ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดแค่ไหน (วิเคราะห์)

ปี 2563 ผลประกอบการของกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ของแต่งบ้าน ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

จากการที่ต้องปิดสาขาชั่วคราว และต้องปรับโมเดลเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์แบบเต็มสูบ เพื่อให้มีรายได้กลับมา

แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากผู้บริโภคที่ต้อง WFH อยู่บ้าน ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หนึ่งในกิจกรรมที่ผู้คนเลือกทำเมื่อตอนอยู่บ้านคือ “การซื้อของตกแต่งบ้าน”

บวกกับเทรนด์รักโลกปลูกต้น กระแสของญาญ่า ที่พลอยทำให้ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และของแต่งบ้านได้รับผลพลอยได้ไม่น้อย

สถิติจากผลสำรวจของเอสซีจี กลุ่มธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในช่วงเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมาพบว่า 22% ของผู้บริโภคที่อยู่บ้าน นิยมตกแต่งบ้าน รีโนเวตบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น

แม้จะมีรายได้และกำไรที่ลดลง แต่ภาพรวมก็ยังถือเป็นธุรกิจที่ “เอาตัวรอด” ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้

ส่วนปี 2564 ทิศทางของ 4 ผู้ประกอบการค้าปลีก ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ของแต่งบ้าน ยังคงเน้นการขยายสาขาเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น รุกช่องทางออนไลน์ และที่สำคัญคือการสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเอง ที่ทั้งมีต้นทุนถูก และให้กำไรได้มากกว่า

DO Home

เป็นแบรนด์เดียวที่ผลประกอบการเป็นบวกทั้งรายได้ และกำไร หลังจากที่ได้ปัจจัยการเติบโตจากยอดขายของสาขาเดิมที่ฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 นี้ ดูโฮมตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา โดยจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่สินค้าในกลุ่ม House Brand ของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ราว 16.9%

ปีนี้ก็จะเห็นสินค้าเป็นแบรนด์ของบริษัทมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าเรายได้สินค้ากลุ่ม House Brand เติบโตเป็น 20% ในปี 2565 ส่วนในปี 2565-2566 นั้น ดูโฮมมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 6 สาขา

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 ดูโฮม มีสาขาทั้งหมด 23 สาขา แบ่งเป็น

DO Home 12 สาขา

Do Home ToGO 11 สาขา

และอีก 1 ศูนย์กระจายสินค้า

(อ่าน: https://marketeeronline.co/archives/173837)

 

Global House

แม้รายได้และกำไรจะลดลงเล็กน้อย แต่ปี 2564 แผนการดำเนินงานของสยามโกลบอลเฮ้าส์ จะเน้นการขยายสาขาเช่นเดียวกัน

ปีที่ผ่านมาเปิดสาขาเพิ่ม 5 สาขา ส่วนปีนี้วางเป้าขยายอีกราว 6-7 สาขา

พร้อมตั้งเป้าแผน 3-5 ปี จะต้องมีสาขาในไทยครบ 100 สาขา รวมทั้งเพิ่มสินค้าของบริษัทเอง (private brand) ขึ้นเป็น 21%

สำหรับสาขาของโกลบอลเฮ้าส์มีทั้งหมด 71 สาขา และสาขาของบริษัทย่อยในประเทศกัมพูชาอีก 1 สาขา

 

HomePro

พี่ใหญ่ในตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านที่แม้จะมีรายได้จากช่องทางออนไลน์มาช่วยแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากหน้าร้านสาขาได้

ทิศทางของโฮมโปรนอกจากจะขยายสาขารับดีมานด์ของผู้บริโภคในประเทศแล้วยังหาโอกาสจากตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างเวียดนาม

ที่ปลายปีที่ผ่านมา โฮมโปรเข้าลงทุนในบริษัท HOME PRODUCT CENTER VIETNAM COMPANY LIMITED เพื่อทำธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม

สำหรับสาขาในปัจจุบันโฮมโปรมีด้วยกันทั้งหมด 115 สาขา แบ่งเป็น

โฮมโปร 86 สาขา

โฮมโปรเอส 9 สาขา

เมกาโฮม 14 สาขา

โฮมโปรในมาเลเซีย 6 สาขา

 

Index Livingmall

ทิศทางไปในทางเดียวกันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่เอาตัวรอดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้

แม้ผลงานในไตรมาส 4/2563 พลิกกลับมาเติบโตได้สำเร็จครั้งแรกหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563  มีกำไรสุทธิ 143.0 ล้านบาท

ส่วนทิศทางในปีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาจากการที่มีวัคซีน ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัว และจะทำให้ยอดขายกลับมาเติบโตได้

รวมถึง “ช่องทางออนไลน์” ที่เป็นกำลังสำคัญของแทบจะทุกธุรกิจในปีนี้ จะช่วยผลักดันการเติบโตของยอดขาย และสินค้า OEM ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online