อิเซตัน ปิดแล้ว ! วิเคราะห์การจากไปของห้างญี่ปุ่นในไทย มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?

31 สิงหาคม 2563

21.30 น.

วันสุดท้ายของการเปิดให้บริการของห้างสัญชาติญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง อิเซตัน” และจะปิดตัวลงอย่างถาวร

ห้างสัญชาติญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยตั้งปี 2535 นับรวมตอนนี้ก็ทำตลาดมากว่า 28 ปี ผ่านมาแล้วเกือบทุกวิกฤต

เปิดได้ 5 ปี เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็ยังประคองธุรกิจให้ผ่านมาได้

วิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ก็ยังเอาตัวรอดมาได้

ปี 2563 ที่แม้จะเจอวิกฤตหนักอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เหตุผลของการปิดตัวของ ‘อิเซตัน’ นั้น มาจากการหมดสัญญาเช่าระยะยาวในเดือน ธ.ค. นี้ และจะไม่ต่อสัญญากับเจ้าของพื้นที่อย่างเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN

รวมถึงแผนการลงทุนระยะยาว 5 ปี ของซีพีเอ็นกว่าแสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ต้องการนำพื้นที่คืน 50% และเตรียมรีโนเวตพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับเซ็นทรัลเวิลด์ครั้งใหญ่

 

อิเซตัน ในไทยรายได้เท่าไร

บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด

2556

รายได้รวม 1,412,636,162.00 บาท

กำไร 23,197,920.00 บาท

2557

รายได้รวม 1,256,728,712.00 บาท

กำไร 9,984,273.00 บาท

2558

รายได้รวม 1,330,026,383.00 บาท

กำไร 6,548,183.00 บาท

2559

รายได้รวม 1,422,435,962.00 บาท

กำไร 5,099,157.00 บาท

2560

รายได้รวม 1,423,919,571.00 บาท

กำไร 12,466,790.00 บาท

2561

รายได้รวม 1,454,395,560.00 บาท

กำไร 25,490,739.00 บาท

2562

รายได้รวม 1,275,168,169.00 บาท

ขาดทุน 207,293,586.00 บาท

Marketeer มองว่าการจากไปของอิเซตันในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลาย ๆ อย่าง

การแข่งขันในตลาดค้าปลีกในไทยที่แข่งกันอย่างดุเดือดทั้งห้างสัญชาติไทยเอง และสัญชาติญี่ปุ่น ที่แม้อิเซตันจะมีร้านค้าหรือแบรนด์บางแบรนด์ที่ไม่มีให้ห้างอื่น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำตลาดหรือการชูจุดเด่นเรื่องแบรนด์ รวมทั้งยังมีสินค้าอิมพอร์ตจากต่างประเทศอื่น ๆ ที่ไปเดินครบจบในที่เดียวในปัจจุบันห้างไทยก็ทำได้ไม่แพ้กัน และทำได้ดีกว่า

แม้ในช่วงปี 2559 อิเซตันจะทุ่มงบถึง 1 พันล้านบาทเพื่อรีโนเวตครั้งใหญ่ในคอนเซ็ปต์ This is Japan แล้วก็ตาม

ปัจจัยจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การซื้อของผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส อีคอมเมิร์ซเจ้าต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งร้านค้าออนไลน์ การบินไปเที่ยวและหิ้วกลับมาเองก็มีมากขึ้น

รวมทั้งสินค้าญี่ปุ่นเองไม่ได้หายากอีกต่อไปเหมือนในอดีต

สิ่งเหล่านี้คือข้อท้าทายทั้งห้างไทย และห้างต่างชาติต้องกลับไปนั่งคิดแล้วว่า ตลาดห้างค้าปลีกของไทยไม่ได้แข่งขันกันง่าย ๆ และอะไรคือคีย์ซักเซสให้ธุรกิจเดินฝ่าวงล้อมสมรภูมิการแข่งขันนี้ได้โดยไม่เจ็บตัว

สำหรับอิเซตัน กรุ๊ป ห้างยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1886  เริ่มต้นจากการธุรกิจขายผ้า ก่อนที่ในปี 2008 จะรวมกิจการกับ มิตสึโคชิ เป็น  ISETAN MITSUKOSHI HOLDINGS

มีธุรกิจหลักด้วยกัน 3 ส่วนคือ

ธุรกิจห้างค้าปลีก (department store business)

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (real estate business)

ธุรกิจการเงิน (Finance Business)

โดยธุรกิจห้างดีพาร์ทเมนต์สโตร์คือรายได้หลักถึง 86%

ปัจจุบันในกลุ่ม  ISETAN MITSUKOSHI HOLDINGS มีห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นรวม 22 สาขา ภายใต้ 4 แบรนด์คือ

Mitsukoshi, Marui Imai, Isetan และ Iwataya และยังมีร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 130 สาขา

ส่วนสาขาในต่างประเทศนั้นมีด้วยกัน 34 สาขาแบ่งเป็น

Isetan Mitsukoshi 19 สาขา

Shinko Mitsukoshi 15 สาขา

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online