ธุรกิจร้านกาแฟ 2564 เมื่อคนยิ่งดิ่ม ร้านยิ่งขยายสาขา ตลาดก็ยิ่งโต (วิเคราะห์)

แม้ปีที่ผ่านมา “ตลาดกาแฟ” จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ส่งผลให้ตลาดรวมกาแฟในไทยคงที่ ไม่ได้เติบโต และไม่ได้ลดลง

เพราะหากให้แยกประเภทตลาดกาแฟที่มีมูลค่ารวม 60,000 ล้านบาท นี้แบ่งเป็น

ตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19  เติบโตราว 10%

ตลาดกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท เติบโตลดลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด

 

ทำให้เมื่อทั้งสองส่วนรวมกันแล้วเป็นเหตุผลให้ตลาดกาแฟนั้น Stable

ขณะที่มองเจาะลึกลงไปที่กาแฟนอกบ้านในจำนวนนั้นเป็นมูลค่าตลาดร้านกาแฟราว 17,000 ล้านบาท ที่จะยังเติบโตต่อเนื่องจากเทรนด์ของร้านกาแฟที่ยังไม่ดร็อป และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการ Third Place ต้องการแหล่งพบปะกัน

รวมถึงต้องการดื่มกาแฟที่มากกว่าเมนูที่หาได้ทั่ว ๆ ไป

เห็นได้จากร้านกาแฟใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เชนร้านเล็ก ๆ ที่เน้นเป็นร้านกาแฟ Specialty ใช้กลยุทธ์ด้วยบรรยากาศของร้านที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม และมีเมนูซิกเนเจอร์ดึงดูดผู้บริโภคให้มาใช้บริการ

ขณะเดียวกันแบรนด์ใหญ่ที่แข็งแกร่งอยู่ในตลาดเองก็หากลยุทธ์ และเร่งขยายสาขารองรับเทรนด์การดื่มกาแฟของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

เปิดปี 2564 มาได้ไม่ถึง 2 เดือนเต็ม เราเห็น 2 บิ๊กแบรนด์ใน ธุรกิจร้านกาแฟ เดินเกมกันอย่างน่าจับตา

ยักษ์ใหญ่อย่าง คาเฟ่ อเมซอน ที่กินส่วนแบ่งมากถึง 40% ของตลาดร้านกาแฟ

และมียอดขายเป็นเบอร์ 1 ในไทย (ข้อมูล  Euromonitor, ธ.ค. 62) ที่บริษัทแม่อย่าง ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปหมาด ๆ

อเมซอนเดินกลยุทธ์กลุ่มแมส หวังขยายสาขาจากนี้ไปอีก 5 ปี หรือปี 2568 จะมีคาเฟ่ อเมซอน 5,800 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 3,400 สาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากจำนวนสาขาที่เยอะและจับกลุ่มแมสแล้ว อเมซอนก็ลงเล่นตลาด Specialty coffee  หวังจับตลาดกลุ่มพรีเมียมเช่นเดียวกัน

เพราะปลายปีที่ผ่านมา คาเฟ่ อเมซอน ลงทุนใน Pacamara Coffee Roasters โดยลงทุนหุ้น บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง “พาคามาร่า” ของชาตรี ตรีเลิศกุล ในสัดส่วน 65% เป็นเงินทั้งสิ้น 171.99 ล้านบาท เข้ามาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในพอร์ตธุรกิจกาแฟ

ที่นอกจากจะเป็นการขยายพอร์ตและขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นแล้วให้กับทั้งสองฝั่งแล้ว คาเฟ่ อเมซอนจะมีความหลากหลายของวัตถุดิบอย่างเมล็ดกาแฟมากขึ้นอีกด้วย

ส่วนอีกยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks ที่เข้ามาอยู่ในมือของเจ้าสัวเจริญเมื่อปี 2019 ก็มั่นใจกับการเป็นบ้านหลังที่สามให้กับผู้คน

ขยายสาขาล่าสุดที่ใหญ่ที่สุดในไทยอยู่ที่ไอคอนสยามชั้น 7 แถมยังตั้งเป้าขยายสาขาเฉลี่ยต่อปี 20-30 สาขา

และยังลงสู้ศึกกาแฟในปั๊มน้ำมัน ที่แม้จะยังมีสาขาตามสถานีบริการน้ำมันไม่ได้มาก

แต่มูฟเมนต์ที่เห็นในช่วงปี สองปีที่ผ่านมาคือการขยายสาขาแบบไดรฟ์ทรู ตั้งสาขาสแตนด์อโลนด้วยการจับมือกับพันธมิตรสถานีบริการน้ำมันที่ตอนนี้มีทั้งเชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์

 

ยังไม่นับรวมแบรนด์ร้านกาแฟอย่างอินทนิลของกลุ่มบางจากที่สิ้นปี’63 มีสาขาราว 690 สาขา ก็ตั้งเป้าเพิ่มสาขาภายในปี 2568 อีก 500 สาขา

และของกลุ่มซีพีที่มีทั้งทรู คอฟฟี่, กาแฟมวลชน, จังเกิล คาเฟ่, ออลคาเฟ่, อราบิเทีย และเบลลินี เบค แอนด์ บริว บาย ซีพีออลล์

ที่ล่าสุดกลุ่มซีพีส่ง “Arabitia Cafe & Restaurant” ผนึก Jungle Cafe เปิดตัวครั้งแรกใน “Lotus’S” และ Lotus’S go fresh ในรูปแบบ Cafe & Casual Dining ที่มาพร้อมด้วยเครื่องดื่มและอาหารแบบครบวงจรสาขาแรก

และยังไม่รวมถึงแบรนด์อื่นของเจ้าอื่น ๆ อีก

ที่ในปีนี้ตลาดกาแฟคงแข่งกันสนุกน่าดู

I-

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online