ธุรกิจแฟชั่นจากที่เคยขายดิบขายดี

พอมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นเชื้อร้ายทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด และไปต่อให้ได้

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากที่เดินทางไปทำงาน ก็ต้องกลายเป็นว่า ทำงานแบ WFH อยู่บ้านมากขึ้น

ทำให้ “เสื้อผ้าแฟชั่น” กลายเป็นเรื่องรอง และหันมาใช้จ่ายกับกลุ่มสินค้าด้านสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนกันมากขึ้น

ข้อมูลจาก Priceza อันดับสินค้าที่เติบโต-ลดลงในช่วง ม.ค.-ก.พ. เทียบกับ มี.ค.-เม.ย. พบว่า กลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุดคือ สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เติบโต 34%

ขณะที่สินค้า “กลุ่มแฟชั่น” ลดลงอย่างมาก

แต่ในวิกฤตนี้ก็ยังมีโอกาสทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งหาทางออก จากที่มีวัตถุดิบอย่าง ‘ผ้า’ ไว้ผลิตเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่นอยู่แล้ว ก็ปรับไลน์มาผลิต “หน้ากากผ้า” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมทั้งใส่นวัตกรรมและดีไซน์

เพื่อเป็นทางเลือก และทางรอดในวันที่ขายเสื้อผ้าไม่ดีเหมือนเดิม

Marketeer ขอยกตัวอย่างแบรนด์มาให้ดูด้วยกัน 3-4 แบรนด์

GQ แบรนด์เสื้อผ้าที่มีอายุกว่า 50 ปี จากที่มีสินค้าเด่นคือเสื้อเชิ้ต ปรับตัวผลิตหน้ากากผ้า GQWhite ชูจุดขายเรื่องเทคโนโลยีเต็มๆ ทั้งป้องกันละอองน้ำ สายปรับได้ ซักซ้ำได้ 30 ครั้ง

ในล็อตแรกที่ส่งหน้ากากผ้าออกมาขาย สามารถขายได้ถึง 100,000 ชิ้น

หลังจากที่ส่งรุ่นแรกออกมาจำหน่าย GQ เองพัฒนาหน้ากากออกมาในหลายรูปแบบเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค ปรับตัวรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ที่ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ธ.ค. เปิดตัว “GQ DNA Concept Store” ที่ซอยสุขุมวิท 33 ชูจุดขายด้านเทคโนโลยี โปรดักต์ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อเชิ้ตขาว เสื้อโปโล และหน้ากากผ้า กว่า 100 SKU

พร้อมทั้งเปิดโซนให้ลูกค้าสามารถออกแบบลวดลายหน้ากากผ้าด้วยตนเองอีกด้วย

ตอนนี้ GQ ขายหน้ากากผ้าไปแล้วมากกว่า 10 ล้านชิ้น จากทั้งในและต่างประเทศ

NARAYA กระเป๋าของฝากสุดฮิตที่ชาวจีน ญี่ปุ่น ต้องซื้อกลับไปทุกครั้งเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย แต่โควิด-19 ทำให้นารายาเหมือนตกสวรรค์ ในวันที่นักท่องเที่ยวลดลง และไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว แม้จะสามารถเปิดร้านขายของได้ แต่ไม่มีรายได้กลับเข้ามา เพราะลูกค้าหลักคือกลุ่มนักท่องเที่ยว

นารายาต้องปรับกระบวนท่าจากที่มีผ้าที่มีคุณภาพ ก็ปรับมาผลิตหน้ากากผ้าแทน จากที่แรกเริ่มเดิมทีผลิตให้พนักงานใช้ แต่เมื่อมีความต้องการของตลาดมากก็หันมาผลิตอย่างจริงจัง

เปิดขายวันแรก 10 มีนาคม จนถึงปลายเดือนมีนาคม นารายาขายหน้ากากผ้าไปประมาณ 8 แสนชิ้น ผ่านไปประมาณ 3 เดือน ขายไปแล้วประมาณ 4-5 ล้านชิ้น

มีจุดเด่นเรื่องราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ รวมถึงมีวางจำหน่ายทั้งออนไลน์และหน้าร้าน

SABINA จากที่เคยผลิตชุดชั้นในมีออเดอร์ไม่ขาดมือ ช่วงที่ล็อกดาวน์ออเดอร์ชุดชั้นในจากต่างชาติหายไป และจากการที่ซาบีน่ามีวัตถุดิบทั้งเรื่องคน และวัสดุอย่างผ้า คำตอบก็มาลงเอยที่ หน้ากากผ้า ที่ขาดตลาดอยู่ในช่วงนั้น

ช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาซาบีน่าหยุดผลิตชุดชั้นใน และปรับไลน์มาผลิตหน้ากากผ้าแทนทั้งแบรนด์ของซาบีน่าเอง และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่น ทำให้ออเดอร์การผลิตหน้ากากผ้าในปัจจุบันมีสัดส่วนราว 20%

WACOAL จากการปรับแผนการผลิตชุดชั้นในเพื่อหันมาผลิตหน้ากากผ้าแจกฟรีเมื่อต้นปี 63 วาโก้ได้ผลิตหน้ากากผ้าออกมา 3 รูปแบบคือ แบบผ้าสเปเซอร์, แบบผ้าฝ้ายเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพอร์มา และแบบผ้าฝ้ายผสมสแปนเด็กซ์

จากกระแสตอบรับดีจึงได้ปรับแผนการผลิตชุดชั้นในบางส่วนมาผลิตหน้ากากผ้าจำหน่ายตามคำเรียกร้อง ภายใต้คอนเซ็ปต์ Wacoal 3D Mask Healthy with style ปลอดภัยทั้งทีต้องมีสไตล์

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ก็หันมาปรับตัวใส่ดีไซน์ ใส่นวัตกกรรมผลิตหน้ากากผ้าเช่นกัน นอกจากป้องกันเชื้อโรคแล้ว ต้องสวยด้วยไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ erawon, Greyhound, Smileyhound, PAINKILLER , CARNIVAL, Varithorn Boutique ฯลฯ รวมทั้งแบรนด์ดังต่างประเทศอย่าง Uniqlo, Adidas ฯลฯ

ที่ในเวลานี้บอกได้คำเดียว่า “หน้ากากผ้า” คือเกมเอาตัวรอดของแบรนด์แฟชั่น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online