เฟซบุ๊กโคคา เรสเตอรองประกาศปิดสาขาสยามสแควร์ โดยให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564
ทำให้โคคา เรสเตอรอง จะเหลือสาขาเพียง 6 สาขา ได้แก่ สุรวงศ์ เมกาบางนา สุขุมวิท 39 เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพกรีฑา และสาขาหัวหิน
การปิดสาขาสยามสแควร์ นอกเหนือจากที่โคคาหมดสัญญาเช่ากับสยามสแควร์แล้ว เรามองว่า
ส่วนหนึ่งมาจากการที่โคคาต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าสถานที่เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
เนื่องจากตลาดสุกี้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีเจ้าตลาดอย่าง เอ็มเค จากการขยายสาขาที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นกลุ่มครอบครัวและคนรุ่นใหม่
ประกอบกับ บริษัท โคคาโฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์ โคคา เรสเตอรอง โคคา ฟู้ด แม็งโกทรี RBSC Pavilion และ Asian Cuisine มีผลประกอบการที่ลดลง
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่โคคาโฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล รายงานผลประกอบการ ประสบปัญหาขาดทุน 4.5 ล้านบาท และรายได้ที่ลดลง
2560 รายได้ 423.50 ล้านบาท กำไร 14.81 ล้านบาท
2561 รายได้ 441.54 ล้านบาท กำไร 10.83 ล้านบาท
2562 รายได้ 376.83 ล้านบาท ขาดทุน 4.50 ล้านบาท
และเชื่อว่าในปีที่ผ่านผลประกอบการโคคาน่าจะได้รับผลประทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน
ทั้งนี้โคคา สุกี้ เกิดขึ้นในปี 2500 จากห้องอาหารจีนกวางตุ้งขนาด 20 ที่นั่ง ที่ก่อตั้งโดยศรีชัย-ปัทมา พันธุ์เพ็ญโสภณ ปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 2 พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