ถึงแม้ในปี 2015 ที่ผ่านมา หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของเมืองไทย ยังสามารถเติบโตได้บ้าง ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและกำลังซื้อมีการผันผวนนั้น มาจากการที่แต่ละแบรนด์มุ่งสู่โหมด “สงครามราคา” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กำลังซื้อหลักที่อยู่ใน “ตลาดกลาง – ล่าง” ต่างเกิดภาวะชะลอตัว
แต่ใครจะรู้ว่า “สงครามราคา” กลับไม่ค่อยเกิดขึ้นใน “ตลาดบน” หรือ “เซกเมนต์ พรี่เมี่ยม” ที่ถ้าหากฉายภาพออกมา คือกลุ่มคนที่มีเงิน และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แทบจะไม่ส่งผลถึง “กำลังซื้อ” คนกลุ่มนี้เลย
สะท้อนจากตัวเลขที่ระบุว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2015 มีมูลค่า 45,000 ล้านบาท มีสัดส่วนของ “เซกเมนต์ พรี่เมี่ยม” อยู่ที่ 25-30% และคาดว่าในปี 2016 เซกเมตน์นี้จะโต 7% มากกว่าตลาดรวมที่คาดว่าจะโตแค่ 5% จึงทำให้ในระยะหลังๆ จะเห็นภาพแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆราย เปิดตัวสินค้าใน “เซกเมนต์พรีเมี่ยม” เพื่อมุ่งจับกลุ่มที่มีกำลังซื้อเหล่านี้

“Electrolux” ขอรักษาเก้าอี้ผู้นำ

หากพูดถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มพรีเมี่ยมแล้วคงจะมองข้าม “อีเลคโทรลักซ์” แบรนด์จากยุโรปไปไม่ได้ จากการที่แบรนด์นี้มุ่งจับตลาดบนมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2015 ก็สามารถทำผลงานมาได้ดี โดยสามารถเติบโตได้ในระดับ 2 ดิจิ (แต่ไม่ขอเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงรวมถึงรายได้ที่แน่ชัด) ที่สำคัญหากดูอัตราการเติบโตย้อนหลังแล้วก็จะพบว่า “อีเลคโทรลักซ์” สามารถโตในระดับ 2 ดิจิ ติดกันถึง 7 ปีด้วยกัน คือตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ทำให้ปี 2016 “อีเลคโทรลักซ์” ตั้งเป้าอัตราการเติบโตในระดับ 2 ดิจิ โดยขอเติบโตมากกว่าตลาดรวมเหตุผลหลักคือ เชื่อว่า “กำลังซื้อ” น่าจะค่อยๆฟื้นกลับคืนมา (ซึ่งจะเห็นผลชัดที่สุดในครึ่งปีหลัง) จากการที่รัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เมกะโปรเจกต์ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ออกมาอีก เนื่องจากเห็นผลตอบรับที่ค่อยข้างดี จาก 2 มาตรการที่ออกมาในช่วงท้ายปี 2015
“ปี 2016 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยังคงจะได้รับผลกระทบเหมือนสินค้ากลุ่มอื่นๆ แต่ว่ายังได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช้อปช่วยชาติ และมาตรการลดภาษีการโอนบ้าน ซึ่งเฉพาะช่วง 5 วันสุดท้ายของช้อปช่วยชาติ ยอดขายของอีเลคโทรลักซ์ โตกว่าช่วงปรกติถึง 1 เท่าตัว”
“จึงส่งผลให้ภาพรวมในปี 2015 ของอีเลคโทรลักซ์ มีผลงานที่สามารถเติบโตสวนภาวะเศรษฐกิจ โดยมียอดขายเติบโตทุกกลุ่มสินค้าเช่น เครื่องซักผ้าฝาหน้า มีส่วนแบ่งตลาด 39.8% เพิ่มขึ้น 4.8 % เครื่องดูดฝุ่น มีส่วนแบ่ง 30.1% เพิ่มขึ้น 1.0 % และเครื่องไมโครเวฟ มีส่วนแบ่ง 20.2% เพิ่มขึ้น 4.3 % ” สุทธิ มโนกิจจรูญมั่น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมในปีที่ผ่านมา

