ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า key success สำคัญตลอดเวลา 15 ปี ของ คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งในเรื่อง ของ “Care” และ “Quality” และจะยังเป็น 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นโลกยุคนี้หรือยุคอนาคต

“เมื่อเริ่มด้วยคำว่า Care ก็จะเป็นที่มาของคำว่า Quality ถ้าเราไม่แคร์ ควอลิตี้เราจะไปไม่สุดนะครับ ดังนั้นการใส่ใจในทุกรายละเอียดได้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร กลายเป็นดีเอ็นเอ ที่ทุกคนต้องมีวิธีคิดที่เหมือนกัน”

การที่จะแคร์คนข้างนอกได้ต้องเริ่มจากการแคร์คนข้างในด้วย โดย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของ Work Life Balance อย่างมากคือนอกจากการทำงานแล้ว ต้องเอาใจใส่ในเรื่องของครอบครัว และการดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพด้วย

เขาเชื่อว่าการใช้ชีวิตแบบนี้จะทำให้คนเราทำงานได้ดีขึ้นกว่าการทำงานหนักอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องอื่นเลย

“เหมือนโทรศัพท์ครับวันนี้เราคุยรวดเดียวไม่ได้กลับไปชาร์จแบต เครื่องก็ดับ ผู้บริหารหลายคนอาจจะลืมคิด Work Life Balance แต่จะ work hard อย่างเดียว ผมว่า work hard ก็ดีแต่ว่า work long จะดีกว่า เพราะเรากำลังพูดถึงการทำงานในระยะยาว”

จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารส่งผลไปยังกฎระเบียบหลายเรื่องของบริษัทที่สะท้อนไปยังเรื่องของการแคร์พนักงานเช่นทุกบ่าย 4โมงครึ่งวันพฤหัสทุกคนสามารถเลิกงานได้เร็ว เพื่อไปออกกำลังกาย เพราะได้ตั้งไว้เป็นวัน Health Day

“ความเป็นจริงก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างถ้างานเยอะจริงๆก็กลับมาทำต่อ คือยังไงเราต้องหาเวลาออกกำลังกาย ที่นี่เรามีโซเชียลคลับด้วย ทำเป็นคอร์ทแบด ฟิตเนส มีโต๊ะสนุกเกอร์ มีคาราโอเกะ สำหรับพนักงานที่ไม่มีเวลาออกไปข้างนอกก็เข้ามาใช้ได้เลย”

บริษัทยังจัดให้มีกิจกรรมวิ่งปีละ 2ครั้ง และทุกเย็นวันศุกร์สิ้นเดือนทุกคนกลับก่อนเวลาเลิกงานปกติได้ เพื่อให้มีเวลาให้กลับไปเจอครอบครัวเร็วขึ้น รวมทั้งในวันเกิดสามารถหยุดงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา ปีละ1 วันที่เป็นวันพิเศษของพนักงาน

“ผมไม่ได้บอกว่าให้ทำงานชิลๆ  แต่ผมอยากให้ทุกคนทำงานหนักเพราะเราต้องดูแลลูกค้าเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา แต่เราต้องรู้จักบาลานซ์ชีวิต”

จากการดูแลเพื่อนร่วมงาน กลายเป็น Quality ด้วยการดูแลใส่ใจทุกขั้นตอนการทำงานตั้งแต่การหาซื้อที่ดิน การเขียนแบบบ้าน การก่อสร้าง ไปจนถึงการดูแลหลังการขาย

 

การปรับตัว ในยุค Digital Disruption 

ในอดีตเรื่องของ Care และ Quality คือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จก็จริง แต่ในยุคนี้ ไม่เพียงพอ ถึงแม้ธุรกิจที่อยู่อาศัยจะไม่ได้รับผลกระทบ

จากเรื่องของดิจิทัล ทรานฟอร์ม เป็นอุตสาหกรรมแรกๆแต่มีผลกับการทำธุรกิจแน่นอนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีสำคัญคือทัชสกรีนกับไฮสปีดอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้คนทั้งโลกเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว

พฤติกรรมสำคัญของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคือ

1.เสียงของแบรนด์เบาลงเสียงของผู้บริโภคดังขึ้นคนเชื่อแบรนด์น้อยลงคนเชื่อเพื่อนและคนรอบตัวมากขึ้น

เมื่อก่อนลูกค้าที่เป็นสาวกของแบรนด์ผูกพันกับแบรนด์พร้อมที่จะกระโดดเข้ามาปกป้องเมื่อแบรนด์มีข้อน่าตำหนิ แต่เสียงของพวกเขาจะไม่ดังเท่าวันนี้ เพราะในยุค4.0 สาวกทั้งหลายได้ขึ้นมาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต งั้นสิ่งที่ต้องทำคือความจริงใจ ถ้าไม่จริงใจจะไม่มีใครมาปกป้องเรา แล้วเสียงที่ถล่มเราจะดังมากขึ้นแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อนเช่นกัน”

