ตลาดรถ EV คึกคักอีก ล่าสุด Fisker จับมือ Foxconn ผลิตรถ EV จากโรงงานในสหรัฐฯ กำลังผลิตปีละ 250,000 คัน พร้อมชน Tesla
แบรนด์รถ EV ภายใต้การดูแลของอดีตทีมงาน Tesla ถูกจับตามองอีกครั้ง โดย Fisker เผยว่าผู้บริหารได้ลงนามในข้อตกลงกับ Foxconn ผลิตรถ EV ที่โรงงานของฝ่ายหลังในสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใส พร้อมตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งจาก Tesla แบรนด์ดังสุดในตลาดให้ได้
กระแสรักสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำมันโลกที่ร่อยหรอลงไปและความดังของ Tesla ทำให้ไม่กี่ปีมานี้ตลาดรถ EV โตขึ้นอย่างมาก จนมีข่าวจับมือกันของบริษัทต่าง ๆ เพื่อพัฒนารถ EV ออกมาอย่างต่อเนื่อง
รถ EV ของ Fisker
Fisker เป็นอีกหนึ่งในแบรนด์รถ EV ที่ถูกจับตามอง เพราะ Henrik Fisker ผู้ก่อตั้งและ CEO เป็นนักออกแบบมากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เคยร่วมงานกับทั้ง BMW Ford และ Tesla แถมพ่วง “ดีกรี” เป็นหัวหน้าทีมออกแบบของ Aston Martin โดยรถบางรุ่นเคยถูกนำไปใช้ใน 007 ภาพยนตร์สายลับภาคต่อเรื่องดังมาแล้ว
Henrik Fisker
ความน่าสนใจของ Fisker ยังอยู่ที่ Henrik Fisker เป็นคนไม่ยอมแพ้ มุ่งเดินหน้าสานฝันสร้างแบรนด์รถ EV รูปทรงโฉบเฉี่ยวให้ได้ แม้บริษัทในความดูแลเคยล้มละลายและมีคดีความฟ้องร้องหลายครั้ง
ล่าสุดแบรนด์รถที่เขาก่อตั้งประกาศร่วมมือกับ Foxconn ผลิตรถ EV ขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่าตัวเขาเป็นหัวหน้าทีมออกแบบตามถนัด ขณะที่ฝ่าย Foxconn รับหน้าที่ผลิตจากโรงงานในรัฐวิสคอนซินของสหรัฐฯ
เบื้องต้นจะเริ่มสายพานผลิตในปลายปีหน้า มีเป้าหมายผลิตให้ได้ปีละ 250,000 คัน และจะเจาะตลาดรถ EV ในประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ อินเดีย และจีน
รถ Fisker รุ่น Ocean
Deal นี้ถูกจับตามองในหลาย ๆ ด้าน เริ่มจากนี่จะเป็นรถรุ่นที่สองที่ Fisker ให้บริษัทอื่นรับช่วงผลิต (OEM) ถัดจากรถรุ่น Ocean ที่จะทำร่วมกับ Magna บริษัทรถยนต์ในแคนาดา
ประเด็นต่อมาที่ทำให้ Deal นี้ถูกจับมองมาจากฝั่ง Foxconn เพราะ Foxconn เป็นที่รู้จักในฐานะยักษ์ OEM ของวงการ Smartphone ที่ผลิต iPhone ให้ Apple
ทว่าขณะเดียวกัน Foxconn ก็ให้ความสนใจในตลาดรถ EV โดยเมื่อต้นปี 2020 เคยมีข่าวจับมือกับ Fiat Chrysler Automobile (FCA) มาแล้ว และ Deal นั้น Foxconn รับหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้ากับ Internet of Things
ดังนั้นใน Deal นี้ Foxconn จึงต้องมีการซื้อตัวคนในวงการยานยนต์มาช่วยบริหารโรงงาน เพื่อให้บทบาทฝ่ายผลิตเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น และเสริมจาก Know How เรื่องสายการผลิตกับระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม โดยหากเป็นไปตามเป้า ยังจะเป็นการสร้างงานมากมายหลายตำแหน่งให้กับคนในรัฐวิสคอนซินอีกด้วย
Peter Rawlinson
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ต้องจับตามองกลับมาสู่ Henrik Fisker อีกครั้ง เพราะเขาคือหนึ่งในอดีตผู้บริหาร Tesla ที่แยกตัวมาตั้งบริษัทเอง เช่นเดียวกับ Peter Rawlinson และ Sterling Anderson ซึ่งแน่นอนว่าคู่แข่งเบอร์ต้น ๆ คืออดีตต้นสังกัดเก่าภายใต้การบริหารของ Elon Musk แต่ Henrik Fisker กลับมองเรื่องนี้เป็นความท้าทาย
Elon Musk
Henrik Fisker เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่ายอดคนซื้อรถใหม่ที่สูงถึงปีละ 80 ล้านคัน ย่อมหมายถึงโอกาสมากมายในการเจาะตลาดและชิงส่วนแบ่งจาก Tesla/cnbc, forbes, wikipedia, cnn
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