อัดเคมเปญใหญ่ พร้อมกับขยายฐานลูกค้า

สุทธิ ยอมรับว่า ถ้าช่วงท้ายปี 2015 รัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ ยอดขายของ “อีเลคโทรลักซ์” อาจจะ “ไม่ถึงเป้า” ก็เป็นไปได้

ทำให้ในปี 2016 ต้องรีบส่งแคมเปญ “Electrolux TURN DELIGHT UP เติมเต็มความสุข…มากกว่าที่เคย” โดยเชื่อมโยงกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้ง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องปรับอากาศ และ เครื่องทำน้ำอุ่น
เหตุผลหลักที่ “อีเลคโทรลักซ์” ต้องรีบอัดแคมเปญใหญ่ เพราะต้องการสร้างสีสันและตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าของ “อีเลคโทรลักซ์” มักจะแพงกว่าแบรนด์ทั่วไปประมาณ 10-15% อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากแคมเปญแล้ว ยังได้เตรียมกลยุทธ์ไว้อีก 3 ข้อ คือ
1. ยกระดับคุณภาพสินค้า (Premium Quality) เพิ่มนวัตกรรมระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) ในทุกกลุ่มสินค้าหลัก และเพิ่มมูลค่าสินค้าตอบกระแสคนรักสุขภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2016 จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งสิ้น 66 รุ่น ในทุกกลุ่มสินค้า
2. การออกแบบ (Design) มีการปรับโฉมสินค้าใหม่ทุกกลุ่ม เน้นเอกลักษณ์ ความมีระดับ หรู เรียบ
3. บริการหลังการขาย 24 ชั่วโมง (Service Excellence) โดยมีมีศูนย์บริการทางโทรศัพท์ (Call center) รับเรื่องตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน
นอกจากนี้ “อีเลคโทรลักซ์” ยังต้องการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Generation) ซึ่งจากเดิมเป็นกลุ่มคนในระดับอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มาเป็นระดับอายุ 30-40 ปี จึงทำให้ต้องมีการปรับสื่อต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการอัดงบการตลาดในส่วนของออนไลน์เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ซึ่งจากเดิมใช้ไปในสัดส่วน 15% เพิ่มเป็น 30% ในปีนี้

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า 45,000 ล้านบาท มีสัดส่วนอะไรบ้าง

เครื่องปรับอากาศ 30%
เครื่องซักผ้า 25%
ตู้เย็น 20%
อื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว 25%
ที่มา : อิเลคโทรลักซ์

ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2016
ปัจจัยบวก
1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2.การลงทุนในเมกะโปรเจกต์
3.การเข้าสู่ตลาดของนวัตกรรมใหม่
ปัจจัยลบ
1.ภาวะภัยแล้ง
2.ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังต่ำ
3.กำลังซื้อที่ยังมีภาวะของการชะลอตัว

ส่องเทรนด์ตลาดโลกสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า

1. “การรักษาสิ่งแวดล้อม” โดยการหันมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน สำหรับเมืองไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวที่มากขึ้น จากการที่ในระยะหลัง หลายๆแบรนด์หันมาเปิดตัวสินค้าที่ชูเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ (Inverter) หรือเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเป็นหลัก
2. “การรักษาสุขภาพ” จากการที่คนรุ่นใหม่ หันมาใส่ใจในการรักษาสุขภาพ จึงทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องออกสินค้าที่จับเทรนด์ของคนกลุ่มนี้มากขึ้น

“Game Changer” ของ “Samsung”

ปี 2015 ภาพรวมของ “ตลาดตู้เย็น” อยู่ที่ประมาณ 1,000,000 เครื่อง คาดว่าในปี 2016 ตลาดนี้น่าจะเติบโต 3-4% ในแง่ของมูลค่า โดยมี “เซกเมนต์ 2 ประตู” เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก

