy โควิดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกัน นับเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ไอเอ็มเอฟให้นิยามว่าเป็นวิกฤตที่ไม่มีอะไรเหมือน การฟื้นตัวที่มีแต่ความไม่แน่นอน หรือ The crisis like no other and uncertain recovery ผลสำรวจพบว่า 60% ของซีอีโอทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจโลกคงกลับมาได้อย่างช้า ๆ แบบ V-shape กล่าวคือเศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้และใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาที่จุดเดิมได้

อันที่สองคือ Deglobalization โลกข้างหน้านั้นมีความท้าทายอย่างมาก ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ดีกว่าอีกหลายประเทศ เรามีจุดแข็งทั้งในด้านกระบวนการและบุคลากรด้านสาธารณสุข มีวินัยทางการเงินการคลัง รวมไปถึงการตื่นตัวและการนำมาใช้ซึ่งดิจิทัลเทคโนโลยีของภาคธุรกิจ รวมไปถึงการร่วมมือของคนไทยในทุกภาคส่วน เพราะองค์กรมันสมองระดับโลกอย่าง WEF ได้กล่าวไว้ว่า

โควิด-19 จะทำให้เกิด Great Reset ของทุนนิยม การจัดสรรทรัพยากรให้กระจายได้อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม การใช้กลไกรัฐในเชิงรุก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า Nationalization ที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง

อันที่สามคือ Declutter Government สำหรับประเทศไทยศูนย์วิจัยกรุงไทยได้ประเมินไว้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวถึง 8.8% ซึ่งใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่ ธปท. ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากกลไกต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว ส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศหยุดลงพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กับด้านเศรษฐกิจ โดยต้องใช้งบประมาณถึง 1 ล้านล้านบาท ที่เห็นได้ชัดคือการจัดตั้ง ศบค. เพื่อเป็นกลไกในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมการเรื่องท่องเที่ยวแบบ Bubble เพื่อเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการปรับตัวในเชิงดิจิทัล

อันที่สี่คือ Wellness Distancing โควิดทำให้เทรนด์ด้านสุขภาพเด่นชัดขึ้นในทุกมิติ เดิมเราอาจจะมองเรื่องสุขภาพในมิติของการเข้าสู่สังคมสูงอายุเป็นหลัก แต่โควิดปลุกกระแสรักสุขภาพและสุขอนามัยในทุกวัย และได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกกิจกรรมที่จะตามมา ไม่ว่ากิจกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้าน การท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้น ธุรกิจที่อิงไปกับเรื่องสุขภาพได้จึงมีปัจจัยการเติบโตมาสนับสนุนอย่างชัดเจน

อันสุดท้ายคือ Digitization โควิดเป็นตัวเร่งปรากฏการณ์ดิจิทัลเทคโนโลยี แต่คราวนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเป็นทวีคูณในทุกวงการ ในโลกการเงินเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกรรมไร้เงินสด หรือ Cashless Transaction ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ต่อวันมีมากกว่า 10 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจใหม่ โลกข้างหน้า NEXT Normal จะเป็นโลกของการลองผิดลองถูก ต้องยอมรับว่าปัจจุบันไม่มีใครมีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร เพราะทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค กฎเกณฑ์ และเทคโนโลยี แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะคลุมเครือไปหมด สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนแล้วโควิดทำให้เรามองเห็นแนวโน้มใหญ่ ๆ ในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น”

และคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นวิทยากรในงาน ได้เผยวิสัยทัศน์และวิธีการปรับตัวของธุรกิจธนาคารว่า “โควิด-19 เป็นสิ่งท้าท้ายที่สุดเท่าที่ธุรกิจเคยเผชิญมา เพราะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดใส่ทั้งโลก และสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและลูกค้าเป็นวงกว้าง โดยมี 3 เรื่องสำคัญหลัก ๆ ที่ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวสำหรับโลกอนาคต

1. คน ธุรกิจต้องมีและสร้างคน GEN ใหม่ ๆ ที่มีทักษะเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้าน AI และ Blockchain ส่วนพนักงานเก่าที่อยู่ในองค์กร ธุรกิจก็ต้องสามารถรีสกิลให้พวกเขาได้ เพื่อให้บุคลากรขององค์กรเท่าทันต่อโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป

  1. เทคโนโลยี ธุรกิจมีการนำเอาเทคโนโลยีมาให้บริการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีในรูปแบบของ “แพลตฟอร์ม”
  2. ข้อมูล ในโลกยุคใหม่ “ข้อมูล” คือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นดั่งเชื้อเพลิงของเทคโนโลยีที่จะทำให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าได้มากที่สุด ผ่านการวิเคราะห์, ประมวลผล และนำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าจริงๆ

และในอีก 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ เทรนด์ที่จะมาได้แก่ Digital ID หรือระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

โดยต่อไปผู้คนจะไม่จำเป็นต้องไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร ขอเพียงมี Digital ID ทุกคนก็สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ โดยยืนยันตัวตนบนออนไลน์ รวมถึงธุรกรรมอื่น ๆ นอกจากการเปิดบัญชี ซึ่งต่อไปอาจไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวแบบต่อหน้าแล้ว Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด
ในยุคต่อไป สังคมไร้เงินสดอาจจะยกระดับจาก Mobile Banking ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไปสู่ระดับ Digital Currency ซึ่งมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และต้นทุนต่ำกว่ามาก และก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการแลกเปลี่ยนระหว่าง Digital Currency และ Digital Asset บนโลกดิจิทัล

โดยในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนรับผิดชอบสกุลเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency) Digital Document
การไปติดต่องานราชการ ที่ต้องหอบเอกสารมากมาย รวมถึงพิมพ์สำเนาเอกสารจะกลายเป็นอดีตในที่สุด เพราะโลกยุคดิจิทัล เอกสารต่าง ๆ ควรจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อช่วยลดต้นทุนกระดาษ, การจัดเก็บเอกสาร ลดความเสี่ยงที่เอกสารสูญหาย หรือชำรุด อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการ รวมถึงช่วยให้หน่วยงานรัฐและธุรกิจด้วยกันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารระหว่างหน่วยงานได้”

 

ติดตามงานสัมมนาออนไลน์ Krungthai Precious Plus chapter 2 ในหัวข้อ  “NEXT IS NOW : จับกระแส ปรับแผนกลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่” ที่จะเจาะลึกถึงแก่นกลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง โดย CEO ด้านเศรษฐกิจและดิจิทัลแถวหน้าของเมืองไทย วันที่ 27 ส.ค. นี้ เวลา 14.00–15.00 น. ทาง Krungthai Care Facebook และ Youtube

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online