เป็นเรื่องจริงที่ตลาดทีวีในปีที่ผ่านมาหดตัวอย่างเห็นได้ชัดจากมูลค่า 30,000 ล้านบาทในปี 2015 เหลือเพียง 28,000 ล้านบาทในปี 2016 และจำนวนยอดจำหน่ายลดลงจาก 2.7 ล้านเครื่องเหลือเพียง 2.5 ล้านเครื่องเท่านั้น ถึงแม้ว่าในปี 2016 จะมีบอลยูโร ที่ตามปกติแล้วในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลแมตซ์ระดับโลกทีวีจะขายดีผิดปกติในช่วงเวลานั้น นั่นเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
โอกาสในการเติบโตของตลาดทีวีในปีนี้จึงเป็นหน้าที่หลักของทีวีพรีเมียมที่มีขนาดจอใหญ่มากกว่า 45 นิ้ว ดีไซน์บาง ให้คุณภาพภาพระดับ Full HD ไปจนถึง 4K และ OLED ซึ่งเป็นกลุ่มแนวโน้มการเติบโตอย่างน่าสนใจในทุกๆ ปี โดยเฉพาะ 4K และ OLED และลูกค้าทีวีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเหมือนกลุ่มแมส
สิ่งที่ช่วยเสริมให้ 4K และ OLED เติบโตนอกจาราคาที่ลดลงจากหลักแสนเหลือหลักหมื่นและจะคงที่เช่นนี้ไปต่อเนื่องอีกหลายปีจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการมีคอนเทนต์ที่มากพอทั้งวิดีโอออนดีมานด์และแผ่นภาพยนตร์รองรับการชมระดับ4K ดึงดูดให้ผู้ซื้อเห็นถึงความแตกต่างในการรับชมที่ได้อรรถรสภาพที่ดีกว่า โดยเฉพาะ Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้ชม Smart TV และจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเน่องหลังจาก Netflix มีบริการ Thai Subtitle ในปีนี้
เพราะถ้าไม่มีคอนเทนต์ผู้ซื้อจะจ่ายแพงกว่าทำไม
จึงไม่แปลกเลยที่แบรนด์ทีวีจะเทน้ำหนักไปที่ทีวีพรีเมียมอย่างเห็นได้ชัด
และคาดว่าปีนี้ตลาดทีวีมีมูลค่า 29,000 ล้านบาท เติบโต 2% แม้จำนวนยอดจำหน่ายจะเติบโตเพียง 1% หรือมากกว่า 2.5 ล้านเครื่องเพียงเล็กน้อย
โอกาสนี้ขอขึ้นเบอร์1 พรีเมียม
เกมขับเคี้ยวในตลาดทีวีไทยผู้นำอันดับ 1 และ 2 ได้ตกเป็นของแบรนด์เกาหลีอย่างซัมซุงและแอลจีมาตลอดระยะเวลาหลายปี
โดยในตลาดรวมซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาด 30% แอลจี 21% ส่วนตลาดพรีเมี่ยมซัมซุง 40% แอลจี 30%
การเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดรวมเห็นจะดูเหนื่อย โดยเฉพาะในวันที่ทีวีแมสโตไม่มีการเติบโตบนการแข่งขันที่สูงของผู้ผลิตทีวีในทุกๆ แบรนด์
แอลจีจึงเลือกเซ็กเมนต์พรีเมียมเป็นจุดหมายแรกที่แย่งชิงความเป็นหนึ่ง โดยปีนี้แอลจีหวังว่าจะสามารถชิ่งส่วนแบ่งตลาด 40% ได้ไม่ยาก
สิ่งที่ทำให้ LG มั่นใจมาจากการมีสินค้าในเซ็กเมนต์ 4Kและ OLED เพิ่มขึ้นจาก 4 รุ่นเป็น 4 ซีรีย์ 7 รุ่น ตั้งแต่ระดับราคา 99,000 บาท ไปจนถึง 59,990 บาท เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์ ที่สร้างโฮมเธียร์เตอร์ในบ้าน
โดยเฉพาะ OLED TV นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างยอดจำหน่ายในปีนี้ได้ 500 ล้านบาท จากตลาดรวม 537 ล้านบาท
สิ่งที่ทำให้นิพนธ์เชื่อเช่นนั้นมาจากการเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอเทคโนโลยี OLED มาตั้งแต่ปี 1993 ที่พัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด LG OLED TV ซีรี่ย์ G7T นอกเหนือจากความคมชัด สีอิ่มเสมือนจริง รับชมได้ทุกมุมมองตลอด 180 องศา มีจุดเด่น ด้านการรับชมการรับชมออนไลน์ผ่านวิดีโอสตริมมิ่งมากขึ้น ทั้ง Youtube Netflix และ Monomaxxx พร้อมสามารถแชร์คอนเทนต์ผ่านสมาร์ทโฟนบนทีวีด้วย Magic Mobile Connection
โดยเฉพาะ Netflix ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้งานแอลจี โดยวัดจากการเชื่อมต่อ Netflix ผ่านสมาร์ททีวีแอลจีทุกรุ่น พบว่า ตลอด 4 เดือนแรกของปี มีผู้เข้าใช้งาน Netflix 335,830 ครั้ง จาก Unique Device 43,114 คน รวมถึง