ตลาดนี้ “2 ประตู” คือผู้นำ

หากมองลึกลงไปใน “ตลาดตู้เย็น” จะพบว่าตลาดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 เซกเมนต์หลักๆ โดยที่แต่ละเซกเมนต์ก็จะมี “Key Player” ที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่ “เซกเมนต์ 1 ประตู” มีสัดส่วน 40% มีแบรนด์ มิตซูบิชิและฮิตาชิ แข่งกันในเซกเมนต์นี้
ตามมาด้วย “เซกเมนต์ 2 ประตู” มีสัดส่วน 55% ซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่ และมีผู้เล่นในตลาดนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เกาหลีหรือญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น มิตซูบิชิ ฮิตาชิ ซัมซุง โตชิบา และพานาโซนิค สุดท้ายคือ “เซกเมนต์ไซต์บายไซต์” มีสัดส่วน 5% มีแบรนด์ซัมซุงและฮิตาชิ ขับเคี่ยวในเซกเมนต์นี้
ทั้งๆที่ในสนามแข่งนี้ มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนมาก และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ในหลายๆปีที่ผ่านมากลับค่อนข้างที่จะเงียบ ที่สำคัญคือ “งบการตลาด” ถูกหั่นออกอย่างไม่น่าเชื่อ

อัดงบ 3 เท่า หวังเป็น “Game Changer”

ที่ผ่านมาตลาดตู้เย็นค่อนข้างที่จะนิ่ง เนื่องจากในระยะหลังๆ ตลาดนี้ไม่ค่อยมี Innovation ที่น่าตื่นเต้นพอจะสร้างความ “ว้าว” ให้กับตลาด แต่จะเน้น “บิ้วด์” แบรนด์โดยการเน้นขายไปที่ชื่อแบรนด์ เนื่องจากมองว่า “ตู้เย็นก็คือตู้เย็น”
ที่สำคัญถ้าหากมองลึกลงไปในงบการตลาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำการตลาด จะพบว่าแบรนด์ต่างๆ ใช้งบในส่วนนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ และค่อนข้างที่จะเงียบมาก ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพ คือในปี 2015 งบการตลาดของตู้เย็นเป็นเพียงครึ่งเดียวของงบสำหรับเครื่องซักผ้า
ทำให้ในปี 2016 “ซัมซุง” ขออัดงบการตลาดเพิ่ม 3 เท่า ในการเปิดตัว “ตู้เย็น Samsung Twin Cooling Plus ” มากที่สุดในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน พร้อมกับดันให้เป็น “แฟล็กชิพ” ประจำปี 2016 ซึ่งเป็นการกลับมาโพกัสที่ “ตู้เย็น” ในรอบหลายๆ ปี ของแบรนด์เกาหลีเจ้านี้
“ปีนี้คิดว่าตลาดน่าจะกลับมาคึกคัก จากการที่ซัมซุงเข้ามากระตุ้นตลาด ทั้งนวัตกรรม โปรดักส์ หรือ พรีเซนเตอร์เอง ที่ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ คิดว่ายังไงตลาดต้องตื่นแน่นอน”
“การเปิดตัว Twin Cooling Plus คือ “Game Changer” ซัมซุง ที่ต้องการให้ต่อไปนี้ถ้าผู้บริโภคจะซื้อตู้เย็น 2 ประตูต้องนึกถึงเรา ซึ่งปัจจุบันป็นผู้นำในเซกเมนต์ตู้เย็น 2 ประตู และเนื่องจากเทรนด์ในตอนนี้ของผู้บริโภคนิยมจะซื้อตู้เย็นในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นคนที่ใช้ 1 ประตูก็จะขยับมาซื้อ 2 ประตู ซึ่งตรงนี้คืออีกหนึ่งส่วนที่อยากได้” ศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่ “ซัมซุง” ขอโหมงบการตลาดบุกตลาดตู้เย็นอย่างเต็มที่

พรีเซนเตอร์ซัมซุงต้อง “ชมพู่ – อารยา”

