ตลาด Food Delivery 2564 Grab คือแชมป์ที่ยังไม่ยอมหยุดนิ่ง (วิเคราะห์ตลาด)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการ Online Food Delivery มากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการผลักดันให้ตลาด Food Delivery เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor มูลค่าตลาด Food Delivery ปี 2563 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท ส่วนปี 2564 คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตขึ้นมาอยู่ 74,000 ล้านบาท และในปี 2567 ตลาดมีมูลค่า 99,000 ล้านบาท

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด “แกร็บ” แพลตฟอร์ม Food Delivery ยังคงยึดครองตำแหน่งผู้นำตลาดอย่างเหนียวแน่น ยืนยันด้วยผลสำรวจจากนิตยสาร Marketeer ร่วมกับ Marketing Movea Co.,Ltd. ที่ระบุชัดเจนว่า แกร็บ ยังคงครองตำแหน่ง No.1 Brand Thailand ในหมวดแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ด้วยคะแนน 53.9%

ด้วยปัจจัยภาวะแวดล้อมที่เกิดไม่แปลกที่ธุรกิจ Food Delivery จะเติบโต แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย แรงกดดันเรื่องการลดค่าธรรมเนียมจากรัฐบาล รวมถึงความไม่เข้าใจในโมเดลธุรกิจ Food Delivery ของผู้คนส่วนใหญ่ แกร็บฝ่าด่านเหล่านี้จนเป็นเบอร์หนึ่งมาได้อย่างไร

Marketeer Video conference พูดคุยกับ จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรธุรกิจ แกร็บ ประเทศไทย เพื่ออัปเดตธุรกิจและค้นหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว

จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรธุรกิจ แกร็บ ประเทศไทย

ย้ำ ตลาด Food Delivery ยังมีพื้นที่ให้โตอีก

อย่างที่เกริ่นว่า ปัจจุบันผู้คนเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเกือบจะ 100% ร้านอาหารถูกสั่งให้เปิดบริการแบบสั่งกลับบ้านเพื่อเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องหันมาพึ่งบริการ Delivery มากขึ้น

ส่วนร้านค้าเองจากร้านที่ไม่เคยมีบริการรับส่ง จากเมนูที่ไม่น่าจะ Delivery ได้ก็ปรับตัวกันหมด

สิ่งที่เราเห็นคือ การเปิดบริการ Delivery เองของร้านต่าง ๆ หรือการรุกของเหล่า Food Aggregator แพลตฟอร์มสั่งอาหารจากไรเดอร์หลากสี เมื่อทุกคนลงมาเล่นในเกม Delivery แล้วในอนาคตยังมีพื้นที่ให้ตลาดนี้เติบโตได้อย่างไร

“จากการคาดการณ์ของ Euromonitor ระบุชัดว่า ตลาด Food Delivery มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 10% และเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทย มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery เพียงแค่ 10% ของประชากรทั้งหมด เรายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

“แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายอย่างทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจ Business Model ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ส่วนทั้งผู้ใช้บริการ พาร์ตเนอร์คนขับ ร้านค้า กระทั่งภาครัฐ รวมถึงการสร้างความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ที่จะช่วยขยายธุรกิจและสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล”

ทำให้ที่ผ่านมาเราเห็นแกร็บมุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลให้กับ Ecosystem ทั้งการสร้างความเข้าใจเรื่อง Business Model ที่ถูกต้อง การเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ รวมถึงการสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Digital Literacy) ให้ผู้บริโภค ร้านค้า ไรเดอร์ และทุกฝ่ายที่อยู่ใน Ecosystem นี้

“การดำเนินธุรกิจ Food Delivery หลัก ๆ แล้วคือการสร้างดีมานด์ และการลดต้นทุนให้กับร้านค้า พาร์ตเนอร์ร้านค้าส่วนใหญ่เข้าใจรูปแบบธุรกิจ แต่หลายร้านที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำ Food Delivery เรื่องการมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรม Food Delivery ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ แกร็บเองได้พยายามสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่การเปิดตัวแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป สินเชื่อเงินสดสำหรับไรเดอร์และร้านค้า อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

หรือการพัฒนาทักษะและความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) ให้มากขึ้น เช่น GrabAcademy การอบรมและแชร์ความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ในการทำธุรกิจที่เปิดโอกาสให้พาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือผู้ที่สนใจ เข้าร่วมศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ และพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายได้อย่างยั่งยืน

“ใน GrabAcademy เรามีคอร์สภาษาอังกฤษ คอร์สสอนเรื่องการบริการที่ดี คอร์สเพิ่มศักยภาพให้กับร้านค้าบริหารร้านในแอปพลิเคชันอย่างไรให้ขายดี กระทั่งการให้ความรู้เรื่องการบริการการเงิน การออม เพื่อความมั่นคงในอาชีพให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ

“สำหรับเรื่อง การสร้างความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ถ้าเรามอบความรู้กับคนที่ยังไม่เก่งในด้านนี้ ให้เขาเข้าใจ เข้าถึง และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น เขาจะสามารถดำเนินธุรกิจและหารายได้บนแพลตฟอร์มเราได้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แกร็บให้ความสำคัญ”

4 จุดแข็งที่ยังชนะใจผู้บริโภคเสมอ

เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภค ‘เลือก’ แกร็บเสมอ คุณจันต์สุดายืนยันถึง 4 กุญแจสำคัญที่ยังคงสามารถกุมหัวใจผู้บริโภคได้ดีเช่นเดิม คือ

  • Wide Selection มีร้านอาหารและเมนูที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม แกร็บยังคงมุ่งมั่นในการเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาแกร็บจับมือกับ MICHELIN Guide รวมร้านเด็ดระดับรางวัลมิชลินมาไว้บนแพลตฟอร์ม หรือ Grab Thumbs Up รวมร้านเด็ดอินเทรนด์มากกว่า 5,000 ร้านค้า ตรงนี้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบและให้ความสำคัญกับความหลากหลายของร้านอาหารเป็นหลัก
  • Best Deal ที่มีทั้งเรื่อง Price and Promotions รวมถึงการจัดแคมเปญสร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
  • Reliability ความเชื่อมั่น สั่งแกร็บแล้วมีคนขับรับแน่นอน จุดแข็งของการมีธุรกิจบริการที่หลากหลายทำใหแกร็บมีแต้มต่อเรื่องจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับที่มากที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้บริการมั่นใจที่จะเลือกแกร็บ
  • Service คุณภาพของสินค้าและบริการ นอกจากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าหลังใช้บริการแล้ว การอบรมให้ความรู้เรื่องงานบริการผ่าน Grab Academy เป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

“แกร็บยังคงขยายบริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับร้าน Quick Service Restaurant หรือ Chain ใหญ่ ๆ ตอนนี้มีครบเกือบทุกแบรนด์ เราจึงเน้นร้านอาหารเล็ก ๆ (Long tail Restaurant) มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนร้านค้าคนไทยที่ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร เช่น ผักผลไม้จากเกษตรกร หรือร้านค้าต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ปัจจุบันเราให้บริการในพื้นที่กว่า 50 หัวเมือง สร้างโอกาสร้านค้าเล็ก ๆ โตไปกับเราด้วยเช่นกัน”

สิ่งที่หลายคนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดใน Business Model ของ Food Delivery หลัก ๆ คือเรื่อง “ค่าคอมมิชชั่น” ที่ส่วนใหญ่จะคิดว่านี่คือรายได้เข้ากระเป๋าแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ

แท้จริงแล้วรายได้ส่วนนี้คือ “ค่าใช้จ่าย” ที่ส่วนใหญ่ไปที่คนขับหรือไรเดอร์ (ทำให้ส่วนใหญ่เราเห็นโปรโมชั่นการสั่งแบบ Self Pick-Up จะมีราคาที่ถูกกว่าแบบ Delivery เพราะตัดค่าคอมมิชชั่นตรงนี้ออกไป) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้แพลตฟอร์ม Food Delivery แบรนด์ต่าง ๆ ยังไม่คืนทุน หรือยังขาดทุนอยู่นั่นเอง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online