2.เรื่องของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หลาย10ปีที่แล้ววิทยุจะเข้าให้ถึงคน 50 ล้านคนต้องใช้เวลาถึง38 ปี ทีวีคือยุคถัดมาใช้เวลา13 ปี อินเทอร์เน็ตใช้เวลา3ปี ทวิตเตอร์ใช้เวลา.75 ปี วันนี้ยูทูปใช้เวลาไม่ถึงเดือนเข้าถึง50ล้านคน เพราะฉะนั้นการเชื่อมต่อของคนทั้งโลกทำได้เร็วขึ้นมาก

วันนี้ลูกผมเนี่ยอายุ 3 ขวบเขาพูดกับSIRI ระบบการสั่งการด้วยเสียงบนไอโฟนเป็นเรื่องปกติแล้ว เขาไม่เคยถามว่าในSIRI มีอะไรอยู่เขาไม่สงสัยเลยว่าทำงานยังไง เพราะฉะนั้นคนยุคใหม่ๆจะตอบโต้กับเทคโนโลยีเร็วมากๆ โลกของออนไลน์กับออฟไลน์ ไม่มีพรมแดนแล้ว”

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือแลนด์สเคปทางธุรกิจเปลี่ยนไป เช่นบริษัทที่ขายadได้เยอะที่สุดในโลกอย่าง เฟซบุ๊กไม่ได้มีคอนเทนท์ของตัวเองแต่เข้าถึงผู้คนมากมาย กลุ่มดิจิทัลไจแอนท์ Apple Microsoft Ebay Google จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆขยายๆ โดยใช้ความสามารถจากฐานเดต้าเดิม

แล้ว เอสซี แอสเสท จะปรับตัวอย่างไร

 

 

โรดแมปสามปี SC RE-INVENTION 2020

ยุคนี้บริษัทจะทำงานคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับคนอื่น ดังนั้นสิ่งแรกคือคนในองค์กรต้องปรับวิธีคิดใหม่ จากที่เคยคิดว่าเราทำบ้านขายโดยคิดแทน

ผู้บริโภคเป็นหลักว่าเขาต้องการบ้านแบบนั้นแบบนี้ เปลี่ยนเป็นคิดจากลูกบ้านเป็นหลักว่าเขาต้องการได้บ้านแบบไหน

“พอไปโฟกัสที่ลูกค้าก็คิดได้ว่าเราไม่ได้ทำแค่ที่ อยุ่อาศัยนะแต่ทำการอยู่อาศัย พอเห็นภาพนี้เราก็เลย เปลี่ยนตัวเองจาก developer เป็น Living Solution นี่คือการขยายวิธีคิด เพราะการใช้ชีวิตของเขามันไม่ได้จบอยู่แค่นี้ มีอีกหลายเรื่องหลายเทคโนโลยีที่จะไปตอบโจทย์ชีวิตเขา เราต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และเมื่อเราทำเองไม่ได้ก็ต้องไปร่วมมือกับคนอื่นทำให้”

เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เอสซี จึงประกาศโรดแมปสามปี SC RE-INVENTION 2020 ปรับวิธีคิดจากการเป็น Developer ก้าวสู่การเป็น Living Solutions Provider ทำงานร่วมกับ partners หลากหลายใน ecosystem เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นบน landscape ใหม่นี้ โดยจะเติบโตด้วยกลยุทธ์ 4 ข้อคือ

1. RE-INVENTION จาก DEVELOPER สู่ LIVING SOLUTIONS PROVIDER ผ่าน 3D  คือD1 DIGITIZE ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจาก analog เป็น digital เพื่อจะได้นำ data ทั้งในส่วนการทำงานและความต้องการของลูกค้า (insights) มาวิเคราะห์และพัฒนาให้ดีขึ้น

D2 DESIGN ใช้หลัก human-centric ออกแบบสินค้า บริการ และโซลูชั่น (solutions) โดยเริ่มต้น ทำความเข้าใจปัญหา หรือ pain points ในการใช้ชีวิตของลูกค้าคือคิดจากลูกค้า จากปัญหาก่อนแล้วค่อยมาแก้ บ้านอาจไม่ต้อง 4 ห้องนอนก็ได้ อาจจะ 3 ห้องนอนแต่ใหญ่ขึ้นก็ได้ หรือบ้านอาจจะเหลือแค่ 2 ห้องนอน แต่ที่จอดรถเป็น 10 คันก็ได้ ถ้าเราคิดของเราเองก็จะได้แบบเดียว แต่ถ้าเราคิดจากลูกค้าเราก็จะได้อีกแบบหนึ่ง

D3 DEVELOP ประสานนวัตกรรม และพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพในทุกระดับราคา

2. CO-CREATION ด้วยการที่ SC ร่วมกับพันธมิตรในระบบ ecosystem ส่งมอบ living solutions (การพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการหลังการขาย โดย SC และสิ่งอื่นๆ โดยพันธมิตร) ให้ลูกค้าและชุมชนข้างเคียง เราเรียก living solutions platform ของเราว่า Rue Jai