“ซัมซุง” มองว่าถึงแม้ในภาพรวมของตลาดจะนิ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนิ่งทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่คึกคักอย่างเทรนด์ “Health Food” ทำให้ “ซัมซุง” ขอเกาะไปกับเทรนด์ที่มีการเติบโต โดยการชูเทคโนโลยี Twin Cooling Plus ที่มีระบบทำความเย็น 2 ระบบแยกอิสระ ระหว่างช่องแช่แข็งและช่องปรกติ ทำให้รักษาของสดได้นานกว่าตู้เย็นทั่วไป 2 เท่า มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 10.7-20.4 คิว ราคา 13,990 – 37,990 บาท วางตัวใน “เซกเมนต์พรีเมี่ยม” ซึ่งมีราคาแพงกว่ารุ่นทั่วไป 10% เจาะกลุ่มแม่บ้านยุคใหม่ โดยเลือกให้ “ชมพู่ – อารยา” มาเป็นพรีเซนเตอร์
“มีพรีเซนต์เตอร์เหมือนเป็นสร้างความตื่นเต้นให้กับ Category ที่เลือกชมพู่ เนื่องจากมองว่า ชมพู่ เป็นคนที่เน้นดูแลตัวเอง นิยมทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่งแต่งงาน จึงสามารถเลือกมาเป็น ตัวแทนของแม่บ้านยุคใหม่ได้”

“Online Marketing” ไม่ทำไม่ได้แล้ว

สำหรับแผนการใช่งบการตลาดที่เพิ่มขึ้น 3เท่านั้น แม้งบส่วนใหญ่จะถูกเทไปที่ Mass Media ซึ่งเป็นช่องทางที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่ปัจจุบันสื่อ Online ก็จะมองข้ามไปไม่ได้ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาพึ่ง Online มากขึ้น “ซัมซุง” จึงวางแผนเปิดตัว Line Official Account เพิ่มขึ้นมาอีก 1 Account จากเดิมมีอยู่ 1 Account ซึ่งเป็นของกลุ่มโทรศัพท์มือถือ โดย Account ใหม่นี้จะเป็นของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านโดยเฉพาะ
“Online Marketing ไม่ทำไม่ได้แล้ว เพียงแต่ว่าพฤติกรรมจะไม่เหมือนกับผู้บริโภคในกลุ่มของโทรศัพท์มือถือ ที่ออนไลน์ในการเสิร์ชหา สเปคหรือรีวิวสินค้าที่ออกใหม่ แต่ผู้บริโภคในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จะไม่ได้เสิร์ชเรื่องของสเปค แต่จะเน้นค้นหาราคาและเปรียบเทียบสินค้าระหว่างแบรนด์ ซึ่งในแง่ของแบรนด์เองสิ่งที่ต้องโฟกัสคือคือคอนเทนต์ ว่าทำยังไงคอนเทนต์จะเข้าไปอยู่ในสิ่งผู้บริโภคมองหาได้ ”
ที่ผ่านมา “ตู้เย็น” มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 30-40% ของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น โดยในกลุ่มนี้ทำรายได้ให้ “ซัมซุง” 40% ของรายได้รวมทั้งหมด จากทั้งหมด 3 กลุ่มหลัก โดยที่เหลืออีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจอภาพ และกลุ่มโทรศัพท์มือถือ โดย “ซัมซุง” คาดหวังว่าการเปิดตัว Twin Cooling จะทำให้สินค้ากลุ่ม “ตู้เย็น” สามารถเติบโตในระดับ 2 ดิจิ

สงครามครั้งใหม่ของ “LG”

ปี 2015 ตลาด “เครื่องซักผ้า” มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท และมีจำนวน 1.3 ล้านเครื่อง มีการเติบโต 1% ในแง่ของ “มูลค่า” แต่สำหรับ “จำนวน” กลับไม่โตเลย

ไม่เติบโตเพราะ “2 ถัง”

ในปี 2015 เหตุผลที่ทำให้ตลาด “เครื่องซักผ้า” ยังเติบโตในแง่ของ “มูลค่า” เกิดจากการที่ “เซกเมนต์ฝาบน” ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% มีการเติบโต แต่กลับกัน “จำนวน” ไม่ได้โตเป็นเพราะ “เซกเมนต์ 2 ถัง” ติดลบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เหตุผลหลักคือ ผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องซักผ้า “เซกเมนต์ฝาบน”
จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าปี 2016 ตลาด “เครื่องซักผ้า” จะโต 5% ในแง่ของมูลค่า แต่จำนวนน่าจะทรงตัวในระดับเดิม โดยมีปัจจัยเสริมมาจากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นตัวดัน “Demand” ในเซกเมนต์ฝาบนและฝาหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีปัจจัยลบอยู่บ้าง คือเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าที่ยังคงแปรปรวน ที่ถือเป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2013

