ตลาดอีคอมเมิร์ซ 2021 พร้อมแนวโน้ม รู้ก่อน ขายก่อน รวยก่อน (วิเคราะห์)
มันดีกว่าที่คิด
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2020 เติบโต 81% มูลค่า 294,000 ล้านบาทสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 220,000 ล้านบาท
การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่พุ่งแรงกว่าที่เคยคาดการณ์มาจากโควิด-19 ที่ผลักดันให้คนไทยหันมาช้อปออนไลน์จนกลายเป็นความคุ้นเคย
และเมื่อคนไทยช้อปปิ้งอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น การเปิดร้านค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ของพ่อค้า-แม่ค้า รวมถึงแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเข้าถึงพลังจับจ่ายของลูกค้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน
จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า ในปี 2020 มีพ่อค้า-แม่ค้าเข้ามาเปิดร้านใน 3 แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี-เซ็นทรัล มากถึง 50% และมีแบรนด์ต่างๆ เปิดร้านค้า Brand Official Store ในลาซาด้าและช้อปปี้เพิ่มขึ้น 46% เช่นกัน
และร้านค้าเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดชั้นดีที่ดึงลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในโลกออนไลน์ จากแคมเปญการตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านออนไลน์ของตัวเองแทนคู่แข่ง
นั่นเพราะพลังของอีคอมเมิร์ซที่สร้างอาณาจักรการซื้อขายที่ทรงพลังจากความง่าย สะดวก สามารถซื้อสินค้าเมื่อไรก็ได้ และไม่ต้องออกเดินทางไปร้านในโลกออฟไลน์ให้เสียเวลา
ส่วนในปีนี้ เทรนด์ของ ตลาดอีคอมเมิร์ซ 2021 จะเป็นอย่างไร
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไพรซ์ซ่า สรุปเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซปีนี้เป็นประกอบด้วยกัน 5 ส่วนสำคัญได้แก่
เทรนด์ที่ 1
E-commerce Boom creates high competition
การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีที่ผ่านมา สร้างการเติบโตด้านบริมาณสินค้าผ่าน 3 แพลตฟอร์มอย่างลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี-เซ็นทรัล มากถึง 32% และมีพ่อค้า-แม่ค้าที่เป็นผู้ขายหน้าใหม่บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 50% สื่อให้เห็นถึงการปรับตัว และเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าจำนวนของพ่อค้าแม่ค้าในไทยจะมีมากขึ้น แต่เมื่อเจาะลึกลงไปกลับพบว่า ส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนสินค้าในไทยยังคงเป็นสินค้าจากต่างชาติที่กินส่วนแบ่งกว่า 63% เลยทีเดียว
สิ่งนี้เองทำให้ธนาวัฒน์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งพัฒนาสินค้าของตัวเอง เพราะการแข่งขันด้วยราคาไม่อาจสู้สินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่าได้อย่างแน่นอน
เทรนด์ที่ 2
Direct to Consumer
ในปีที่ผ่านมา เห็นปรากฏการณ์แบรนด์หันมาสร้างช่องทางการขายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภค โดยไม่ผ่านช่องทางการกระจายสินค้าที่เป็นร้านค้าออฟไลน์แบบเดิม
จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า จำนวนร้านค้า Brand Official Shop ใน Shopee Mall และ Laz Mall มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นกว่า 46% ชี้ให้เห็นถึงแบรนด์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า ตลอดจนลูกค้าก็มีความรู้สึกมั่นใจได้ว่าการได้ซื้อสินค้าโดยตรงกับแบรนด์จะได้รับสินค้าที่ถูกต้อง ของแท้ 100%
เทรนด์ที่ 3
From search base shopping to Discovery-base Shopping
ในยุคสมัยก่อนคนอยากซื้ออะไรก็พิมพ์ค้นหาบน Search Engine หน้าที่ของคนขายจึงต้องทำให้ตัวเองเกิดการค้นเจอ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราไม่ต้องค้นหาสินค้าอีกต่อไป แต่กลับด้านกัน แบรนด์และสินค้าจะค้นหาลูกค้าของตัวเอง ผ่านความสนใจของผู้บริโภค และมาปรากฏให้ผู้บริโภคเห็นผ่านมาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ จนเกิดคล้อยตามและอุดหนุนสินค้านั้นๆในที่สุด
ธนาวัฒน์ให้ข้อมูลว่า 53% ของออนไลน์ช้อปปิ้งมาจากการที่สินค้าเรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ผู้คนสนใจ และอีก 35% มาจากคนเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าเอง
เทรนด์ที่ 4
Influencer Commerce
จากข้อมูลสถิติของ South China Morning Post 2019 พบว่า 60% ของรูปแบบ Social Marketing ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด คือ KOL
เห็นได้จากกรณีศึกษาของประเทศจีนที่แบรนด์สินค้าจะนิยมจ้างดารา นักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงมาโปรโมทสินค้าไม่ว่าจะเป็นผ่าน Live สด หรือ บนโซเชียลมีเดียโพสต์ต่างๆ ซึ่งได้สร้างยอดขายถล่มทลายให้กับแบรนด์สินค้านั้นๆ สิ่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบ Social Marketing ที่น่าจับตามองในปี 2021
เทรนด์ที่ 5
Convergence of Platform
การขยายตัวของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการเดียว ได้ขยายตัวให้บริการในด้านอื่นๆกันมากขึ้น จากภาพเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายๆแพลตฟอร์มได้ขยายตัวให้บริการตั้งแต่ สื่อ, โฆษณา, อีคอมเมิร์ซ, ธนาคาร ไปจนถึงระบบขนส่ง
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



