ผลประกอบการของ เซเว่น อีเลฟเว่น ในปีที่ผ่านมาอาจจะสร้างฝันร้ายให้กับเซเว่น  อีเลฟเว่น พอสมควร จากรายได้การจำหน่ายที่ลดลง 10% ด้วยมูลค่ารายได้ 300,705 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 มากถึง 33,356 ล้านบาท

และมีกำไรขั้นต้น หรือกำไรการขายหักต้นทุน 83,724 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ถึง 10.8% หรือคิดเป็นกำไรขั้นต้นที่ลดลง 10,103 ล้านบาท

แม้ในปีที่ผ่านมา เซเว่น อีเลฟเว่น จะมีการปรับตัวนำเครื่องดื่มใหม่ ๆ และบริการส่งสินค้าเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าถึงที่ก็ตาม

การลดลงของรายได้และกำไรขั้นต้นของเซเว่น อีเลฟเว่น มาจากอะไร

คนละครึ่ง

Marketeer มองว่า การลดลงของรายได้และกำไรขั้นต้นของเซเว่น อีเลฟเว่น มาจากการที่คนเข้าเซเว่น อีเลฟเว่นน้อยลง จากเดิมในปี 2562 เซเว่น อีเลฟเว่นมียอดลูกค้าใช้บริการเฉลี่ยต่อสาขาต่อวันจาก 1,187 คน เหลือเพียง 949 คนในปี 2563

 

ด้วยเหตุผลดังนี้

 

1. เม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลง บนโครงการคนละครึ่งที่ซื้อสินค้านอกเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ประหยัดกว่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวจากการว่างงานและการมีรายได้ที่ลดลง รวมถึงความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายและซื้อสินค้าในสิ่งที่จำเป็นเพิ่มขึ้น

ประกอบกับในปลายปี 2563 ภาครัฐได้ออกโครงการคนละครึ่ง เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่สามารถซื้อสินค้า อาหารจากร้านค้ารายเล็กที่ร่วมโครงการ โดยโครงการนี้ร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่สามารถร่วมโครงการได้

Marketeer เชื่อว่าโครงการคนละครึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าจากร้านโชห่วย และร้านธงฟ้าราคาประหยัดแทนที่จะซื้อของเซเว่น อีเลฟเว่นเหมือนที่ผ่านมามากขึ้น

ข้อมูลการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งในปี 2563 จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สิ้นสุดวันที่ 27 ธันวาคม 2563 มีร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง 1.1 ล้านร้านค้า และมีการใช้จ่ายสะสมรวมถึง 49,049.8 ล้านบาท จากประชาชนที่ใช้สิทธิ์ 9.6 ล้านคน

แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง จะไม่เปิดเผยมูลค่าการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแยกประเภทย่อยออกมา แต่เราเชื่อว่ามูลค่าการใช้จ่ายรวมในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกับเซเว่น อีเลฟเว่น มีปริมาณที่สูงเลยทีเดียว

 

 

2. นักท่องเที่ยวหาย การเดินทางลดลง

รายได้ที่หายไปส่วนหนึ่งของเซเว่น อีเลฟเว่น ในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับเซเว่น อีเลฟเว่น จากการเข้ามาซื้อของใช้ส่วนตัว น้ำดื่ม ขนม อาหาร และอื่น ๆ ที่จำเป็นในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

รวมถึงการที่คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น และออกเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางพบปะกันน้อยลง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โอกาสในการซื้อเครื่องดื่ม และอื่น ๆ ระหว่างการเดินทาง หรืออยู่นอกบ้านจึงมีน้อยลงตามมา

 

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เซเว่น อีเลฟเว่นมีการปรับตัวสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากบริการเดลิเวอรี่ ส่งสินค้าถึงบ้าน

ซึ่งบริการเดลิเวอรี่ Marketeer เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้เฉลี่ยของเซเว่น อีเลฟเว่น ต่อบิลเพิ่มขึ้น เพราะบริการเดลิเวอรี่ตามปกติจะส่งฟรีให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้ามากกว่า 100 บาท ขึ้นไป และยังมีแคมเปญร่วมกับทรูมันนี่ให้ส่วนลด 70 บาท เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเดลิเวอรี่ผ่านแอปเซเว่น อีเลฟเว่นมากกว่า 150 บาท จำนวน 5 ครั้ง และจ่ายผ่านด้วยทรูมันนี่

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มสั่งสินค้าให้ครบตามจำนวน 100 บาท เพื่อบริการส่งฟรี หรือ 150 บาท เพื่อสะสมเป็นส่วนลดในการใช้บริการเซเว่นเดลิเวอรี่ครั้งต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อมามองที่สาขาของเซเว่น อีเลฟเว่น ในปีที่ผ่านมา เซเว่น อีเลฟเว่นมีจำนวนสาขา 12,432 สาขา เพิ่มขึ้น 720 สาขา

แบ่งเป็น

ร้านบริษัท 5,685 สาขา เพิ่มขึ้น 470 สาขา

ร้าน Store Business Partner หรือสาขาแฟรนไชส์ 5,919 สาขา เพิ่มขึ้น 232 สาขา

และร้านที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต หรือร้านค้าที่ผู้บริการเป็นคนท้องถิ่นที่ได้รับสิทธิ์จากเซเว่น อีเลฟเว่น ในการขยายสาขาในจังหวัดที่ได้รับสิทธิ์ 828 สาขา เพิ่มขึ้น 18 สาขา

การขยายสาขาที่ต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงคนมากที่สุด อาจจะเป็นฟ้าหลังฝนที่สวยงาม เพราะเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา โครงการคนละครึ่ง และโครงการตามมาตรการอื่น ๆ หมดลง

เราเชื่อว่ารายได้ของเซเว่น อีเลฟเว่นและจำนวนลูกค้าเฉลี่ยต่อสาขาอาจจะกลับมามากขึ้นเช่นกัน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online