ตลาดเครื่องซักผ้า 12,000 ล้านบาท

ฝาบน 50%
2 ถัง35%
ฝาหน้า 15%
ที่มา : แอลจี

เปิดเกมรุกตลาดเครื่องซักผ้า “ฝาหน้า”

ต้องยอมรับว่า เมื่อเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าไม่ดี หลายๆ แบรนด์ก็มักจะเปลี่ยนเกมไปเล่น “สงครามราคา” เพื่อดึงกำลังซื้อ แต่ที่ผ่านมา “สงครามราคา” ในตลาดเครื่องซักผ้ามักจะไม่ค่อยรุนแรง เหมือนกับตลาดทีวี เนื่องจากส่วนใหญ่ทุกแบรนด์จะชูเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่น โดยเฉพาะในเซกเมนต์กลาง-บน ส่วนเซกเมนต์ล่างก็ยังมี “สงครามราคา” อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นจุดเด่นของแต่ละแบรนด์เอง
ซึ่ง “แอลจี” ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มักชูเทคโนโลยี ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะอยู่เสมอ โดยล่าสุด “แอลจี” ขอเริ่มต้นสงครามครั้งใหม่ ด้วยการเปิดเกมรุกตลาดเครื่องซักผ้าฝาหน้า ท้าชนกับอีก 2 แบรนด์ ซึ่งได้แก่ แบรนด์เพื่อร่วมชาติ และ แบรนด์จากยุโรป
โดย “แอลจี” ได้เปิดตัว “เครื่องซักผ้ารุ่น TWIN Wash” ในไทยเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากอเมริกาและเกาหลีใต้ วางตัวอยู่ใน “เซกเมนต์พรีเมี่ยม” ด้วยราคา 109,900บาท ชูจุดเด่นด้วยเทคโนโลยี 2 ถังซัก ได้แก่ ฝาหน้าขนาด 21 กิโลกรัม และฝาบนขนาด 3.5 กิโลกรัม เจาะกลุ่มครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีเด็กเล็ก โดยตั้งงบการตลาด 60 ล้านบาท
“TWIN Wash คือรุ่นที่เป็นแฟล็กชิพในปีนี้กลุ่มเครื่องซักผ้าฝาหน้า โดยตั้งเป้ายอดขาย 1,000 เครื่องในปี 2016 ซึ่งการเปิดตัวรุ่นนี้ แอลจี คาดหวังว่าจะเป็นตัวผลักดันให้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มเครื่องซักผ้าฝาหน้า พร้อมกับการรักษาเก้าอี้แชมป์ ของตลาดเครื่องซักผ้าของเมืองไทยเป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 33%” นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความคาดหวังจากการเปิดตัวเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่

เปิดตัวก่อนได้ “เปรียบ” ก่อน

ในปี 2016 “แอลจี” วางแผนจะเปิดตัวเครื่องซักผ้าทั้งหมด 15 รุ่น ซึ่งผ่านไปแค่ 3 เดือน “แอลจี” ได้เปิดตัวไปแล้วถึง 7 รุ่นในส่วนของฝาหน้า ยังเหลือ 8 รุ่นที่เป็นฝาบน
โดยทาง “แอลจี” ได้ให้เหตุผลของการรีบเปิดตัวว่า ต้องการ “ชิงความได้เปรียบ” จากแบรนด์อื่นๆ ซึ่งความจริงแล้วนั้นเป็นเพียงเหตุผลรอง แต่เหตุผลหลักคือต้องการกระจายสินค้าให้ทันก่อนช่วง “Washing Season” ของบรรดาห้างสรรพสินค้า ที่มักจะจัดในเดือน พฤษภาคม – กันยายน ทำให้เมื่อเปิดตัวสินค้าในช่วยเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม พอถึงเดือนพฤษภาคม สินค้าก็ได้ถูกกระจายไปครบหมดแล้ว
“ปรกติเครื่องซักผ้าจะออกรุ่นใหม่ทุกๆ 2 ปี โดยแอลจีจะเน้น Identity Design คือต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ว่า เมื่อเดินเข้าร้านเจอเครื่องซักผ้าดีไซต์นี้ก็รู้ทันทีว่าเป็นของแอลจี เพราะฉะนั้นพอเปลี่ยนเครื่องทีหนึ่งจึงต้องเปลี่ยนในทุกขนาดที่มี โดยมีดีไซต์และโครงสร้างเหมือนกันต่างแค่ขนาด เลยทำให้เหมือนเปิดตัวเยอะ”
ในปีที่ผ่านมา “เครื่องซักผ้า” มีสัดส่วนรายได้ 25% จากรายได้รวมของ “แอลจี” เป็นรอง “ทีวี” ที่ส่วนสัดส่วนของรายได้อยู่ที่ 35% ซึ่งในปี 2016 ทาง “แอลจี” ได้ตั้งเป้าเติบโตของ “เครื่องซักผ้า” ไว้ที่ 15%

