สหรัฐฯ กับยุโรปกลับมาจับมือกันแน่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงของมหาอำนาจฝั่งเอเชีย โดย Katherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กับ Vladis Dombrovskis ประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าสหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบร่วมกันที่จะยุติมาตรการตอบโต้ทางภาษีระหว่าง Boeing กับ Airbus บริษัทผลิตเครื่องบินใหญ่ของแต่ละฝ่าย
การเห็นชอบดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง ‘ยักษ์การบิน’ สหรัฐฯ กับยุโรปยาวนาน 17 ปียุติลง หลังสหรัฐฯ ที่มี Joe Biden เป็นประธานาธิบดี เดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรป แล้วทิ้งความร้าวฉานในยุคของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ให้เป็นอดีต
การสงบศึกของ Boeing กับ Airbus จะทำให้การแข่งขันลดความรุนแรงลง และอาจมีการร่วมมือกันเพื่อสกัดความร้อนแรงของ COMAC บริษัทผลิตเครื่องบินที่รัฐบาลจีนหนุนหลัง ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2008 นี่เอง
ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า หาก Boeing กับ Airbus มัวตีกัน COMAC อาจขึ้นมาเป็นขั้วที่ 3 ในตลาดบริษัทผลิตเครื่องบินได้
เพราะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนกล่าวไว้ตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ ๆ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนว่า พร้อมทุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการบินจีนเต็มที่ เพื่อ COMAC ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากบริษัทต่างชาติ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวย้ำว่ากลุ่มมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำสามารถเยียวยาความสัมพันธ์กันได้ และเดินหน้าสกัดอิทธิพลของจีนแล้วอย่างจริงจัง-ต่อเนื่อง
เริ่มจากสหรัฐฯ ใช้การทูตวัคซีน บริจาควัคซีนกว่า 500 ล้านโดสให้ทั่วโลก และชาติสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติยุโรปร่วมบริจาคเพิ่ม
ถัดมาก็ประกาศตั้งโครงการซ่อมสร้างโลกให้ดีกว่าเก่า (Build Back Better for the World) มาชนกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีนโดยตรง ซึ่งจีนไม่พอใจอย่างมากและตอบโต้แทบจะทันทีที่ทราบข่าวด้วยการดูถูกว่า G7 เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเล็ก ๆ
จากนั้นองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กลุ่มความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงในยุโรปที่สหรัฐฯ เป็นสมาชิกสำคัญ ประกาศว่าจีนเป็นภัยคุกคาม
และล่าสุด คือการที่ Boeing กับ Airbus สงบศึกที่เคยบานปลายเป็นสงครามการค้า ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อสกัดอิทธิพลจีนนั่นเอง/cnn, bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