3. QUALITY FIRST คุณภาพสินค้าและบริการเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งใด แบ่งเป็นสองส่วนคือ pre-transfer และ after-transfer

4. TOP-LINE GROWTH เติบโตในส่วน top-line ทั้งยอดขายและรายได้ อสังหาฯ เพื่อขายทำหน้าที่หลักขับเคลื่อนการเติบโต ในขณะที่อสังหาฯ เพื่อเช่าทำหน้าที่เป็น secured income ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อเช่ารวม 110,000 ตรม. มีสัดส่วนของกำไรสุทธิสูงถึง 1 ใน 4

วิถีองค์กรนวัตกรรมของ เอสซี แอสเสท

การเตรียมคนเพื่อรองรับการทำงานในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ทุกๆปีจะมีกิจกรรมที่เรียกว่าSense Making Unit ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมาเข้าร่วมคิดสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิมที่เคยทำ แล้วก็เชิญกรรมการคนข้างนอกมาคอมเมนต์ โดยมีรางวัลให้สำหรับคนชนะ

บริษัทยังได้เปิด Coworking Space ที่ เรียกว่าห้องทำงานและลานทดลองรู้ใจบนชั้น14 เพื่อเป็นเวทีจริงให้บริษัทและผู้ค้ามาประลองไอเดียกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้ลูกค้า

“คือเราฝันว่า living ของคน 2030 จะเป็นยังไง เอาสิ่งที่บริษัทเราฝันทำออกมาให้คนเห็น แล้วพาทีมพาร์ทเนอร์มาดู จะบริษัทเล็กใหญ่ ไม่สำคัญ มาเพื่อร่วมสร้าง living solution ให้ลูกค้า คือเปลี่ยนจากการประชุม มานั่งทำงานและระดมสมองไปพร้อมๆกัน”

เป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มอสังหาฯเพียงอย่างเดียวแล้ว ล่าสุดยังได้ไปจับมือกับ AIS พัฒนาแอปพลิเคชันเรื่อง สมาร์ทโฮมขึ้นมาโดยเป็นการทำงานร่วมกับอีก 2-3 พาร์ทเนอร์ด้วยกัน

ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์

ภารกิจตามหาความต้องการของลูกบ้านในอนาคต

ภายใต้วิธีคิดเดิมเรื่องของการแคร์และ ควอลิตี้ ปีนี้ “บ้านรู้ใจ” แอปพลิเคชันของบริษัท จะพัฒนาโฮม service เพื่อทำให้ลูกค้าติดต่อง่ายขึ้น

ปีนี้ ยังมีโครงการแนวราบ ที่เป็น hi-light คือ township concept development จำนวน 2 โครงการ 2 ทำเล บนที่ดินผืนใหญ่ทำเลกรุงเทพตะวันออก บริเวณถนนกรุงเทพกรีฑากว่า 115 ไร่ และกรุงเทพตะวันตก บางกระดี จ.ปทุมธานีกว่า 200 ไร่ ซึ่งจะเปิดขายครึ่งปีหลังของปี 2018

เป็นโครงการที่มีแนวความคิดที่ต่างจากการทำโครงการอื่นๆ ด้วยการทำวิจัย ความต้องการของผู้บริโภคที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เพื่อหาโมเดลของการสร้างที่อยู่อาศัยว่าอีก 30 ปีข้างหน้าคนต้องการอะไร โซลูชั่นและที่อยู่อาศัยแบบใหม่ควรจะเป็นอย่างไร วิจัยนี้จะเสร็จประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2561

คอนเซ็ปต์ของทาวน์ชิพที่จะเกิดขึ้นนี้นอกจากจะสำรวจความต้องการของลูกบ้านแล้วรอบๆโครงการในรัศมี 3 กิโลเมตร ชุมชนต้องการอะไรโครงการต้องคำนึงตรงนั้นด้วย

วันนี้เรากำลังตื่นเต้นกับข้อมูลที่เราจะเห็นว่าฝั่งกรุงเทพกีฑา หรือฝั่งบางกะดี่ ความต้องการของมนุษย์คืออะไร สุดท้ายเขาอาจจะไม่ได้ต้องการซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้า เพราะทุกอย่างสมารถสั่งผ่านมือถือได้หมดแล้ว ความต้องการอาจจะกลายเป็นสนามหญ้า 1 สนาม หรือสวนสาธารณะที่ครอบครัวมานั่งสูดอากาศก็เป็นไปได้”

ณัฐพงศ์ สรุปว่า พอวันนี้บริษัทเปิดใจ ไม่ได้คิดแค่ว่าเราทำอะไร แต่คิดว่าทำให้ใคร vision จะไปไกลกว่าเดิม ความอีโก้ จะลดลงกิมมิคหรือลูกเล่นในการขายจะหายไป เหลือแต่ความจริงที่ลูกค้าต้องการ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online