รายได้ของ “แอลจี” ปี 2015

กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 40%
กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 30%
กลุ่มเครื่องปรับอากาศ 20%
กลุ่มB2B10%

ถอดรหัสตลาดทีวี 2016

1. ภาพรวมตลาดโทรทัศน์ของไทยในปี 2016 มีโอกาสขยายตัวเล็กน้อยจากปี 2015 โดยยอดจำหน่ายโทรทัศน์ในปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมของปีนี้ตามลำดับ
2. เครื่องรับโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมในปีนี้คือโทรทัศน์ที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ตั้งแต่ 40 นิ้วขึ้นไปเนื่องจากราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนระดับราคาใกล้เคียงกับโทรทัศน์ขนาด 32 นิ้ว ซึ่งเคยเป็นที่นิยมไม่กี่ปีก่อน
3.อย่างไรก็ตาม ความกังวลของผู้บริโภคต่อแนวโน้มรายได้ และการมีงานทำ ตลอดจนปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้กลุ่มตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยที่มีภาระหนี้ระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและอาจชะลอการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ อีกทั้ง การขยายตัวของตลาดโทรทัศน์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ที่ค่อนข้างทรงตัว
4. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2016 กลุ่มตลาดที่น่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องคือ กลุ่มตลาดที่ผู้บริโภคมีรายได้ระดับบนที่ยังคงมีกำลังซื้อ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวในกลุ่มตลาดนี้คือ ขนาดหน้าจอขนาดใหญ่ตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป การออกแบบ รวมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจอภาพเพิ่มเติมจากความละเอียดของจอภาพระดับ 4Kซึ่งได้เริ่มกลายเป็นอัตราส่วนการแสดงผลมาตรฐานของจอภาพในปัจจุบัน ผู้ผลิตในกลุ่มตลาดนี้มักเป็นบริษัทข้ามชาติจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
5. ตลาดระดับกลาง ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มองว่า ยังคงเติบโตได้แต่มีการแข่งขันสูง ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาซื้อโทรทัศน์ในกลุ่มตลาดนี้คือ ความละเอียดของจอภาพ คุณภาพ และความสะดวกในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ขนาดจอภาพของโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มตลาดนี้คือ ขนาดระหว่าง 40 – 50 นิ้ว ทั้งนี้ ผู้ผลิตในกลุ่มนี้โดยรวมเป็นกลุ่มเดียวกับในกลุ่มตลาดระดับบน โดยเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตแข่งขันกันในกลุ่มตลาดนี้เป็นเทคโนโลยีที่เปิดตัวในกลุ่มตลาดระดับบนมาก่อนหน้า
6. กลุ่มตลาดที่มีขนาดใหญ่ในประเทศ แต่ยังมีแรงกดดันต่อการเติบโตค่อนข้างสูง คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลยุทธ์ของผู้ผลิตที่น่าจะใช้ในตลาดนี้คือ ความคุ้มค่าทั้งด้านราคา และฟังก์ชั่นการใช้งาน ทั้งนี้ ผู้ผลิตที่เน้นกลุ่มตลาดนี้คือ บริษัทข้ามชาติจากจีน และผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยการตั้งราคาต่ำกว่าแบรนด์ชั้นนำ และการใส่ฟังก์ชั่นพร้อมเพรียง
7.สำหรับในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงมีการแข่งขันสูงต่อเนื่อง โดยมีแรงผลักดันจากการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในด้านความคมชัด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าผู้ผลิตจะยังคงใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจุดขายหลักของโทรทัศน์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคต่อไป

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online