ไม่ว่าไกลหรือยากแค่ไหน แต่ถ้ามองเห็นความเป็นไปได้ มีตลาดรองรับและมีกลิ่นเงินลอยมา ที่สุดโอกาสทางธุรกิจก็จะเกิดขึ้น เหมือนธุรกิจพาทัวร์อวกาศที่อาจได้ Take-off หลังการทดสอบครั้งล่าสุดของ Virgin Galactic บริษัทท่องอวกาศในเครือ Virgin ของ Richard Branson ทดสอบครั้งล่าสุดผ่านฉลุย จนวานนี้ดันราคาหุ้นขึ้นมาถึง 27%
การคืนฟอร์มของ Virgin Galactic บอกอะไรเราได้หลายอย่าง ทั้งการอยากเห็นธุรกิจท่องอวกาศได้ Take-off เสียทีของนักลงทุน ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเดินทาง
และแนวโน้มการขยายตัวของตลาดนี้ที่เกิดจากแข่งขันของบริษัทยักษ์เงินหนา เพราะคู่แข่งที่ Virgin Galactic ต้องเจอคือ SpaceX ในความดูแลของ Elon Musk – CEO มหาเศรษฐีแห่ง Tesla และ Blue Origin ที่ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon และมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกเป็นคนก่อตั้ง
3 บริษัทใหญ่ต่างที่มา แต่แข่งกันพาทัวร์แตะขอบฟ้า
เมื่อพื้นที่บนโลกกว้างไม่พอ การแข่งขันด้านอวกาศจึงเกิดขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy สั่งเดินหน้าด้านอวกาศอย่างจริงจัง หลังทนไม่ได้ที่เห็นอดีตสหภาพโซเวียตขึ้นสู่วงโคจรได้ก่อน
จนที่สุดสหรัฐฯ ก็พาคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นประเทศแรก ด้วยก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ๆ ของ Neil Armstrong ในปี 1969
นับจากนั้นประเทศต่าง ๆ ก็พากันทุ่มสรรพกำลังด้านอวกาศ ซึ่งจากเงินลงทุนมหาศาลทำให้อากาศยังคงผูกติดอยู่กับคำว่าสำรวจ เป็นการลงทุนระดับรัฐบาลและยังห่างไกลจากการทำเป็นธุรกิจ
ทว่าความเป็นไปได้ทางธุรกิจเริ่มปรากฏให้เห็นในปี 2001 ที่ Dennis Tito มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่ซื้อทัวร์อวกาศ หลังทุ่ม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 627 ล้านบาท)
การไปอวกาศครั้งนั้นของ Dennis Tito จุดประกายให้มีการตั้งบริษัทพาทัวร์อวกาศขึ้นช่วงครึ่งแรกของยุค 2000 เริ่มจาก Blue Origin ในเครือ Amazon ของ Jeff Bezos ในปี 2000
ตามด้วย SpaceX ของ Elon Musk ในปี 2002 ซึ่งขณะนั้นเขายังไม่เป็นที่รู้จักในฐานะ CEO ผู้ปลุกปั้นรถ EV แบรน์ Tesla เช่นทุกวันนี้
อีกคนที่สนใจตั้งบริษัทพาทัวร์อวกาศเช่นกันคือ Richard Branson ที่ตั้ง Virgin Galactic ขึ้นในปี 2004 นับจากนั้นทั้ง 3 บริษัทก็ดูกันอยู่ห่าง ๆ เดินหน้าพัฒนา ‘ยานพาทัวร์อวกาศ’ กันไปแบบเงียบ และเริ่มปรากฏเป็นข่าวบ้างประปราย
ทว่า SpaceX ก็แรงขึ้นมาจนแซงหน้าอีก 2 บริษัท เพราะคว้าสัญญาจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) และเป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่ทำได้จากภารกิจไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในปี 2012
ส่วน Blue Origin ได้สัญญากับ NASA เช่นกัน แต่ที่สุดก็ล่มไป ขณะที่ Virgin Galactic อาการหนักสุด มีนักบิน 1 คนเสียชีวิตระหว่างทดสอบบินในปี 2014
ถัดจากนั้นมา SpaceX ก็เป็นบริษัทอวกาศที่ดังสุดในโลก โดยปี 2018 Yazaku Maezawa มหาเศรษฐีญี่ปุ่นผู้ก่อตั้ง Zozotown แฟชั่น E-commerce เหมาซื้อ ‘ทัวร์ไปดวงจันทร์’ 6 วันล่วงหน้า มูลค่า 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,000 ล้านบาท) เพื่อพาศิลปินในแขนงต่าง ๆ อีก 8 คนไปด้วย
ต่อด้วยการถ่ายทอดสดการโชว์ศักยภาพของ SpaceX อีกครั้งร่วมกับ NASA ช่วงต้นสิงหาคมปี 2020 ที่ผ่านมา
ปี 2020 Blue Origin ก็ยังทดสอบเพื่อตั้งเป้าพาคนไปทัวร์อวกาศต่อไป ส่วน Virgin Galactic นอกจากไม่มีความคืบหน้าแล้วยังมีข่าวร้าย โดย Richard Branson ผู้ก่อตั้งต้องตัดใจขายหุ้น Virgin Galactic ที่ตนถือครองอยู่ออกไป 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,600 ล้านบาท)
เพื่อนำมาพยุงกิจการสายการบิน Virgin Atlantic ไม่ให้ล้มละลายจากพิษโควิด ตาม Virgin Australia ไป
ข้ามมาพฤษภาคมปีนี้การแข่งขันระหว่าง ‘3 ยักษ์’ คึกคักแบบไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มจาก Blue Origin โวยว่า NASA ลำเอียงเปลี่ยนไปเลือก SpaceX ให้ทำภารกิจ ทั้งที่ฝ่ายตนมาก่อน
แต่ไม่กี่วันถัดมา Blue Origin ก็เรียกเสียงฮือฮาด้วยการประกาศกำหนดวันประเดิมทริปทัวร์อวกาศกรกฎาคมนี้ และให้ผู้ที่อยากไปเที่ยวประมูลค่าตั๋วกันเข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์
ฝ่าย Virgin Galactic ที่ฟื้นจากวิกฤตโควิดแล้วก็เพิ่งทดสอบยานที่จะทัวร์อวกาศผ่านไปด้วยดีเป็นครั้งที่ 3 จนวานนี้ (24 พ.ค.) ดันหุ้นบริษัทขึ้นถึง 27%
จากนี้ต้องจับตาดูว่า SpaceX, Blue Origin หรือ Virgin Galactic จะประเดิมทัวร์อวกาศทริปแรกได้ก่อนกัน เพราะถ้าบริษัทไหนถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ก่อน อีก 2 บริษัทก็ต้องเร่งสุดตัวเพื่อตามให้ทันแน่นอน
การแข่งขันดังกล่าวจะทำให้ตลาดธุรกิจท่องอวกาศขยายตัวจนในปี 2029 มูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 94,000 ล้านบาท)
และตั๋วท่องอวกาศอาจลดลงมาอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.65 ล้านบาท) ถูกกว่าปัจจุบัน 1 ใน 4 หรือเท่ากับรถหรูสักคัน/cnn, bbc, wikipedia, cnbc, theguardian, yahoofinance
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



