อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เอเยนซี่โฆษณา รายใหญ่หลายเจ้าเริ่มพยายามขยาย Connection ที่มีอยู่ให้กว้าง สร้างบริการด้านการทำโฆษณาให้ครบวงจรมากขึ้น

ก็คือการที่ในช่วงนี้มีเอเยนซี่โฆษณาหน้าใหม่เปิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งแต่ละรายที่เกิดขึ้นใหม่ก็มักจะมีความเป็น Specialize – มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนว่าเชี่ยวชาญการทำโฆษณาในรูปแบบไหน

ที่สำคัญคนที่ออกไปเปิดใหม่ก็มักจะเป็นคนเก๋าในวงการ ที่สามารถใช้คอนเน็กชั่นดึงลูกค้าของบริษัทเดิมให้ย้ายเข้าไปอยู่ในที่ใหม่ได้

ซึ่งการเกิดขึ้นของเอเยนซี่หน้าใหม่ที่มีมากมายในช่วง 1-2 ปีให้หลังมานี้ จึงนำไปสู่การตั้งประเด็นคำถามที่ว่า

เอเยนซี่โฆษณา เป็นสิ่งที่ทำง่ายหรอ?

เพื่อไขข้อสงสัย เราจึงได้ไปรื้อบทสัมภาษณ์ระหว่าง Marketeer กับเอเยนซี่โฆษณาชั้นนำของไทยภายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อมาวิเคราะห์และกลายเป็นคำตอบที่ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอะไรที่มีความเชื่อมโยงกัน

1.แบรนด์ทั้งหลายมีแนวโน้มจะใช้เม็ดเงินกับโฆษณออนไลน์มากขึ้น

แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอัตราการใช้เงินไปกับสื่อโฆษณาของแบรนด์จะลดลง แต่นั่นก็มาจากเหตุการณ์การสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อพ้นช่วงไว้ทุกข์ แบรนด์ทั้งหลายก็กลับมาใช้เม็ดเงินไปกับสื่อโฆษณาเหมือนเดิม สะท้อนได้จากการที่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ได้ออกมาบอกว่า

“มูลค่าของงบโฆษณาบนดิจิทัลในปี 2560 อยู่ที่ 12,402 ล้านบาท เติบโตจากปี 2559 มาถึง 31% ทั้งที่คาดไว้ว่าน่าจะเติบโตเพียง 18%

และคาดว่ามูลค่าของงบโฆษณาบนดิจิทัลในปี 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 14,330 ล้านบาท

ซึ่งการเติบโตเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการที่ธนาคารรายใหญ่ของประเทศปรับตัวเข้าสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล รวมถึงนโยบายการสนับสนุน Cashless Society ของทางรัฐบาล”

และจากข้อมูลข้างต้นก็ทำให้หลาย ๆ คนเห็นโอกาส อยากจะกระโจนเข้าไปแย่งชิ้นเค้กก้อนใหญ่นี้กันมากขึ้น นำมาสู่การเปิดเอเยนซี่โฆษณาที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

2.คนเก๋าในวงการ ออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง

แม้จะเป็นเอเยนซี่หน้าใหม่ แต่คนที่ออกมาเปิดส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนเก๋าในวงการที่เคยทำงานอยู่ในเอเยนซี่ขนาดใหญ่กันมาก่อนทั้งนั้น เพราะธุรกิจนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ อยากจะทำก็เอาเงินมาเปิดเป็นบริษัทได้ แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์ คอนเน็คชั่น เพื่อทำให้ลูกค้าวางใจที่จะฝากแคมเปญโฆษณาไว้ในมือของพวกเขา

ซึ่งนอกจากเหตุผลในเรื่องของการเห็นโอกาส ภาวะความเครียดความกดดันที่เคยมีอยู่ในการทำงานที่องค์กรเก่าก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกจะออกมาทำเป็นธุรกิจของตัวเอง

3.ออกมาทำเอง แต่เงินทุนไม่ได้เป็นของตัวเองทั้งหมด

แม้ออนไลน์จะเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย ใช้เงินตั้งต้นไม่มากเท่ากับการทำ Traditional Media เหมือนอย่างในอดีต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกจนทำไม่ว่าใครก็ควักกระเป๋าออกมาทำกันได้ทั้งนั้น

เอเยนซี่โฆษณาหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นมา จึงมักจะมีการร่วมทุนเพื่อให้ธุรกิจมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงอย่าง SOUR Bangkok ก็มีการร่วมมือกับทาง CJ Worx, KOL ของชมพู่ อารยา ก็เกิดจากการร่วมมือกับ อาลี ซีอานี,หรืออย่าง Workpoint เองก็ไม่ต้องบอกว่าบริษัทแม่มีงบการเงินที่แข็งแกร่งขนาดไหน

4.เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา ทำให้มีการทำโฆษณาในรูปแบบที่หลากหลายออกไป

เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามีผลต่อวงการโฆษณานั้นมีมากมาย และแต่ละอย่างก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญแบบเฉพาะทาง

ตรงนี้เองจึงกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เอเยนซี่ใหม่ออกมาให้บริการในรูปแบบของ Specialize ที่มุ่งเน้นไปบริการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อย่างเช่นถ้าเป็น KOL ก็จะโฟกัสแค่ KOL อย่างเดียว, เป็น Media Agency ก็จะเน้นซื้อสื่ออย่างเดียว เป็นต้น

ซึ่งนี่ก็ถือเป็นข้อดีในการสร้าง Positioning ของแบรนด์ให้ชัดเจนไปเลยว่าเก่งด้านไหน

แต่ก็ถือเป็นอะไรที่น่ากังวลเหมือนกัน เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มาไวไปไว หากตอนนั้นหมดเทรนด์ เทคโนโลยีนั้น ๆ หรือเทรนด์นั้น ๆ ตกกระแสไป เอเยนซี่ที่มีความเป็น Specialize เหล่านั้นจึงต้องหาทางรอดด้วยวิธีอื่น

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online