พร้อมงบการตลาด 115 ล้านบาท จากงบการตลาดทีวีรวม 150 ล้านบาท ให้ความสำคัญกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โดยใช้ Influencer เต๋อ นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเป็นครั้งแรกของ LG TV ที่ใช้พรีเซ็นเตอร์ในการโปรโมท ตลอดจนเพิ่มช่องทางการขาย OLED TV จาก 110 ร้านค้าเป็น 200 ร้านค้า เน้นสร้างประสบการณ์การใช้งานผ่าน LG Experience Zone ไปพร้อมกับทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายทุกไตรมาส และบริการหลังการขายเกิดความประทับใจเป็นลูกค้าประจำ เพราะในนาทีนี้ตลาดทีวี 99.99% เป็นตลาดรีเพสเมนต์ทั้งหมด
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา LG มีรายได้จากกลุ่มทีวี 7,300 ล้านบาท แบ่งเป็นทีวีพรีเมียม 3,000 ล้านบาท
ในปีนี้คาดการณ์รายได้ 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มทีวีพรีเมียม5,000 ล้านบาท
ไม่ทำตลาด OLED
ในฐานะผู้นำตลาดอย่างซัมซุง ไฉนเลยจะปล่อยให้แอลจี โค่นบัลลังทีวีพรีเมียมไปได้ง่ายๆ
ปีนี้เป็นถ้าซัมซุงยังเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง นั่นหมายถึงซัมซุงจะครองแชมป์ทีวีต่อเนื่องถึง 11 ปี ซึ่งการเป็นผู้นำอันยาวนั้น เป็นความท้าทายของ วรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ที่จะรักษาให้ได้
แต่เกมการตลาดของทีวีพรีเมียมซัมซุงในปีนี้สวนทางกับแอลจีโดยสิ้นเชิง โดยซัมซุงยกเลิก OLED TV เพื่อสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ QLED แตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยเหตุผลที่วรรณาให้ไว้ว่า OLED TV เมื่อใช้ไปนานๆ สีภาพจะซีดลงอย่างต่อเนื่อง และมีเอฟเฟคเมื่อเปลี่ยนช่อง หลังจากเปิดทีวีที่มีโลโก้ค้างไว้นานๆ โลโก้ของช่องเดิมยังคงค้างอยู่ที่หน้าจอ แต่ OLED TV ยังคงใช้กับมือถือซัมซุงต่อไป คนใช้บ่อยกว่า แต่ต่อครั้งไม่ได้ดูนานเท่าทีวีทำให้ไม่เกิดปัญหาสีแสดงผลซีดจาง
ในปีนี้ซัมซุงเน้นแตกต่างด้านดีไซน์และเทคโนโลยีตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองทีวีเป็นเครื่องประดับที่ให้ความบันเทิงที่เต็มอรรถรส อุดรอยรั่วของปัญหาทีวีที่สายเกะกะไม่สวยงามสร้างข้อจำกัดด้านการจัดวาง และมีรีโมทมากเกินความจำเป็น สอดคล้องกับผลการสำรวจของซัมซุงพบว่า ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อทีวีพรีเมียมเครื่องใหม่จาก คุณภาพของภาพ 93% รูปโฉมและการออกแบบ 88% แบรนด์ 86% และฟังก์ชันสมาร์ททีวี 79%
ในไตรมาสสองที่ผ่านมาซัมซุงจึงได้นำคอนเซ็ปต์ The Next Innovation in TV เปิดตัว Samsung QLED TV 3 รุ่น ทั้งจอตรงและจอโค้ง ขนาด 55นิ้ว-88 นิ้ว ที่มาพร้อมกับจุดเด่น 3 ด้านคือ หนึ่ง ทีวีจอโค้ง ให้สีสันให้เข้มข้น 100% ชัดทุกมุมมอง สอง-นวัตกรรมสายไฟเส้นเล็กเพียงเส้นเดียวให้ความรู้สึกเหมือนสายล่องหน สามารถติดทีวีไว้บนผนังโดยแทบไม่เหลือช่องว่างระหว่างทีวี สามารถควบคุมอุปกรณ์ได้ด้วยรีโมทเดียว และสาม-ฟังก์ชั่น TV Plus เข้าถึงคอนเทนต์ความบันเทิงอย่างง่ายดาย ในราคาเริ่มต้นแสนกว่า ถึง 6 แสน
สร้างตลาดผ่านการสื่อสารด้วยช่องทางดิจิทัลเป็นหลักถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มไฮเอนด์รุ่นใหม่ พร้อมจัดหน้าร้านใหม่ 200 ร้านค้า สร้างประสบการณ์การรับชม Samsung QLED TV โดยตรง และของแถมให้กับลูกค้า 100 รายแรกที่ลงทะเบียนข่าวสารผ่านเว็บไซต์และซื้อ QLED TV
ซึ่งการเปิดด้วยเทคโนโลยี QLED นี้ ซัมซุงคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้ทีวีพรีเมียมจาก 70% เป็น 80% ในปีนี้ได้ไม่ยาก
การรบในศึกทีวีพรีเมียมของ 2 แบรนด์เกาหลี แอลจีจะขึ้นครองแชมป์ทีวีพรีเมียมได้ไหม คงต้องดูต่อไปสิ้นปี แต่ที่แน่ๆ คือวันนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคไทยเปลี่ยนทีวี 5 ปีต่อเครื่อง เร็วกว่าทั่วโลกที่เปลี่ยนทุก 7 ปี และสมาร์ททีวีได้กลายเป็นทีวีที่มีการเติบโตสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนผู้บริโภครู้สึกคุ้นเคยกับการใช้ฟังก์ชั่นและแอพพลิเคชั่นมากขึ้น
เรื่อง : ณัฐจิตต์ บูราณทวีคูณ วลัยรัตน์
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